วันอาทิตย์ที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2555

โฉมหน้าศักดินาไทย ตอนที่ 2 Feudalism 02


ฟัง : อัดเสียงใหม่ เมื่อ 3 ก.พ. 2557
http://youtu.be/6ERzKF4jYNs
https://www.mediafire.com/?08s904edp10yn86
http://www.4shared.com/mp3/sgiVybIuce/Siamese_Feudalism_Part_2__.html

..........................
วัดและมิสซัง...เจ้าที่ดินใหญ่
 
วงการที่ได้รับส่วนแบ่งที่ดินมากที่สุดอีกวงการหนึ่งก็คือ วงการศาสนา วัดวาอารามที่มีอยู่ทั่วประเทศ โดยได้รับพระราชทานที่ดินเป็นวิสุงคามสีมา ที่ตั้งโบสถ์และที่ประกอบสังฆกรรม รวมทั้งที่ดินโดยรอบวัดเป็นที่สำหรับเก็บผลประโยชน์บำรุงเลี้ยงวัดและพระสงฆ์จากพระอัยการตำแหน่งนา พระสงฆ์และนักบวชไม่ได้รับที่ดินมาครอบครองเป็นรายตัว เพียงแต่ได้รับผลประโยชน์เท่ากับที่พวกขุนนางได้รับจากจำนวนที่ดินจึงใช้คำว่า เสมอนา เช่น พระครูรู้ธรรมเสมอนา 2,400 ไร่ ผลประโยชน์นี้เรียกกันว่านิตยภัต คือข้าวปลาอาหารที่ถวายสม่ำเสมอ ได้มาจากผลประโยชน์บนที่ดินที่ประทานให้แก่วัด พระสงฆ์และนักบวชทั้งหลายในวัดจึงถือผลประโยชน์บนที่ดินนั้นร่วมกัน และได้รับส่วนแบ่งมากน้อยตามขนาดของศักดินาที่ทางราชสำนักเทียบให้ การยกที่ิดินให้เป็นสมบัติของวัดเป็นเรื่องธรรมดา ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ที่ขึ้นชื่อมากคือ ในฝรั่งเศสยุคโบราณที่พระหรือวัดครอบคองที่ดินผืนมหึมาที่เก็บจากประชาชนที่อาศัยเช่าที่ธรณีสงฆ์ร้อยละ 10 ในอังกฤษ ก็มีธรณีสงฆ์จำนวนมหาศาล

กษัตริย์ฝรั่งเศสและอังกฤษต้องทะเลาะเบาะแว้งกับวัดและสังฆราชไม่ได้หยุดหย่อน เรื่องผลประโยชน์เกี่ยวกับที่ดิน เช่น พระเจ้าเฮนรี่ที่ 8 ( Henry VIII ) ของอังกฤษ ทะเลาะกับสันตะปาปาแห่งวาติกันผู้เป็นกษัตริย์แห่งพระนิกายโรมันคาทอลิค สมัยต้นคริสต์ศตวรรษที่ 16 เจ้าประกาศปลดพระ พระประกาศปลดเจ้า ว่ากันให้วุ่น ประวัติศาสตร์บันทึกว่า เขาทะเลาะกันเรื่องโ๊ป๊ป ไม่ยอมให้ กษัตริย์ เฮนรี่ ที่ 8 หย่ามเหสีเก่า คือ แคทเทอรีน ( Katherine of Aragon )ไปแต่งเมียใหม่ แต่สาเหตุแท้จริงคือความขัดแย้งทางผลประโยชน์เหนือที่ดิน เฮนรี่ที่ 8 หาเรื่องเพื่อจะยึดที่ดินของวัดที่มีจำนวนมหาศาลพร้อมด้วยทรัพย์สินบนที่ดินให้กลับคืนมาเป็นของตนเท่านั้นเอง แล้วที่โป๊ปถึงกับประกาศอัปเปหิพระเจ้าเฮนรี่ที่ 8 ก็เพราะสูญเสียผลประโยชน์มหาศาลนั่นเอง
ธรรมเนียมการถวายที่ดินและเลกไพร่ให้แก่วัดนี้ เป็นธรรมเนียมที่สืบเนื่องจากสมัยทาส ในสมัยนั้นพวกกษัตริย์ทั้งหลายจะถวายทั้งที่ดินและทาสไว้แก่วัดเป็นจำนวนมากมายแทบทุกองค์ ในเมืองเขมรกษัตริย์แทบทุกองค์ก็ได้ถวายทาสหรือ ข้าพระ ไว้สำหรับทำไร่ไถนาเอาข้าวปลามาถวายวัด คอยดูแลปัดกวาดและร้องรำทำเพลงประโคมกันตลอดวันตลอดคืน ส่วนมากก็ให้เลี้ยงหมู เลี้ยงวัว เลี้ยงควาย ช้าง ม้า สำหรับฆ่าแล้วปรุงเป็นอาหารถวายพระ หรือเพื่อใช้เป็นพาหนะ
พวกกษัตริย์เขมรสมัยนครธม ( Angkor Thom เรียกว่า สมัยพระนครหลวง Great City พ.ศ. 1445 - 1975 ) เที่ยวตระเวนไปยกที่ดินยกทาสให้วัดต่างๆ จนทั่วอาณาจักร ที่ศาลพระกาฬลพบุรีก็เคยเป็นวัดที่มีที่ดินมีทาสรับใช้มาก่อน ในเมืองเขมรมีธรรมเนียมแข่งขันกันอุทิศที่ดินและทาสให้แก่วัดจำนวนมากๆ แล้วจารึกไว้ยืดยาวลงชื่อพวกทาสที่อุทิศให้ไว้ด้วยครบทุกคน บัญชีชื่อพวกทาสจึงยาวเป็นแถว
เช่น การทำพิธีกัลปนา ของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 Jaya varman VII พ.ศ. 1724 - หลัง 1744 ที่สร้างวัดมากมาย นับยอดปรางค์ที่สร้างไว้ทั้งหมดได้ถึง 514 ยอด ได้ทรงยกผลประโยชน์ทั้งมวล อันเกิดแต่หมู่บ้าน 8,176 หมู่บ้านที่อยู่รอบบริเวณวัดให้เป็นผลประโยชน์ของวัด พร้อมทั้งถวายทาสให้เป็นข้าพระ เพื่อดูแลวัดและทำการผลิต เพื่อนำผลประโยชน์มาบำรุงพระ จำนวนทาส 208,532 คน เป็นพวกนักฟ้อนรำบำเรอพระ และรูปปฏิมารวมอยู่ด้วย 1,622 คน
เป็นตัวเลขจากศิลาจารึกในเทวสถานพระขันเหนือเมืองนครธมเรียกว่า พระกัลปนา เป็นการยกทาสถวายวัด จึงได้เรียกว่า ข้าพระ คือทาสรับใช้พระ มาถึงสมัยศักดินาจึงเปลี่ยนจากทาสมาเป็นเลก เรียกว่าเลกวัดสมัยพระเพทราชา เมื่อปี พ.ศ. 2242 มีการยกที่ดินและผลประโยชน์ให้แก่วัดในเขตเมืองพัทลุง และเมืองขึ้นของพัทลุง จำนวน 290 วัด รวมทั้งไพร่ที่อยู่ในบริเวณนั้นและพวกชาวเหนือที่อพยพกวาดต้อนลงไปไว้ทางปักษ์ใต้ เรียกว่าเลกวัด หรือ ข้าพระ หรือโยมสงฆ์ หรือเรียกควบว่า ข้าพระโยมสงฆ์ คนพวกนี้ไม่ต้องเสียภาษีอากร เพราะผลประโยชน์ที่ได้ ใช้บำรุงวัดทั้งหมด
ที่ขึ้นชื่อมากคือที่พระพุทธบาทสระบุรี สมัยพระเจ้าทรงธรรม ( พ.ศ. 2163 - 2171 ) ครั้งนั้นตาพรานบุญผู้มีบุญได้พบรอยพระพุทธบาท พระเจ้าทรงธรรมได้สร้างวัดสร้างมณฑปครอบพระพุทธบาท แล้วจึง ทรงพระราชอุทิศที่ดิน 1 โยชน์ ( คือ 16 กิโลเมตร ) รอบพระพุทธบาทถวายเป็นพุทธบูชา ทั้งกัลปนาผลก็ถวายไว้สำหรับใช้จ่ายในการรักษามหาเจดีย์พระพุทธบาท และโปรดให้ชายฉกรรจ์ที่มีภูมิลำเนาในเขตที่ทรงอุทิศนั้นพ้นจากราชการอื่น จัดเป็นพวกขุนโขลนเข้าปฏิบัติรักษาพระพุทธบาทอย่างเดียว เรียกโดยทั่วไปว่าเมืองพระพุทธบาท
 
พวกขุนโขลน ก็คือพวกข้าพระ หรือ เลกของพระพุทธบาท นับเฉพาะคนฉกรรจ์มีถึง 600 ครัว เมื่อ พ.ศ. 2327 ต้องทำนาเอาข้าวถวายพระและเสียภาษีอากรให้แก่วัด ทั้งอากรค่านา ที่อ้อย อากรยาง อากรไม้ อากรหวาย อากรตลาด อากรหาบเร่เชื่อว่ามีการการกัลปนาคือยกที่ดินและคนให้เป็นสมบัติและผลประโยชน์ของวัดแทบทุกรัชกาล ตั้งแต่สมัยแรกตั้งกรุงศรีอยุธยา ในกฏหมายลักษณะอาญาหลวงในสมัยพระเจ้าอู่ทองรามาธิบดีที่ 1 กษัตริย์องค์แรกของอยุธยา ที่ห้ามซื้อขายที่ดินและผู้คนในกัลปนา
ในสมัยพระนารายณ์มหาราชเคยยกที่ดินในวังลพบุรีให้เป็นกัลปนาวัด เพื่อบวชข้าราชการที่จะถูกพระเพทราชาสั่งประหารเมื่อพระองค์สวรรคต ต่อมารัชกาลที่ 4 อยากได้วังคืน ก็ต้องหาที่ดินมาแลกเปลี่ยนที่วิสุงคามสีมาเมืองลพบุรี พ.ศ. 2405 ที่นาซึ่งรัชกาลที่ 4 ซื้อถวายกัลปนาแลกเปลี่ยนเอาวังคืนมานั้น พระสงฆ์ผู้ครอบครองก็ให้ประชาชนเช่าทำนาเก็บผลประโยชน์เป็นรายปี คือ กษัตริย์ยกที่ดินของวัดเป็นอิสระจากอำนาจของกษัตริย์โดยสิ้นเชิง โดยไม่มีการเก็บภาษีใดๆอีกการถวายที่ดินให้วัดอีกอย่างหนึ่งเป็นการถวายแบบธรรมดา คือวัดเก็บค่าเช่าแต่อย่างเดียว ฝ่ายกษัตริย์เก็บค่านา ผู้เช่าจึงเสียค่าเช่าให้วัดและเสียค่านาให้หลวง
ผลประโยชน์จากที่ดิน จะแบ่งออกเป็นสามส่วน ส่วนหนึ่งใช้บำรุงพระพุทธ คือใช้เพื่อซื้อดอกไม้ธูปเทียน น้ำมันสำหรับบูชาพระ ซ่อมแซมพระและโบสถ์ แต่ส่วนนี้ไม่ค่อยได้ใช้เท่าใดนัก ส่วนที่สองใช้บำรุงพระธรรมคือสร้างคัมภีร์พระไตรปิฎก อรรถกถาฎีกา ทำตู้พระธรรม ฯลฯ ส่วนที่สามใช้บำรุงพระสงฆ์ไปตามลำดับยศศักดิ์ ในพระอัยการตำแหน่งนาพลเรือนกำหนดตำแหน่งศักดินานักบวช ตั้งแต่นา 2,400 ลงมาถึงนา 100 โดยใช้คำว่า เสมอนา เพราะกษัตริย์จ่ายให้วัดเป็นผู้หาผลประโยชน์แล้วแบ่งปันกันในหมู่พระสงฆ์ตามลำดับศักดิ์อีกทีหนึ่ง 


วัด
วัดในพุทธศาสนาโดยมากจึงกลายสภาพเป็นเจ้าที่ดินใหญ่ ปี 2550 มีราว 26,500 วัดทั่วประเทศ มีพระราว 290,000 รูป มีเณรราว 70,000 รูป เฉพาะเมื่อพ.ศ. 2479 ได้มีการพระราชทานวิสุงคามสีมาครั้งหนึ่งจำนวน 195 วัด เนื้อที่ของวิสุงคามสีมาที่พระราชทานทั้งสิ้น ประมาณ 67,637 ไร่เศษ วัดทั่วประเทศจึงมีที่ดินในครอบครองสำหรับแสวงหาผลประโยชน์จำนวนมากมายมหาศาล
นอกจากวัดในพระพุทธศาสนาแล้ว วัดในคริสต์ศาสนา ของพวกบาทหลวงฝรั่งเศสก็ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ซื้อหาที่ดินได้ เพื่อทำการเพาะปลูกแสวงหาผลประโยชน์เป็นทุนในการเผยแพร่ศาสนา ตามข้อตกลงระหว่างรัฐบาลศักดินาไทยกับรัฐบาลจักรวรรดินิยมฝรั่งเศสในหนังสือสัญญาทางพระราชไมตรีทางการค้าขายและการเดินเรือ พ.ศ. 2399 ( ในรัชกาลที่ 4 ) ที่ดินที่อนุญาตให้พวกวัดฝรั่งเศสหรือมิสซังแสวงหาผลประโยชน์ กำหนดให้ไม่เกินเมืองละสามพันไร่ โดยไม่คิดเนื้อที่ที่ใช้ตั้งวัด แต่มีข้อยกเว้น เช่นเมืองชลบุรีให้เพิ่มเนื้อที่เป็น 14,000 ไร่ เมืองราชบุรีเป็น 13,000 ไร่ เมืองฉะเชิงเทรา 9,000 ไร่ ที่ดินของวัดบาทหลวงฝรั่งเศสในวันที่ออกพระราชบัญญัติมิสซัง 2399 ในมณฑลกรุงเทพฯ ปราจีนบุรี นครไชยศรี อยุธยา ราชบุรี นครสวรรค์และจันทบุรี รวม 40,670 ไร่

ไพร่ -
กับการถือกรรมสิทธิ์ที่ดิน
 
ในสมัยพระบรมไตรโลกนาถ เมื่อมีการแจกจ่ายที่ดินกันครั้งใหญ่ พวกไพร่โดยปกติได้รับที่นาเพียงคนละ 5 ไร่เท่านั้น เพราะส่วนมากเป็นทาสที่เพิ่งได้หลุดพ้นมาเป็นไท ยังตั้งตัวกันไม่ได้ เป็นพวกที่ยากจนข้นแค้นอยู่ในเกณฑ์ยาจก วนิพก ทาส และลูกทาส
ส่วนพวกไพร่ที่รับใช้งานเจ้านายเป็นไพร่เลว จะได้รับส่วนแบ่งนาคนละ 10 ไร่ถัดมาเป็นไพร่ราบ คือไพร่ชั้นสูง ไม่ต้องพึ่งพาใครอยู่ ได้คนละ 15 ไร่อัตราเหนือขึ้นไป คือ 20 ไร่ สำหรับ ไพร่มีครัว ที่
คุมครอบครัวมาจากที่อื่นอัตรา 25 ไร่ 

สำหรับไพร่หัวงานที่เป็นหัวหน้างาน ของแต่ละย่าน ประชาชนส่วนใหญ่ที่ได้รับส่วนแบ่งคนละ 5 ไร่ เป็นเพียงกรรมสิทธิ์ในการทำผลประโยชน์ โดยต้องเป็นคนภายในสังกัด ใต้บังคับบัญชาของเจ้าขุนมูลนายเจ้าของเขตพื้นที่ ถูกสักหมายเลขบนข้อมือ หริอบนท้องแขน แล้วต้องไปทำงานรับใช้เจ้านาย จนตลอดชีวิตทุกคน จะหนีก็ไม่มีทางหนีเพราะน้ำหมึกดำติดอยู่ลบไม่ออก

หาเวลาทำนาตัวเองยากเต็มที ที่ดินแค่ 5 ไร่ก็ไม่พอกิน จะซื้อที่ดินเพิ่มก็ไม่มีเงิน ถึงมีเงินกฏหมายก็ห้ามซื้อขายที่ดินนอกเมืองหลวง และอนุญาตให้เขามีที่ดินเพื่อทำผลประโยชน์ได้เพียง 5 ไร่ เท่านั้น เมื่อไม่พอกินก็ต้องกู้เงินดอกเบี้ยร้อยละ 37.50 ต่อปี ( คิดดอกเบี้ย 1 เฟื้อง หรือครึ่งสลึงต่อ 1 ตำลึง หรือ 4 บาท ในเวลา 1 เดือนหรือ 1/32 =3.125% ต่อเดือน) ไม่ก็ ขายฝาก (ซึ่งกฏหมายอนุญาต) พอหมดหนทางชำระหนี้ เจ้าหนี้ก็ยึดที่ดินซึ่งกฏหมายให้ยึดได้ ที่ดินก็หลุดมือไป บางคนที่ดินหลุดมือไปแล้วก็ยังเป็นหนี้ ก็ต้อง ตีค่าตัวขายเป็นทาส ถูกพวกนายเงินใช้ให้ทำงานเรื่อยไปพวกทาสของเจ้าขุนมูลนายที่พระบรมไตรโลกนาถแบ่งที่ดินให้คนละ 5 ไร่ ก็ยัง ติดค่าตัวอยู่กับเจ้าขุนมูลนาย ตัวมีนาก็มีไป ส่วนที่เป็นทาสก็เป็นไป เมื่อมีสตางค์มาไถ่ตัวหลุดเป็นไทเมื่อใดจึงจะไปทำนาของตัวเองได้โดยต้องเป็นเลกไพร่ของผู้ครอบครองเหนือผืนดินบริเวณนั้นอีกชั้นหนึ่ง ส่วนมากพวกทาสที่พยายามดิ้นรนเป็นไท ลงท้ายก็ต้องล้มละลายขายตัวกลับเป็นทาส หรือไม่ก็เอาลูกเมียขายเป็นทาสกันแทบทั้งนั้น

การขูดรีดของชนชั้นศักดินา
มีอยู่หลายแบบหลายวิธี หลายประเภท ดังนี้

1) ค่าเช่า เก็บประมาณ 30 เปอร์เซนต์ของผลผลิต พระราชบัญญัติควบคุมค่าเช่านา พ.ศ. 2493 ได้กำหนดอัตราค่าเช่านาข้าวเปลือกปี ไร่ละ 40 ถังขึ้นไป เก็บไม่เกินไร่ละ 10 ถัง แม้จะย่างเข้ายุคทุนนิยมแล้วด้วยซ้ำ แต่อัตราค่าเช่านาที่แพร่หลายที่สุดคือ50 เปอร์เซนต์ของผลผลิตที่ได้ หรือ ทำนาแบ่งครึ่ง ซึ่งใช้กันทั่วไปในประเทศศักดินาหลายประเทศ เช่นประเทศจีนก่อนสมัยการปลดแอก ค่าเช่านาเป็นรายได้สำคัญของชนชั้นศักดินา เพราะชนชั้นศักดินาได้ยึดครองที่นาดีๆไว้ในมือของตนแล้วแทบทั้งสิ้น โดยฌฉพาะในภาคกลาง บริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อชนชั้นศักดินาได้ขุดคลองส่งน้ำแล้ว ก็มักกว้านซื้อจับจองที่ดินไว้ในมือแทบทั้งหมด

จากการสำรวจโดย ดร. แสวง กุลทองคำ อดีตปลัดกระทรวงเกษตร พบว่าในท้องทุ่งรังสิตที่นาส่วนมากกสิกรต้องเช่าเขาทำ เสียค่าเช่าทุกไร่ ไม่ว่าจะทำหรือไม่ทำ ที่ปทุมธานีมีชาวนาต้องเช่าที่ทำนาร้อยละ 72.5 ส่วนมากไม่มีที่ดินของตนเองเลยแม้แต่ไร่เดียว กฏหมายในสมัยศักดินายังให้กุมตัวผู้เช่าที่ไม่จ่ายค่าเช่าตามกำหนดมาปรับให้เสียค่าเช่า 2 เท่า ให้ยกค่าเช่าแท้ๆ ให้เจ้าของที่ดิน ส่วนที่เหลือรัฐบาลยึดไว้ครึ่งหนึ่งเป็นค่าธรรมเนียม (เรียกว่าเงินพินัย) อีกครึ่งหนึ่งเป็นค่าปรับ ( เรียกว่าสินไหม ) ยกให้แก่เจ้าของที่ดินการชำระค่าเช่านาปกติจะยกไปชำระกันปลายปี แต่ถ้าเจ้าของที่นาเห็นว่าผู้เช่าทำท่าจะทำนาไม่ได้ผล เจ้าของที่นาก็มีสิทธิ์จะยกที่ดินผืนนั้นให้คนอื่นเช่าซ้อนทับลงไปได้ทันที เจ้าของนาจะทำเช่นนั้นไม่ได้ก็ต่อเมื่อผู้เช่าได้ชำระเงินล่วงหน้าแล้วเท่านั้น

2) ดอกเบี้ย การที่ชาวนาต้องถูกขูดรีดอย่างหนัก ทำให้แทบทุกครัวเรือนต้องกู้หนี้ยืมสิน อัตราดอกเบี้ยในสมัยศักดินาที่ใช้มาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ก่อนรัชกาลที่ 5 ตามกฏหมายลักษณะกู้หนี้มีอัตรา 1 เฟื้อง ต่อ 1 ตำลึงในระยะเวลา 1 เดือนคือกู้เงิน 4 บาท ต้องเสียดอกเบี้ย 12.5 สตางค์ต่อเดือน คิดเป็นร้อยละ 37.50 ต่อปี
 
ลาลูแบร์  (Simon de la Loubère) บันทึกไว้ว่า ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ไม่มีกฏหมายห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา และพวกนายเงินก็พากันเรียกดอกเบี้ยสูงอย่างไม่มีจำกัด กฎหมายห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินได้ตราขึ้นภายหลังแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ แต่มิได้ถือปฏิบัติจริง สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เจ้าหนี้ก็ยังเรียกเอาอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าที่กำหนดตามกฏหมาย ทำให้ลูกหนี้ตกอยู่ในภาวะดอกเบี้ยทบต้นไม่สามารถชำระได้ และต้องยอมตัวลงเป็นทาสสมัยรัชกาลที่ 5 ขึ้นเสวยราชย์ได้ออกกฏหมายเพื่อแสดงความปรารถนาจะช่วยลูกหนี้ทาส เมื่อ พ.ศ.2411 ช่วยลูกหนี้ทาสโดยให้ชำระเพียงเงินต้น ดอกเบี้ยไม่ต้องชำระต่อไป แต่ดอกเบี้ยเก่าที่เคยค้างชำระต้องชำระด้วย ถ้าหากลูกหนี้ทาสไม่มีเงินชำระดอกเบี้ยที่ค้างเก่า ให้นายเงินเฆี่ยนลูกหนี้แทนดอกเบี้ยในอัตรา 3 ที ต่อ 1 ตำลึง ซึ่งเป็นลักษณะโทษทางอาญาโดยตรงรัชกาลที่ 4 ได้ประกาศลดดอกเบี้ยลงเหลือร้อยละ 15 ต่อปีและได้ลดลงมาเรื่อยๆ

โรแบร์ แลงกาต์ Robert Lingat
ในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นชั่งละบาท คือกู้ 80 บาทเสียดอกเบี้ย 1 บาท แต่พวกนายเงินก็มักโกงขึ้นเป็นชั่งละ 5 บาทอยู่เสมอ (ตามเอกสารของ โรแบร์ แลงกาต์ Robert Lingat นักกฎหมายฝรั่งเศส) ดอกเบี้ยเป็นเครื่องมือของเจ้าที่ดินที่ใช้อ้างเพื่อยึดทรัพย์และที่ดินรวมทั้งลูกเมียของไพร่ไปเป็นของตน และต้องขายตัวเป็นทาสเพื่อใช้หนี้ภาษีอากรภาษีอากรของศักดินาไทย มี 4 ประเภท คือ :


1)
ส่วย คือ เงินหรือสิ่งของที่รัฐบาลศักดินาบังคับเก็บกินเปล่าจากประชาชน มี 4 ประเภท คือ
ก. เครื่องราชบรรณาการ คือส่วยที่พวกเจ้าประเทศราชผู้ครองแคว้น ต้องส่งมาถวายเป็นประจำ ปีละครั้งหรือสามปีครั้ง มักมีสิ่งของพื้นเมืองที่หายาก เช่น ประเทศญวนมีแพรอย่างดี ประเทศลาวมีของป่าหายาก แต่สิ่งสำคัญคือต้นไม้เงินต้นไม้ทองอย่างละต้น เพื่อบูชาพระบรมโพธิสมภารของพระเจ้าแผ่นดินใหญ่ในกรุง เป็นการขูดรีดชนชั้นศักดินาด้วยกัน ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานของการขูดรีดประชาชนอีกทอดหนึ่ง
ข. พัทธยา คือ การริบเอาทรัพย์สินเข้าเป็นของกษัตริย์ ลาลูแบร์บันทึกไว้ว่า ในสมัยพระนารายณ์ มีการริบเอาส่วนแบ่งมรดกของผู้ตาย ที่เห็นว่ามีเกินศักดิ์ของทายาท เรียกว่าต้องพัทธยา ที่แปลว่า การฆ่า การประหาร ทรัพย์สินพัทธยายังรวมถึงทรัพย์สินที่ริบมาจากผู้ที่ต้องโทษประหาร กฏหมายเก่าๆตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ขึ้นไปมีการบัญญัติโทษ ฟันคอ ริบเรือน ริบราชบาตร คือ ผู้ต้องพัทธยา เมื่อคอหลุดจากบ่าแล้ว บ้านช่องเรือกสวนไร่นาก็ต้องถูกริบเข้าเป็นของพัทธยา โอนเป็นของหลวง การริบราชบาตรหมายถึง ริบหมดทั้งลูกเมีย บ่าวไพร่ผู้คน เอาเข้าบัญชีเป็นคนของกษัตริย์ทั้งสิ้น เหมือนโจรปล้นทรัพย์ที่ใช้กฏหมายของตนเป็นเครื่องมือเท่านั้นเอง
โทษฟันคอ ริบเรือน หรือ ริบราชบาตร เป็นโทษที่นิยมใช้กันทั่วไป เกือบทุกมาตราในกฎหมายอาญาหลวงบางมาตราก็ไม่มีเหตุผล เช่น อาญาหลวง พ.ศ.1895 สมัยรัชกาลที่ 1 ชำระมาตรา 1 บัญญัติว่า ผู้ใดใจโลภนักมักทำใจใหญ่ใฝ่สูงให้เกินศักดิ์กระทำให้ล้นพ้นล้ำเหลือบรรดาศักดิ์อันท่านให้แก่ตน แลมิจำพระราชนิยมพระเจ้าอยู่หัว (คือไม่ระวังว่าพระเจ้าอยู่หัวทรงชอบอย่างไหน) และถ้อยคำมิควรเจรจาเอามาเจรจาเข้าในระหว่างราชาศัพท์ ( คือใช้คำราชาศัพท์ผิดเอาคำไพร่มาใช้ปน ) แลสิ่งของมิควรประดับเอามาทำเป็นเครื่องประดับตน ( คือแต่งตัวเสมอเจ้า) ท่านว่าผู้นั้นทะนงองอาจ
ท่านให้ลงโทษ 8 สถาน สถานหนึ่งให้ฟันคอริบเรือนหนึ่ง สถานหนึ่งให้เอามะพร้าวห้าวยัดปากหนึ่ง สถานหนึ่งให้ริบราชบาตร แล้วเอาตัวลงหญ้าช้างหนึ่ง(ให้ไปเลี้ยงช้าง) สถานหนึ่งให้ไหม (ปรับ) จตุรคูณ(สี่เท่า)แล้วเอาตัวออกจากราชการหนึ่ง สถานหนึ่งให้ไหมทวีคูณหนึ่ง(สองเท่า) สถานหนึ่งให้ทวนด้วยลวดหนัง 50 ที 25 ที ใส่ตรุ (คุก)ไว้หนึ่ง สถานหนึ่งให้จำไว้แล้วถอดเสียเป็นไพร่หนึ่ง สถานหนึ่งให้ภาคทัณฑ์ไว้หนึ่ง รวม 8 สถานฯ การยกทัพไปปล้นสะดมทรัพย์สินและกวาดต้อนผู้คนของศัตรู ก็ถือเป็นพัทธยา คือเป็นของที่ได้เปล่าจากการฆ่าฟันทั้งสิ้น

ตัวอย่างของผู้ต้องพัทธยา คือ โทษฟันคอริบเรือนและลูกเมียข้าคน ก็คือ ขุนไกรพลพ่าย พ่อของขุนแผน ในวรรณคดีอิงเรื่องจริงของไทย ครั้งนั้นขุนไกรฯ ต้องออกไปเป็นแม่กองต้อนควายเข้าโขลงหลวง ควายตื่นไล่ขวิดผคู้น ขุนไกรเห็นว่าชีวิตคนสำคัญกว่าควาย จึงเข้าสกัดใช้หอกแทงควายตายลงหลายตัว ควายเลยตื่นหนีเข้าป่าไปสิ้น ข้างสมเด็จพระพันวัสสา ทรงกริ้วเสียดายควายมากกว่าคน เลยพาลพาโลสั่งพวกข้าหลวงว่า :เหวยเหวยเร่งเร็วเพชฌฆาต ฟันหัวให้ขาดไม่เลี้ยงได้เสียบใส่ขาหยั่งขึ้นถ่างไว้ ริบสมบัติข้าไทอย่าได้ช้าขุนไกรจึงต้องโดนประหารคอหลุดจากบ่า ลูกเมียเดือดร้อนกระจองอแง นางทองประศรีเมียขุนไกรนั้นนอกจากจะเสียผัวรักแล้ว ยังจะถูกเขาริบเอาฉิบหาย อีกทอดหนึ่ง
ค. เกณฑ์เฉลี่ย คือ การเกณฑ์เงิน เกณฑ์แรงงาน ช่วยกิจการของกษัตริย์ เป็นครั้งคราว เช่น กษัตริย์ชอบถวายน้ำมันมะพร้าวให้แก่วัดวาอาราม สำหรับ ตามประทีปบูชาพระ ก็จะออกหมายเกณฑ์เฉลี่ยเอามะพร้าวหรือน้ำมันมะพร้าวจากเจ้าของสวน หรือ ถ้าจะเลี้ยงแขกเมืองก็เกณฑ์เฉลี่ยให้ประชาชนช่วยเงินทองข้าวของตามแต่จะ กำหนด บางทีก็เกณฑ์แรงเพื่อสร้างป้อมปราการกำแพงวังหรือเกณฑ์ไพร่ไปล้อมช้าง (จับ ช้าง) เป็นต้น การเกณฑ์เช่นนี้ไม่มีกำหนดตายตัว ขึ้นอยู่กับความต้องการของกษัตริย์เป็นครั้งคราว คือ ถ้ากษัตริย์จะต้องอะไรหรือจะทำอะไร ก็จะหันมาเกณฑ์ให้ประชาชนช่วยออกเงิน และออกแรงเฉลี่ยทุกครั้งไป
ง. ส่วยแทนแรง คือเงินหรือสิ่งของที่กษัตริย์เรียกเก็บเอาจากประชาชนทั่วไปที่ไม่ไปใช้แรงช่วยงานเกณฑ์ของรัฐบาลศักดินา เพราะในยุคศักดินาถือว่าผู้ชายที่ร่างกายครบ 32 ทุกคนเป็นชายฉกรรจ์ต้องถูกเกณฑ์ให้เข้ารับราชการ คือออกแรงทำงานรับใช้ชนชั้นศักดินา อาจเป็นงานไถนา ดำนา โยธา ฯลฯ มีกำหนดปีละ 6 เดือนเรียกว่า เข้าเวร ตั้งแต่อายุ 18 ถึง 60 ปี บริบูรณ์ โดยคัดเกณฑ์คนให้พอจำนวนที่ต้องการ (เหมือนเกณฑ์ทหาร)
พวกที่เหลือไม่ต้องการใช้แรง ก็ได้รับอนุญาตให้ไปทำมาหากิน แต่ต้องส่งเงินมาให้หลวงใช้ หรือคนที่ถูกเกณฑ์ แต่ไม่ชอบรับใช้เจ้านาย ก็อาจจะส่งเงินให้หลวง เพื่อหาจ้างคนอื่นไปเข้าเกณฑ์แทนตนก็ได้ ซึ่งต้องส่งไปจนถึงอายุ 60 ปี เงินนี้เรียกว่าส่วยแทนแรง สมัยพระนารายณ์กำหนดปีละ 12 บาท เพื่อว่าจ้างคนมาทำงานแทน โดยให้ค่าแรงเดือนละบาท 6 เดือน 6 บาท และให้เบี้ยเลี้ยงอีกเดือนละบาท รวมทั้งสิ้น 12 บาท ที่จริงแล้วก็ไม่ได้จ้างใคร เป็นแค่ข้ออ้างเพื่อเก็บเงินเข้าพระคลังมหาสมบัติเท่านั้นเอง อัตราจ้างคนรับราชการแทน หรือเสียเงินเป็นส่วยแทนแรง ปรากฏในพระราชกำหนดเก่า พ.ศ. 2291 (ปลายอยุธยา) บางทีคิด 3 บาท บางทีก็ 4 บาทต่อเดือน (ปีละ 18-24 บาท) ถ้าหากถูกเกณฑ์ไปล้อมช้าง จับสลัด จับผู้ร้าย คนที่ไม่ไป ต้องเสียเงินในอัตรา 5-8 บาทต่อเดือน แต่ละปีเป็นเงิน18 -28 บาทตอนกลางสมัยอยุธยา รัฐบาลต้องการเงินใช้จ่ายมากกว่าได้ตัวคนมาเข้าเวร จึงอนุญาตให้ไพร่เสียเงิน ค่าราชการเหมือนจ้างคนแทนตัวได้ สมัยรัชกาลที่ 1 ต้องเสียค่าราชการปี ละ 18 บาท

โดยเก็บเรื่อยมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อออกพระราชบัญญัติการเกณฑ์ทหารแล้วได้ออก พระราชบัญญัติเก็บเงินค่าราชการ ร.ศ. 120 ( พ.ศ. 2444 ) เปลี่ยนชื่อจากค่าแรงแทนเกณฑ์มาเป็นค่าราชการ และเก็บปี ละ 6 บาทจากทุกคนที่มิได้ถูกเกณฑ์ทหาร ตั้งแต่อายุ 18 ปี ถึง 60 ปี ต่อมาเมื่อพศ. 2462 (รัชกาลที่ 6 )  ทรงดำริว่า การเก็บเงินค่าราชการ ร.ศ. 120 ใช้หลักเก็บเงินส่วยแต่เดิมมา จึงมีบุคคลได้รับการยกเว้นหลายประเภท ควรแก้ ให้ชายฉกรรจ์ทุกคนต้องเสียเงินโดยความเสมอภาคยิ่งขึ้น จึงให้ประกาศ พระราชบัญญัติลักษณะการเก็บเงินรัชชูปการ 2462 ด้วยเกรงว่าประชาชนจะไม่ได้เสียเงินหรือถวายเงินค่าราชการ ได้ทั่วถึงเสมอภาคกัน โดยเปลี่ยนเรียกชื่อเงินเป็นรัชชูปการ คือบำรุงแผ่นดิน หรือ บำรุงกษัตริย์ โดยมีอัตราเก็บเท่าเดิม คือเก็บ 6 บาทต่อปี จากอายุ 18 จนถึง 60 โดยตัดบุคคลที่ได้รับยกเว้นออกไปเสียบ้าง
แต่ยังมีผู้เขียนสรรเสริญรัชกาลที่ 6 ว่าพระองค์เองก็ทรงยอมเสียค่ารัชชูปการปี ละ 6 บาท เหมือนกับคนอื่นๆ ทั้งๆที่เงินของรัชกาลที่ 6 ทุกบาททุกสตางค์ ก็ล้วนมาจากประชาชนทั้งสิ้น พอมาถึง พ.ศ. 2468 สมัยรัชกาลที่ 7 จึงได้เลื่อนเกณฑ์อายุจาก 18 ขึ้นเป็น 20 อัตรายังคงเดิมและยังคงต้องเสียไปจนถึงอายุ 60 ปี จนมายกเลิกเมื่อ พ.ศ.2475 หลังจากการปฏิวัติประชาธิปไตยของชนชั้นกลาง สำหรับคนที่ไม่จ่ายเงินรัชชูปการตามมาตรา 10 ของ พ.ร.บ. เงินรัชชูปการ พ.ศ. 2468 ให้มีหมายเกาะกุมเอาตัวมาสอบสวน แล้วให้ทำประกันด้วยหลักทรัพย์เท่ากับจำนวนเงินรัชชูปการที่ค้างชำระภายใน 15 วัน มิฉะนั้นก็จะยึดทรัพย์สินออกขายทอดตลาด เพื่อใช้เงินรัชชูปการกับค่าธรรมเนียม และค่าใช้จ่าย ถ้าปฏิบัติตามนั้นไม่ได้ ก็ให้นายอำเภอสั่งเอาตัวใช้งานโยธาของหลวงตามจำนวนปีที่เงินรัชชูปการค้าง ปีละ 15 วัน แต่ไม่เกิน 30 วัน โดยต้องอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงานและกักตัวไว้ เจ้าพนักงานผู้ทำการสำรวจเก็บเงินจะได้ส่วนลดไม่เกินร้อยละ 5 ของเงินที่เก็บได้
สำหรับชาวต่างประเทศที่อยู่เมืองไทยซึ่งส่วนมากเป็นคนจีน ก็ต้องใช้แรงหรือเสียส่วยเช่นกัน โดยกำหนดให้ 3 ปี เรียกส่วยครั้งหนึ่ง ส่วนมากชาวจีนมักยอมเสียส่วย เมื่อเสียแล้วก็มีปี้หรือป้าย ผูกข้อมือไว้เป็นสำคัญ จึงเรียกว่าเงินผูกปี้ โดยคนจีนที่ไม่ได้สัก ไม่มีชื่อในทะเบียนหางว่าวกรมพระสัสดี ให้เกณฑ์ทำการพระนครคนละเดือน ถ้าจะไม่ทำ ให้เสียเงินคนละตำลึง กับค่าฎีกาสลึงหนึ่งทุกคน ถ้าจีนคนใดจะไม่ให้ผูกปี้ที่ข้อมือ จะขอแต่ฎีกาเปล่าให้เสียเงินค่าจ่ายราชการตำลึงกึ่งหรือตำลึงครึ่ง ค่าฎีกาสองสลึงเป็นอันว่าชาวจีนคนหนึ่งๆ จะต้องเสียเงินส่วย 4.25 บาททุกสามปีเป็นปกติ ถ้าหากไม่อยากให้ผูกปี้ ที่ข้อมือให้รุงรังก็ต้องเสียเงินเพิ่มเป็น 6.50 บาท ภายหลังเมื่อได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติรัชชูปการแล้ว ชาวต่างประเทศทุกคนในไทย ต้องเสียค่ารัชชูปการเท่ากับคนไทย ไม่มีการลดราวาศอกอีกต่อไป ในพ.ศ.2464 สมัยรัชกาลที่ 6 เก็บค่ารัชชูปการได้ถึง 7,749,233  บาท
ยังมีส่วยสิ่งของจากหัวเมืองไกลซึ่งไม่ต้องการตัวไพร่เข้ามาประจำราชการมากนัก โดยให้ไพร่ส่งส่วยสิ่งของแทนเข้าเวร เพราะหัวเมืองเหล่านั้นมีสิ่งของที่ต้องการใช้ในราชการ เช่น ให้ราษฎรที่อยู่ชายดงพระยาไฟ (คือดงพญาเย็น) หาดินมูลค้างคาวตามถ้ำมาหุงดินประสิวส่งหลวงสำหรับทำดินปืน ให้ราษฎรเมืองถลางหาดีบุกในเกาะภูเก็ต ส่งหลวงสำหรับทำลูกปืนแทนแรงรับราชการ เป็นต้น อัตราส่วยที่ต้องส่งคงกำหนดเท่าราคาที่ต้องจ้างคนรับราชการแทนตัวตามอัตราทุกปี ถ้าหาไม่ได้ก็ต้องจ่ายเงินชดใช้ให้หลวงตามจำนวนของที่ขาดไป หรือถ้าหาไม่ได้เลยก็ต้องใช้เงินทั้งหมด เช่น ส่วยทองคำเมืองปักธงชัย (นครราชสีมา) ในสมัยรัชกาลที่ 3 พวกเลกหรือไพร่ที่ถูกเกณฑ์เป็นพวกเลกส่วยทองคำ ต้องร่อนทองให้ได้คนละ 2 สลึงทุกคน แต่ทำไม่ค่อยได้ตามที่เกณฑ์ ต้องใช้เงินแทน ส่วยดีบุก เมืองถลาง(ภูเก็ต) ก็เช่นกัน ถ้าไม่เอาดีบุกมาส่งต้องเสียเงินแทนคนละ 10 บาท ไพร่เลวคนละ 5 บาท ส่วยฝาง ถ้าไม่มีฝางส่งต้องเสียเงินแทนคนละ 7.50 บาท ไพร่เลว 3.75 บาท ส่วยหญ้าช้าง (ไพร่หมู่ตะพุ่น) ถ้าไม่เกี่ยวหญ้าส่งให้ช้างหลวงกินต้องเสียคนละ 9 บาท
ที่จริงส่วยสิ่งของที่กษัตริย์พยายามเร่งรัดเกณฑ์เอาให้ได้ ก็เพื่อขนลงสำเภาไปขายต่างประเทศ เพราะการค้าสำเภาของกรมท่าอันเป็นการค้าผูกขาดของกษัตริย์แต่โบราณเป็นการค้าของส่วยทั้งนั้น ถ้าส่วยของไม่พอจึงซื้อ กษัตริย์ชอบค้าของส่วยมากกว่าของซื้อเพราะของส่วยไม่ต้องลงทุน รายได้ของรัฐบาลศักดินาจากส่วยเป็นจำนวนมหาศาล
สังฆราชปาลเลอกัวซ์
(Jean-Baptise Pallegoix 2348 - 2405 )
ตามที่สังฆราชปาลเลอกัวซ์ (Jean-Baptise Pallegoix 2348 - 2405 ) บันทึกไว้ว่า ในสมัยรัชกาลที่ 4 รายได้ของกษัตริย์ที่ได้จากเงินส่วยมีดังนี้ :
ค่าแรงแทนรับราชการ (ทุกปี)
12,000,000 บาทเงินผูกปี้ ข้อมือจีน (3 ปี ครั้ง) 2,000,000 บาท
ค่าภาคหลวงบ่อทองบางตะพาน
10,000 บาท
ผลประโยชน์ส่งจากหัวเมืองฝ่ายเหนือ
50,000 บาท
ผลประโยชน์ส่งจากหัวเมืองฝ่ายเหนือ
40,000 บาท
รวม
14,100,000 บาท ทั้งนี้ไม่รวมส่วยสิ่งของที่ขนลงสำเภาอีกเป็นจำนวนมากในแต่ละปีโดยปกติ หัวเมืองต่างๆ มักส่งส่วยไม่ทันกำหนด พอกษัตริย์เร่งโกรธเกรี้ยวลงไป พวกพนักงานก็เร่งลงอาญากับไพร่หรือเลกอีกทอดหนึ่ง ต้องเอาตัวพวกลูกหนี้มาบังคับเรียกเอาเงิน ต้องกักขังควบคุม แม้เจ้าพนักงานจะเร่งรัดทารุณอย่างไร ไพร่ก็ยังคงยอมทนอาญาขอค้างเงินอยู่นั่นเอง เพราะยากจนด้วยกันทั้งสิ้น
มาถึงรัชกาลที่ 5 เงินส่วยสั่งสมถมทับกันจนแทบจะสางบัญชีไม่ถูก รัชกาลที่ 5 จึงตั้งกรมเงินส่วยขึ้น 2 กรมอยู่ในกระทรวงกลาโหมกรมหนึ่ง ในกระทรวงมหาดไทยกรมหนึ่ง สำหรับเร่งเงินส่วยตามหัวเมืองส่งพระคลังมหาสมบัติ แต่พวกศักดินารู้ว่าถึงจะเร่งรัดอย่างไรก็คงไม่ได้เงิน และจะก่อให้เกิดความเคียดแค้นเกลียดชังจึงใช้วิธีล่อด้วยส่วนลด คือถ้าใครชำระหมดจะลดให้ครึ่งหนึ่งทันที เฉพาะหัวเมืองเหนือภาคเดียวได้เงินมาโดยวิธีลดครึ่งถึง 200,000 บาท มีบันทึกว่า เวลานั้นยังไม่ได้ใช้ธนบัตร ต้องหาเรือลำหนึ่งบรรทุกเงินลงมาถวายเงินแทนแรงหรือค่าราชการหรือรัชชูปการนี้
ในรัชกาลหลังๆ ของกรุงรัตนโกสินทร์จำนวนลดลงเพราะลดราคาลงเหลือเพียง 6 บาท แต่ยังนับว่าเป็นรายได้รองลงมาจากอากรค่านา ใน พ.ศ. 2464 รัฐบาลศักดินาเก็บอากรค่านาได้กว่า 7 ล้านบาท ขณะเดียวกันก็เก็บเงินรัชชูปการได้ถึง 7,749,233 บาท เทียบกับรายได้ทั้งสิ้นของรัฐบาลศักดินาใน พ.ศ.2464 จำนวน 85,595,842 บาท เงินรัชชูปการเป็นรายได้เกือบ 9% ของรายได้ของกษัตริย์
สังฆราชปัลเลอกัวซ์บันทึกว่าในสมัยรัชกาลที่ 4 มีรายได้เฉลี่ยปีละ 26,964,100 บาท เป็นเงินค่าแรงแทนเกณฑ์และค่าผูกปี้ ถึง 14 ล้านบาท หรือราว 56% ของรายได้ทั้งหมด

2) ฤชา คือเงินค่าธรรมเนียมต่างๆ ที่เรียกเก็บจากราษฎรในการต่างๆที่เกี่ยวข้องกับรัฐ เช่น ค่าธรรมเนียมในโรงศาล เมื่อเกิดคดีความ ผู้แพ้ความเสียค่าปรับไหมให้แก่ฝ่ายชนะเท่าใด รัฐก็แบ่งเอาเป็นพินัยหลวงครึ่งหนึ่ง เป็นค่าธรรมเนียม ถ้าเป็นคดีที่มีพระราชโองการให้จัดตุลาการชำระความโจทก์จะต้องเสียค่าธรรมเนียมยุบยิบหลายอย่าง เช่น ค่ารับสั่ง ค่าเชิญประกัน ค่าสืบพยาน ค่าชันสูตร ค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าคัดทูล ฯลฯ รวม 23 บาท ฝ่ายจำเลยต้องเสีย 19 บาท (ลดค่ารับสั่งให้ 4 บาท) ถ้าหากจำเลยต้องโทษจองจำ ก็ต้องเสียค่าธรรมเนียมอีกหลายอย่าง คือ นายพะทำมะรงผู้คุมเรียกเอาค่าธรรมเนียมลดขื่อ 1 บาท น้ำมัน 2 สลึง ร้อยโซ่ 2 สลึง ถอด 1 บาท 2 สลึง ตรวจ 2 สลึง รวม 1 ตำลึง คือ 4 บาทค่าธรรมเนียมสมัยศักดินามียุบยิบมากมายคือขยับตัวก็เสียค่าธรรมเนียมทุกครั้ง เช่น พวกที่ถูกเกณฑ์เข้าเวรรับราชการ เมื่อเข้าเวรครบแล้ว ก็จะได้รับหนังสือสำหรับแสดงว่าเข้าเวรแล้ว ไม่ต้องเสียเงินส่วยแทนแรง และภาษีอากรบางอย่าง
หนังสือนี้เรียกว่าตราภูมิคุ้มห้าม โดยต้องเสียค่าธรรมเนียมยุบยิบทั้ง ค่ากระดาษ ค่าพิมพ์ ค่าอาลักษณ์ประทับตรา ค่าตรวจแม่กอง 8 รายการ ค่าหางว่าวแม่กอง กลาโหมเสมียนตรา มหาดไทยพระราชเสนา คลังมหาสมบัติเสมียนตรา มหาดเล็กเจ้าหมื่นศรีสรลักษณ์ รวมทั้งสิ้นเก้าสลึงเฟื้อง (2.37 บาท) รวมความว่าไพร่เกณฑ์แรงต้องทำงานให้เจ้าขุนมูลนายฟรีๆ เงินเดือนก็ไม่ได้ ข้าวปลาก็ต้องหากินเอง มาทำงานให้นายเดือนหนึ่ง กลับไปไถนาตัวเองเดือนหนึ่ง ตลอดปี จนอายุ 60 ซ้ำยังต้องเสียเงินให้หลวงอีกเก้าสลึงเฟื้อง เพื่อให้เขาเชื่อว่าตัวกูนี้ได้ทำงานรับใช้เจ้าแผ่นดินแล้ว ที่กล่าวมาเป็นเพียงค่าธรรมเนียมที่หลวงกำชับลงมาแล้ว เพราะปกติแล้วเจ้าพนักงานมักจะเรียกค่าธรรมเนียมเกินค่าธรรมเนียมมากมายและพิสดารยุบยิบไปหมดทุกแห่ง แม้พวกศักดินาเองก็ยังถูกค่าธรรมเนียมทับถมเอาย่ำแย่ไปเช่นกัน เช่น ผู้ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าเมืองก็ต้องเสียค่าตราตั้ง 96 บาท และยังเสียค่าตราตั้งปลัด ตั้งพล ตั้งกรมการเมือง วัง คลัง นา มหาดไทย และสัสดีของเมือง รวมทั้งสิ้นในการตั้งเจ้าเมืองใหม่และกรมการเมือง กษัตริย์เรียกค่าตราตั้งถึง 15 ชั่ง ( 1,200 บาท )ที่ต้องหาเรื่องเรียกค่าธรรมเนียมพิสดารและมากมายเช่นนี้ เพราะชนชั้นปกครองของศักดินาทั้งหลายในสมัยก่อนรัชกาลที่ 5 ขึ้นไปมิได้มีเงินเดือน กษัตริย์เก็บภาษีอากรทั้งปวงเข้าพระคลังมหาสมบัติและแบ่งปันไปยังคลังของวังหน้าและเจ้านายที่มีอิทธิพลมากๆ แล้วก็เก็บเงียบ
พวกข้าราชการทั้งหลายต้องออกหากินโดยเรียกค่าธรรมเนียมเอาจากประชาชน ไม่มีเงินเดือน ใครมีเล่ห์เหลี่ยมดี ล่อหลอกหรือใช้อำนาจบังคับเรียกค่าธรรมเนียมได้มากก็ได้ผลประโยชน์มาก ได้กินข้าวร้อนนอนสายมีเมียสาวหลายๆคน ซึ่งการปล่อยให้ขุนนางเที่ยวเก็บค่าธรรมเนียมกินนี้ ได้กลายมาเป็นการทุจริตในหน้าที่ขึ้นอย่างมากมายมหาศาล แต่เป็นการทุจริตที่ประชาชนรู้ไม่เท่าทัน และทุกคนก็ทำเหมือนกันหมดจนกลายเป็นเรื่องถูกกฏหมายไปในที่สุด ยิ่งกว่านั้น พวกขุนนางข้าราชการก็มักจะทำงานเร็วหรือช้า ดีหรือเลวโดยขึ้นกับช่องทางที่จะเรียกค่าธรรมเนียม คือค่าน้ำร้อนน้ำชา รวมทั้งขุนนางในแผนกตุลาการหรือศาล มักหาเรื่องถ่วงเวลาสารพัด ถ้าใครไม่จ่ายค่าน้ำร้อนน้ำชาพิเศษเรื่องก็ไม่เดิน
พวกข้าราชการกรมท่าที่เกี่ยวกับการค้าขายเข้าออก เหมือนหนูตกถังข้าวสาร นั่งเสวยทั้งค่าธรรมเนียม ของกำนัล ทั้งฉ้อโกงเบียดบัง พวกที่ว่าการคลังก็ได้รับค่าธรรมเนียมประมูล ของกำนัลมากมาย ดูเป็นของธรรมดาเต็มที ฝ่ายกรมนาก็นอนเสวยค่าธรรมเนียมออกใบโฉนดนา โฉนดสวน ออกใบจอง และยังจัดซื้อข้าวขึ้นฉาง จ่ายข้าวในราชการทั้งปวง อันเป็นช่องทางที่จะหาเศษหาเลยได้ และตั้งข้าหลวงเสนาออกไปเก็บเงินค่านา การที่จะเก็บค่านานำเงินส่งคลังอย่างเดียว ง่ายกว่าเป็นเจ้าภาษีอากรเพราะไม่ต้องรับผิดชอบเงินที่จะได้มากหรือน้อยส่วนพวกที่อยู่ในกรมเมืองผู้อาภัพ มีค่าธรรมเนียมน้อยแต่ก็ต้องตะเกียกตะกายหาผลประโยชน์แข่งกรมอื่นๆ เป็นของธรรมดาแต่จะหาโดยตรงๆ ก็ไม่ได้ทันอกทันใจ จึงต้องหาไปตามแต่จะได้ จึงมักต้องไปในทางทุจริต
พวกศักดินามักจะอวดอ้างเสมอว่า ในสมัยศักดินาไม่มีการทุจริตคอร์รัปชั่น ความจริงที่เห็นกันชัดเจนโดยทั่วไปก็คือเป็นการทุจริตคอร์รัปชั่นที่ถูกกฏหมายเท่านั้นเอง สรุปแล้ว ค่าฤชาหรือค่าธรรมเนียม ก็คือการขูดรีดที่พวกศักดินากระทำต่อพวกไพร่อีกชั้นหนึ่งต่อจากภาษีอากรต่างๆ ตลอดจนเงินกินเปล่า นับเป็นการขูดรีดชั้นที่ 2-3 ที่กษัตริย์และขุนนางมีผลประโยชน์ร่วมกัน คือ ค่าธรรมเนียมส่วนหนึ่งเรียกเข้าคลังหลวง เช่น ค่ากระดาษ ค่าพิมพ์ อีกส่วนหนึ่งเป็นเงินที่เรียกเข้ากระเป๋าของขุนนาง พบว่าเฉพาะเงินค่าธรรมเนียมความอย่างเดียวเก็บได้ถึง 15,000 บาทต่อปีในรัชกาลที่ 4 ไม่นับค่าธรรมเนียมอื่นๆ อีกมากมายหลายอย่าง ที่เข้าคลังหลวง และอีกกี่เท่าที่เข้ากระเป๋าของขุนนางศักดินา

3) จังกอบ คือการเก็บชักส่วนสินค้าเมื่อขนส่งเข้าออกหรือเมื่อทำการขาย เก็บทั้งทางบกและทางน้ำ คือสิบชักหนึ่งหรือร้อยละสิบมีการเก็บจังกอบอีกวิธีหนึ่งโดยเก็บเงินตามขนาดของยานพาหนะที่ขนสินค้า เช่นในสมัยพระนารายณ์ เก็บจังกอบตามขนาดเรือ วัดความยาววาละหนึ่งบาท(1 วา เท่ากับ2 เมตร) ถ้าเรือลำใดปากกว้างกว่า 6 ศอก(หรือ 3 เมตร) ให้เก็บจังกอบ 6 บาท ผู้ค้าขายต้องเสียสองต่อ คือ เสียภาษีสินค้าภายในเรือและเสียภาษีปากเรือด้วยจังกอบสินค้าเก็บทั้งสินค้าเข้าและสินค้าออก และเก็บภาษีสินค้าภายในด้วย ถ้าเป็นเมืองที่มีพระราชไมตรี เก็บภาษีขาเข้าร้อยชักสาม ค่าปากเรือกว้าง 4 วาขึ้นไป เก็บวาละ 12 บาท
จอห์น ครอเฟิด (John Crawfurd)

เมื่อรัฐบาลศักดินาตั้งพระคลังสินค้าทำการค้าขายเอง สินค้าขาเข้าในส่วนที่รัฐบาลเลือกซื้อไว้ไม่ต้องเสียภาษีขาเข้า ส่วนสินค้าออกซึ่งรัฐบาลศักดินาเป็นผู้ขาย ก็คงไม่ต้องเสียภาษีเช่นกัน ในสมัยรัชกาลที่ 3 จอห์น ครอเฟิด (John Crawfurd) บันทึกว่าภาษีสินค้าขาเข้าเก็บร้อยละแปด


เซอร์จอห์น เบาว์ริง ( John Bowring )
เบาว์ริง ( John Bowring ) บันทึกไว้ว่า เรือใบทะเลเก็บวาละ 8-40 บาท เรือสำเภาใหญ่เก็บวาละ 80-200 บาท ภาษีสินค้าขาออกเก็บตามชนิดสินค้า ต่อมาในรัชกาลที่ 3 ให้เก็บจากขนาดเรืออย่างเดียว คือ ถ้าเรือมีสินค้าเข้ามาเก็บวาละ 1,700 บาท ถ้าเรือเปล่าเข้ามาซื้อของเรียกเก็บวาละ 1,500 บาท สรุปแล้ว จังกอบคือภาษีศุลกากรเก็บทั้งภายในจากพ่อค้าแม่ค้าเล็กน้อยประจำวันไปจนถึงสินค้าเข้าออก ตัวอย่างที่ประชาชนต้องจ่ายจังกอบ เช่น เมื่อปีนต้นมะพร้าวอยู่บ้าน ก็ถูกเรียกอากรสวน พอจะเคี่ยวน้ำมันมะพร้าวก็ต้องไปแจ้งความกับเจ้าภาษีน้ำมันมะพร้าวขอใบอนุญาต ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมหรือฤชา
พอเคี่ยวน้ำมันมะพร้าวเสร็จเอาลงเรือแจวมาจอดที่ด่าน เจ้าพนักงานจะเรียกเก็บจังกอบ 10 ชัก 1 ฝ่ายเจ้าภาษีน้ำมันที่ออกใบอนุญาตก็รออยู่ข้างๆ ด่านนั้นด้วย พอเรือผ่านมาก็เก็บภาษีตามพิกัดของสินค้าอีกครั้งหนึ่ง แล้วจึงจะขายได้ ถ้าเจ้าภาษีไปตั้งอยู่ห่าง ก็ต้องแวะท่าโรงภาษีเสียก่อน ไม่งั้นถูกหาว่าหนีภาษี ปรับหนักยับเยินทีเดียว สถานที่เก็บจังกอบเรียกกันว่า ขนอน หรือ ด่าน มีทั้งขนอนบก ขนอนน้ำ ตั้งดักไว้ตามหนทางเข้าออกต่างๆ รอบเมือง ที่เก็บภาษีของเจ้าภาษีเรียกว่าโรงภาษี มักเป็นนายหน้าผูกขาดบังคับซื้อสินค้าที่ตนเก็บภาษีไว้ทั้งหมดแต่ผู้เดียว ใครๆ ก็ต้องขายให้เจ้าภาษี แล้วเจ้าภาษีจึงนำออกขายโดยเอากำไรตามความพอใจ
4) อากร(Revnue) คือการเก็บผลประโยชน์ที่ราษฎรหาได้จากการทำงาน เช่น ทำนา ทำไร่ ทำสวน หรือจากการมอบสัมปทานโดยเรียกเงินค่าอากรผูกขาด เช่น การเก็บของป่า จับปลาในน้ำ (อากรค่าน้ำ) ต้มกลั่นสุรา ตั้งบ่อนเบี้ย (การพนัน) ตั้งโรงโสเภณี ฯลฯ
อากรค่านา ชาวนาที่เช่านาต้องจ่ายสองต่อ คือเสียค่าเช่าให้แก่เจ้าของที่นา และเสียค่าอากรเช่านาให้แก่หลวง (คือกษัตริย์) การเสียอากรให้แก่หลวงถือเป็นการเสียค่านาแทนเจ้าของนา ส่วนพวกเจ้าที่ดินที่เกณฑ์บ่าวไพร่และเลกทำนาของตนเอง ก็ต้องเสียอากรค่านา โดยไม่ต้องเสียค่าแรงให้พวกบ่าวไพร่หรือเลก มิหนำซ้ำพวกเลกพวกไพร่จะต้องขนเอาไถเอาคราดวัวควายของตนมาทำนาให้เจ้าขุนมูลนาย
การเก็บอากรค่านา เดิมเก็บเป็นข้าวเปลือก เรียกว่าหางข้าว โดยประชาชนต้องส่งถึงฉางหลวง มีทั้งฉางหลวงในกรุง และฉางหลวงหัวเมือง ใครจะเอาไปส่งฉางไหนขึ้นอยู่กับความพอใจของพวกข้าหลวง สมัยรัชกาลที่ 4 ราษฎรได้รับความยากลำบากต้องร้องทุกข์กล่าวโทษข้าหลวงเสนา และเจ้าพนักงาน ภายหลังได้เปลี่ยนมาเก็บเงินแทนข้าว พวกเจ้าที่ดินที่ครอบครองที่ดินเอาไว้มาก แต่มีกำลังทาสไพร่ของตนน้อย ไม่พอทำนาให้ทั่วถึง กษัตริย์จึงต้องแต่งตั้งข้าหลวงเสนาออกไปเดินนาออกสำรวจเพื่อลงบัญชีว่าได้ทำไปจริงๆ
สมัยพระนารายณ์ที่ลอกเลียนชีวิตอันฟุ่มเฟือยหรูหราของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ของฝรั่งเศส ถึงกับไปสร้างเมืองลพบุรีเป็นเมืองพักร้อนเลียนแบบพระราชวังแวร์ซายส์ ( Versailles ) ของหลุยส์ที่ 14 ต้องใช้เงินมากจึงเปลี่ยนอากรหางข้าวมาเป็นเงิน โดยเก็บไร่ละสลึงรวด เก็บทั้งนาที่ทำและนาที่ไม่ได้ทำ โดยถือเนื้อที่นาในครอบครองเป็นเกณฑ์ ข้าวสมัยนั้น เกวียนละ 10-12 บาท หรือถังละ 10-12 สตางค์ อากรไร่ละ 25 สตางค์คิดเป็นข้าวเปลือก 2 ถังต่อไร่ แต่เจ้าที่ดินส่วนมากไม่เห็นด้วยและไม่พอใจ จึงเก็บได้เฉพาะในเมืองที่พระนารายณ์มีอำนาจเท่านั้น กษัตริย์จึงต้องหาวิธีเก็บอากรค่านาใหม่ เป็นสองประเภทเรียกว่า นาคู่โค และ นาฟางลอย
นาคู่โค หรือนาน้ำท่า คือนาที่เรียกเก็บอากรโดยนับจำนวนวัวหรือควายที่ใช้ในการไถนา ซึ่งพวกเจ้าที่ดินพอรับได้ เพราะเวลาทำนาจริงก็ยังเกณปีละไม่น้อย ฑ์เอาวัวควายของพวกเลกพวกไพร่มาช่วยทำได้อีกโดยไม่เสียอากรอย่างสบายๆ เป็นนาในที่ลุ่มที่ทำนาได้ปีละหลายครั้ง นาประเภทนี้เมื่อข้าหลวงเสนาออกมาสำรวจเดินนา แล้วก็จะออกโฉนดตีตราด้วยชาดสีแดงเรียกว่าโฉนดตราแดง เวลามาเก็บอากรก็เรียกโฉนดออกมาดู แล้วเก็บตามนั้น ที่นาใดไม่มีโฉนดระบุที่ดินบอกจำนวนอากร ผู้ครอบครองก็จะถูกข้อหาบุกเบิกที่โดยพลการไม่แจ้งในหลวง มีเจตนาหนีภาษีอากรต้องมีโทษ
พวกชาวนาที่จะบุกเบิกใหม่ต้องขวนขวายไปแจ้งแก่เจ้าพนักงานเสียแต่แรกว่าตนจะทำนาตรงนี้ ขอให้ออกโฉนดบอกปริมาณที่ดินและอากรที่จะต้องเสียให้ด้วย เวลาข้าหลวงเสนามาสำรวจเดินนา ตนจะได้มีหนังสือสำคัญแสดงแก่เขาว่า พร้อมที่จะเสียภาษีไม่ได้ตั้งใจหลบหนี เดิมทีประชาชนทำนาโดยไม่มีหนังสือสำคัญใดๆ บางคนเลี่ยงภาษีอากรโดยอ้างว่าเป็นที่เพิ่งเริ่มก่นสร้างได้ปีหนึ่งสองปี เพราะมีกฏหมายยกเว้นอากรให้แก่ผู้เริ่มก่นสร้าง พระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยาหรือพระวันวษาในวรรณคดีขุนช้างขุนแผน) จึงออกพระราชกำหนดพ.ศ. 1796 บังคับให้ผู้หักร้างนาใหม่ ต้องแจ้งข้าหลวงเอาโฉนดบอกจำนวนที่ดิน และอากรไปถือไว้

ใครไม่มีโฉนดจะต้องข้อหาหลบหนีบดบังอากร มีโทษหนัก
6 สถาน คือ : ฟันคอ ริบเรือน จำใส่ตรุ(คุก)ไว้ริบราชบาตรแล้วเอาตัวลงหญ้าช้าง (คือให้ตัดหญ้าให้ช้างหลวงกิน ซึ่งเป็นงานชั้นต่ำสุดเพราะถูกหญ้าบาด งูกัด เหม็นขี้เยี่ยวช้าง) ทวนด้วยลวดหนัง 50 ที ขังไว้เดือนหนึ่ง ถอดลงเป็นไพร่, ไหมจตุรคูณ (ปรับสี่เท่า) และไหมทวีคูณ (ปรับสองเท่า) ใน 6 สถานนี้ ในหลวงจะเลือกลงโทษสถานใดก็ได้ เป็นการลงโทษอย่างหนักราวกับโจรปล้นทรัพย์ (ริบเรือน, ริบราชบาตร) หรือราวกับกบฏ (ฟันคอ) จึงทำให้ประชาชนต้องขวนขวายมาขอโฉนดการออกโฉนดอย่างใหม่เพิ่งมาเริ่มขึ้น เมื่อ พ.ศ. 2445 สมัยรัชกาลที่ 5 และได้ออกพระราชบัญญัติโฉนดที่ดิน ร.ศ. 127 (2451) ประชาชนจึงได้เริ่มมีกรรมสิทธิ์ที่ดินมาแต่นั้น
นาฟางลอย เป็นนาในที่ดอน น้ำท่วมไม่ถึง ต้องพึ่งน้ำฝนอย่างเดียว ถ้าฝนไม่ตกก็ทำนาไม่ได้ข้าหลวงประเมินนาโดยดูตอฟางเป็นเกณฑ์ แล้วรังวัดเนื้อที่เก็บอากรตามนั้น ส่วนมากเป็นนาของพวกไพร่ ทำได้ผลบ้างไม่ได้ผลบ้าง กรมนาจะออกเพียงใบจองให้ชั่วคราว ถ้าทำไม่ได้สามปีติดๆ กัน กรมนาก็จะริบนาคืนเข้าเป็นของหลวง เมื่อชีวิตขึ้นอยู่กับน้ำฝนก็ทำให้เกิดมีประเพณีแห่นางแมวขอฝน ฝ่ายกษัตริย์มีหน้าที่เพียงมาตรวจดูว่าไพร่ทำนาได้หรือไม่ ถ้าทำไม่ได้ก็หาว่าขี้เกียจ ริบนาคืนไป
การช่วยเหลือชาวนาของพวกศักดินาอย่างมากก็เพียงชักชวนให้ทำพิธีขอฝน กษัตริย์จะแสดงพระมหากรุณาธิคุณโดยส่งพระพุทธรูปปางขอฝนเรียกว่าพระคันธารราษฎร์ เป็นพระพุทธรูปนั่งขัดสมาธิราบ พระหัตถ์ขวายกเสมอพระอุระในท่ากวัก พระหัตถ์ซ้ายวางหงายบนพระเพลาเป็นกิริยารับน้ำ สร้างตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 ออกประดิษฐานตามหัวเมืองในที่มณฑล ทำโรงพิธีสวดคาถาพระบาลีอธิษฐานขอฝน ในปี พ.ศ. 2468 โปรดให้สร้างพระคันธารราษฎร์ขนาดสูง 33 เซนต์ขึ้น 80 องค์ สำหรับส่งไปไว้ตามจังหวัดหัวเมืองทั่วไป เพื่อมีเหตุฝนแล้งเมื่อใด จะได้ทำพิธีพิรุณศาสตร์ ณ ที่นั้นทีเรียกว่า พิธีพิรุณศาสตร์ถ้าปีไหนฝนแล้งทำนาไม่ได้ ก็มักจะโทษเอาว่าเป็นเพราะประชาชนไม่ทำพิธีพิรุณศาสตร์กันอย่างทั่วถึง พระเจ้าเลยไม่โปรด ไม่ใช่ความผิดของกษัตริย์ที่ไม่เอาใจใส่ทำการทดน้ำ ขุดคลองทำชลประทาน
ประชาชนเลยต้องฝากชีวิตไว้กับเทวดาฟ้าดิน เมื่อฝนไม่ตกก็เท่ากับฟ้าดินไม่โปรดเป็นเพราะวาสนาตัวไม่ดีเอง โทษใครไม่ได้นี่คือการช่วยเหลือเพียงประการเดียวที่ฝ่ายศักดินาหยิบยื่นให้ประชาชนเป็นประจำ โดยทำกันมาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย รัชกาลที่ 5 เคยกล่าวถึงพิธีขอฝนในสมัยสุโขทัยไว้ว่า ค่อนข้างจะเร่อร่าหยาบคาย ทำกันใหญ่โตทุกปี มีทั้งพิธีพุทธพิธีพราหมณ ์มีการบูชาโองการขอฝนซึ่งเชื่อกันว่า ถ้าฝนไม่ตกให้เอาคำโองการออกอ่านฝนก็ตก ทั้งๆที่เห็นว่าเป็นเรื่องไม่เข้าท่า เสกๆ เป่าๆ งมงาย แต่พวกศักดินาก็ยังคงสงวนพิธีนี้ไว้ เพราะเป็นทางเดียวที่จะมอมเมาประชาชนและปัดความผิดไปจากตนได้อย่างแนบเนียน รวมทั้งการรื้อฟื้นพิธีแรกนาขวัญของศาสนาพราหมณ์ที่ไม่เข้ากับยุคสมัยแม้แต่น้อยในยุคของจอมพลสฤษดิ์ ปี 2503 เรื่อยมาตลอดรัชกาลการยื่นมือมาช่วยเหลือประชาชนของกษัตริย์เท่าที่พบหลักฐานก็มีอยู่บ้างนานครั้งนานคราว แต่ถ้าได้ช่วยสักครั้งหนึ่งก็ต้องทวงบุญทวงคุณกันไปนานทีเดียว
ยกตัวอย่างในรัชกาลที่ 4 เมื่อคราวน้ำน้อยพ.ศ. 2407 มีประกาศว่าอนึ่งในปีนี้เมื่อเดือน 11 เสด็จขึ้นไปทอดพระเนตรน้ำกรุงเก่า ทรงเห็นว่าน้อย ได้มีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งให้กะเกณฑ์ข้าราชการไปปิดน้ำ (คือปิดทำนบไว้มิให้น้ำลด) แล้วจำหน่ายพระราชทรัพย์แจกเป็นเงินค่ากับข้าวผู้ทำการคนละบาท แลจ่ายข้าวสารเสบียงคนละ 10 ทะนาน(ครึ่งถัง)และจ่ายจัดซื้อไม้เพิ่มเติม สิ้นพระราชทรัพย์ 50 ชั่งเศษโดยทรงพระมหากรุณาช่วยนาของราษฎร ทั้งแขวงกรุงเก่าแลลพบุรี เป็นพระเดชพระคุณแก่ราษฎรอยู่ ควรราษฎรจะคิดถึงพระเดชพระคุณอย่าต้องให้ลำบากนัก นี่คือประกาศที่รัชกาลที่ 4 ทรงเขียนเองด้วยพระหัตถ์ ที่ว่าขอให้คิดถึงพระเดชพระคุณบ้างอย่าให้ต้องลำบากมากนัก หมายถึง ความลำบากของกษัตริย์ในการเก็บอากรหางข้าว เนื่องมาจากน้ำแล้งทำนาไม่ได้ผล ประชาชนร้องทุกข์กันมากว่า เก็บอากรค่านาแรงจนเกินควร ที่คุยว่าอุตส่าห์ลงทุนทำคันปิดน้ำเสียพระราชทรัพย์ ไปถึง 50 ชั่งเศษ (4,000 บาทเศษ) ดูเป็นเงินจำนวนใหญ่โตที่จะต้องทวงบุญทวงคุณกันเสียจริงๆ
แต่ถ้าเทียบดูผลประโยชน์จะเห็นได้ว่าในแขวงกรุงเก่า ลพบุรี และอ่างทองที่ได้ช่วยกันน้ำไว้ คิดจำนวนนาถึง 320,000 ไร่เศษ...เมื่อเรียกอากรค่านาไร่ละสลึงเฟื้องจะได้เงินปี ละ 1,500 ชั่ง เมื่อเรียกไร่ละสลึงได้เงินปีละ 1,000 ชั่ง (หรือ 80,000-120,000 บาท) โดยได้มาตลอดนับสิบๆ ปี พอมาเสียค่าปิดกั้นน้ำเข้าทีหนึ่งก็ทำบ่นอุบอิบ ทวงบุญทวงคุณเอาเสียจริงจัง ทั้งๆ ที่การไปปิดน้ำคราวนั้น ก็เป็นผลประโยชน์ของชนชั้นศักดินาโดยตรง คือ ถ้าทำข้าวได้ตนก็ได้หางข้าว และเงินที่ลงทุนไปปิดน้ำเพียง 4,000 บาทนั้น ก็เป็นเงินจากอากรค่านาที่เก็บจากประชาชนซึ่งศักดินาใหญ่ก็รู้ดีอยู่แก่ใจ เวลาพวกเจ้านายฉ้อโกงเงินภาษีที่เก็บส่งหลวงหรือให้ลูกน้องเบ่งไม่ต้องเสียภาษี รัชกาลที่ 4 ก็จะบ่นว่าได้เงินมาไม่พอแจกเป็นเงินปีให้พวกเจ้านาย จะต้องลดส่วนเงินปีลง ซ้ำยังอธิบายด้วยว่าเงินซึ่งพระราชทานแจกเบี้ยหวัดแก่ข้าราชการทุกๆปีนั้น คือเงินจากภาษีอากรนั่นเอง แต่พอมาพูดกับพวกไพร่พวกชาวนา ก็กลับมาอ้างเอาว่าเป็นเงินพระราชทรัพย์ ต้องสิ้นพระราชทรัพย์ 50 ชั่งเศษโดยทรงพระมหากรุณาช่วยนาของราษฎร
นี่คือธรรมเนียมทวงบุญคุณข้าวแดงแกงร้อนของพวกศักดินา น่าคิดว่าใครมีบุญคุณแก่ใครกันแน่ เพราะการที่กษัตริย์ไม่ค่อยเอาใจใส่ช่วยเหลือประชาชนและเพราะการที่มัวแต่เสียดายราชทรัพย์ จึงทำให้นาแล้งบ้าง ล่มจมบ้างตลอดมาในสมัยศักดินา ที่เรียกว่าข้าวยากหมากแพงเกิดขึ้นเสมอๆการขูดรีดของศักดินานอกจากจะเก็บค่าหางข้าวกินเปล่าไร่ละ 2 ถัง ยังบังคับซื้อในราคาหลวงอีกไร่ละ 2 ถัง ในราคาถังละ 6 สตางค์ ขณะที่ราคาขายทั่วไปถังละ 10-12 สตางค์
การเก็บอากรหางข้าวขึ้นฉางหลวงไร่ละสองถังบังคับซื้อสองถังโดยให้ราคาถังละ 6 สตางค์ได้ใช้มาจนถึงรัชกาลที่ 3 แต่ไม่พอใช้จ่ายราชการ เพราะนโยบายสงครามของรัชกาลที่ 3 ทำให้มีศึกสงครามจำเป็นต้องการเงินใช้ราชการมากกว่าแต่ก่อน รัชกาลที่ 3 จึงเก็บภาษีอากรค่านาเป็นตัวเงินแทนไร่ละสลึง แต่ยังเก็บเงินแทนค่าขนข้าวขึ้นฉางหลวงซึ่งไม่ต้องขนแล้วอีกไร่ละเฟื้องรวมเป็นสลึงเฟื้องคือ 37.5 สตางค์ โดยเก็บทั้งนาคู่โคและนาฟางลอย พวกไพร่ที่ทำนาฟางลอยเดือดร้อนกันไปทั่วจนเกิดการร้องทุกข์ พวกนาคู่โคก็ร้องทุกข์บ้างเพราะต้องเสียภาษีตามจำนวนเนื้อที่ครอบครองทั้งหมด
รัชกาลที่ 4 ยอมลดค่านาให้พวกนาคู่โค เป็นไร่ละสลึงเมื่อ พ.ศ. 2398 ครั้นล่วงมาถึง พ.ศ. 2407 คือถัดมา 10 ปี เกิดฝนแล้ง พวกนาคู่โคร้องทุกข์ว่าสู้อากรไม่ไหว รัชกาลที่ 4 ประกาศตอบโต้ว่าอุตส่าห์ลดให้เหลือไร่ละสลึง เป็นที่นาถึง 320,000 ไร่เศษ ลดให้ไร่ละเฟื้องตกปีละ 500 ชั่ง (สี่หมื่นบาท) ลดให้ 10 ปี ในหลวงต้องขาดเงินไปถึง 5,000 ชั่ง (สี่แสนบาท) ราษฎรได้เปรียบในหลวงมาถึง 9 ปี 10 ปีแล้ว ฉะนั้น ในปีนี้ฝนแล้ง จะคงเรียกอยู่ไร่ละสลึงตามธรรมเนียมไม่ได้หรือ ถ้าใครเห็นว่าจะเสียค่านาไม่ได้ ก็ให้เวณนาคืนแก่กรมนา โอนเป็นของหลวง ทำให้พวกเจ้าที่ดินและไพร่ต้องสงบปากสงบคำ หวานอมขมกลืนต่อไป  

ในปีน้ำน้อย (พ.ศ. 2407) ประชาชนผู้ยากจนขอผ่อนปรนชำระอากรค่านาได้ โดยให้เป็นหนี้ค้างไว้ชำระปีหน้า ถึงปีหน้าต้องชำระ คิดเงินต้นไร่ละสลึงบวกดอกเบี้ยอีก 1 เฟื้อง (ครึ่งสลึง) รวมเป็นไร่ละสลึงเฟื้อง ผู้ที่ต้องค้างค่านาจึงต้องเสียดอกเบี้ยร้อยละ 50 ต่อปีอากรค่านาเป็นอากรสำคัญของชนชั้นศักดินา จึงได้รับการดูแลเพิ่มอัตราและปรับปรุงวิธีเก็บอยู่เสมอ รายได้จากอากรค่านาในรัชกาลที่ 4 ได้ถึงสองล้านบาท และเพิ่มขึ้นเป็นเจ็ดล้านบาทในสมัยรัชกาลที่ 6 โดยเก็บภาษีที่ดินทั้งหมด ได้ถึง 9,700,000เศษ (สถิติ 2464)

อากรสวน หมายถึงอากรสวนผลไม้ เป็นอากรที่ดิน มีวิธีเก็บเช่นเดียวกับอากรค่านาคือกษัตริย์ส่งเจ้าพนักงานข้าหลวงออกไปสำรวจสวนต่างๆ เรียกว่าเดินสวน (คู่กับเดินนา) เป็นหน้าที่กรมพระคลังสวนการออกเดินสวนทำเป็นพิธีรีตองไสยศาสตร์อย่างศักดิ์สิทธิ์ มีการบวงสรวงเทวดา คือ พระรามและเจ้าแม่กาลี เป็นต้น พวกข้าหลวงจะออกสำรวจรังวัดที่ดินและออกโฉนด (ใบสำคัญเก็บอากร) เช่นเดียวกับการเดินนา และลงบัญชีต้นไม้ที่จะต้องเสียภาษีไว้เป็นหลักฐาน ถ้าเจ้าของสวนไม่ปรากฏตัวต่อเจ้าพนักงาน ก็ถือว่าเป็นสวนร้าง ให้เวณคืนเป็นสวนของหลวง จะจัดการขายหรือให้แก่ใครก็ได้ เป็นสิทธิ์ขาดของเจ้าพนักงาน การเดินสวนทำกันตอนต้นรัชกาลหนเดียว แล้วใช้ไปตลอดรัชกาล แต่ในบางรัชกาลก็เดินสวนถึง 2-3 ครั้ง เช่นในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยเรียกเก็บเอาจากต้นไม้ ลาลูแบร์บันทึกว่าในสมัยพระนารายณ์ อากรทุเรียนต้นละ 2 สลึง พลูค้างละ 1 บาท หมากต้นละ 3 ผล มะพร้าวต้นละ 2 สลึง ส้ม มะม่วง มังคุด พริกต้นละ 1 บาท
ในสมัยรัชกาลที่ 3 เดินสวนเมื่อปี พ.ศ. 2372 และ 2375 ตั้งแม่กองออกสำรวจกองละ 8 คน มีขุนนางวังหลวง 6 คน ขุนนางวังหน้า 2 คน ควบกันไป เพราะอากรต้องแบ่งกันระหว่างวังทั้งสอง ได้ตั้งกองสำรวจเดินสวน 3 กอง ออกเดินสวนทางฝั่งเหนือ และฝั่งใต้ กองที่สามเดินสวนเขตเพชรบุรี ราชบุรี สมุทรสงคราม นครไชยศรี สาครบุรี (สมุทรสาคร) มีอัตราตัวอย่างดังนี้ หมากเอก สูง 3-4 วา ต้นละ 50 เบี้ย ร้อยต้น 3 สลึง 200 เบี้ย( 1บาท มี 6,400เบี้ย หรือ 800 เบี้ย เป็น 1 เฟื้อง ) มะพร้าวใหญ่สูง 8 ศอกขึ้นไป ต้นละ 100 เบี้ย 8 ต้นเฟื้อง ถ้ามีน้ำมันต้องแบ่งถวายมะพร้าวหมูสี(น้ำหอมหวาน) มะพร้าวนาลิเก (มะพร้าวไฟ) เป็นของทูลเกล้าถวาย ไม่เสียอากรพลูค้างทองหลาง (ค้างพลูทำด้วยไม้ทองหลาง) สูง 7-8 ศอกขึ้นไป 4 ค้าง 1 เฟื้อง ร้อยค้าง 3บาท 1 เฟื้อง

ทุเรียน, มะม่วง โอบรอบได้ 1 รอบกับ 3 กำ นับเป็นต้นใหญ่ทุเรียนต้นละ 1 บาท มะม่วงต้นละเฟื้องมังคุด, ลางสาด โอบรอบได้ 1 รอบกับ 2 กำ เรียกต้นละเฟื้องนอกจากต้องเสียอากรค่าต้นไม้แล้ว เจ้าของสวนยังต้องเสียเงินอีกสารพัด เช่น ต้องตั้งพิธีทำบายศรีบวงสรวงพระภูมิเจ้าที่สำรับหนึ่ง กรุงพาลีสำรับหนึ่ง โดยมีค่าใช้จ่ายหัวหมู 1 คู่ เสื่ออ่อน 1 ผืน ผ้าขาว 1 ผืนขันรองเชือกรังวัดและทำน้ำมนต์ประพรมสวนค่าเสกน้ำมนต์ ค่ารังวัดหัวเชือก หางเชือกรวมทั้งสิ้น 2 บาท 1 สลึง 1 เฟื้องเจ้าของสวนเมื่อเห็นการตั้งพิธีพะรุงพะรังเลยเข้าใจไปว่าในหลวงท่านกรุณาส่งคนมาทำน้ำมนต์พรมสวนให้ได้ผลดี ลืมนึกไปว่าเขามาเก็บภาษีอากร แถมยังลำเลิกบุญคุณไปด้วยถ้าสวนใดทำการเดินสวนครบ 5 ครั้ง จะต้องจ่ายเงินแก่ข้าหลวงอีกสวนละเฟื้อง และต้องจ่ายเบี้ยเลี้ยงให้อีกสวนละสองสลึงเมื่อข้าหลวงออกมาเดินสวน เจ้าของสวนต้องนำเอาโฉนดเก่าออกมาสอบทานยืนยัน แล้วรับเอาโฉนดใหม่ไป ต้องเสียเงินค่าโฉนดอีกใบละ 1 บาท 2 สลึงท้ายที่สุดคือการผูกขาดซื้อแก่นไม้ 3 จำพวก คือไม้มะเกลือเป็นไม้ดำ ไม้ละมุดสีดาเป็นไม้แดงเนื้อละเอียด และไม้จันทน์เนื้อขาวละเอียด เจ้าของจะโค่นจะฟันต้องมาแจ้งให้ข้าหลวงรับรู้แล้วขนไม้มาทูลเกล้าฯ เมื่อโค่นแล้วก็ต้องปลูกซ่อมแซมขึ้นใหม่ตามข้อบังคับอากรสวนยังมีวิธีเก็บโดยวัดพื้นที่เป็นไร่ เช่น สวนจากเสียอากรไร่ละเฟื้องมีเจ้าพนักงานออกเดินสำรวจเป็นครั้งคราว สรุปว่าอากรสวนในสมัย ร.4 ได้ปีละ 5,545,000 บาท
อากรค่าน้ำ คืออากรที่เก็บจากการจับปลาในแม่น้ำลำคลอง หนองบึงและทะเล มีทั้งอากรน้ำจืด และน้ำเค็ม การเก็บอากรค่าน้ำมักให้คนผูกขาดเก็บภาษีรับไปทำ กษัตริย์ออกกฏหมายตั้งอัตราเก็บภาษีอากรไว้เป็นมาตรฐานตามชนิดของเครื่องมือหากิน เช่น โพงพางน้ำจืดโพงพางละ 12 บาท (โพงพางคือเครื่องมือดักปลากุ้ง เป็นถุงตาข่ายผูกกับเสาใหญ่ 2 ต้นที่ปักขวางลำน้ำ) เรือแพพานลำละ 10 บาท เรือแหโปงลำละ 6 บาท เรือแหทอดลำละ 1 บาท เก็บดะไปทุกชนิดมีรายการยืดยาวจนถึงสวิงกุ้งสวิงปลาคนละ 1 เฟื้อง ฉมวกคนละ 1 เฟื้อง เบ็ดราวคนละ 50 สตางค์ เบ็ดธรรมดา 100 คัน 50 สตางค์ พวกที่มารับทำการผูกขาดเก็บภาษีจะยื่นจำนวนเงินประมูลกัน ใครให้เงินมากก็ได้สัมปทานไปทำ เช่นในรัชกาลที่ 4 พระศรีชัยบานขอผูกขาดเก็บอากรค่าน้ำในกรุงเทพฯ และหัวเมือง 37 เมืองกับ 8 ตำบล โดยให้เงินประมูล 370 ชั่ง ( 29,600 บาท)ต่อปี ภายหลังอากรค่าน้ำขยับสูงขึ้นจนถึง 70,000 บาทเมื่อได้ยื่นเงินประมูลและเงื่อนไขที่จะถวายเงินอย่างทั่วถึงในหมู่ชนชั้นศักดินาที่สำคัญๆแล้ว ผู้ที่มีผลประโยชน์เกี่ยวข้องมีอำนาจในแผ่นดินก็ปรึกษาหารือกัน
ในที่สุดก็ออกประกาศว่า ...ซึ่งราษฎรทำการปาณาติบาตหาผลประโยชน์เลี้ยงชีวิตโดยมิจฉาชีพจะไม่ต้องเสียอากรค่าน้ำนั้นเห็นว่าเหมือนหนึ่งยินดีด้วยคนทำปาณาปาติบาตหาควรไม่ ซึ่งพระศรีชัยบานทำเรื่องราวมาว่าจะขอรับพระราชทานทำอากรค่าน้ำนั้นก็ชอบอยู่แล้ว..เป็นอันว่าการที่ประชาชนตกเบ็ดตกปลากินนั้นเป็นการผิดศีลข้อ 1 ว่าด้วยการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต
ถ้าไม่เก็บภาษีอากรก็จะกลายเป็นเข้าด้วยพวกทำบาปมิจฉาชีพ จึงต้องเก็บภาษีอากรเสียให้เข็ด นี่คือเหตุผลในการอ้างอิงเอาศาสนาเข้ามาเป็นเครื่องมือในการขูดรีดของชนชั้นศักดินาสมัยรัชกาลที่ 3 เก็บอากรค่าน้ำโดยการผูกขาด มีรายได้ปีละกว่า 700 ชั่ง (56,000 บาท) ต่อมาได้เพิ่มภาษีขึ้นอีกมากมายหลายอย่าง จึงลดอากรค่าน้ำลงเหลือ 400 ชั่ง (32,000 บาท) และต่อมาเลิกหมดเลยไม่เก็บ เพราะรัชกาลที่ 3 เห็นว่าการจับปลาเป็นมิจฉาชีพทำปาณาปาติบาทจึงไม่เก็บ ครั้นมาถึงรัชกาลที่ 4 ต้องลดอากรค่านาลง จึงต้องขวนขวายหาทางเก็บภาษีอากรใหม่ ในที่สุดก็มาลงเอยเก็บอากรค่าน้ำ กะว่าจะเก็บปีละกว่า 400 ชั่ง สังฆราชปัลเลอกัวซ์สำรวจ ว่าในรัชกาลที่ 4 ได้อากรค่าน้ำถึง 875 ชั่ง หรือ 70,000 บาท ครั้นจะประกาศเก็บเอาดื้อๆ ก็เกรงจะไม่แนบเนียน ผู้คนจะนินทาว่าเก็บแต่ภาษี ไม่เห็นทำอะไรให้เป็นประโยชน์แก่ประชาชนสักนิด
รัชกาลที่ 4 จึงออกประกาศอ้างว่า การที่รัชกาลที่ 3 เลิกเก็บอากรค่าน้ำนั้น ถึงเลิกแล้ว ก็ไม่เป็นคุณอันใดแก่สัตว์เดรัจฉาน สมดังพระราชประสงค์ และไม่ได้มาเป็นคุณเกื้อกูลหนุนแก่พระพุทธศาสนาด้วยอาการอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่ได้เป็นคุณแก่ราชการแผ่นดินเลย และพวกที่หาปลาได้รับผลประโยชน์ยกภาษีอากรที่ตัวควรจะต้องเสียปีละเจ็ดร้อยชั่งเศษทุกปี นั้น... ก็ไม่ได้มีกตัญญูรู้พระเดชพระคุณมาทำราชการฉลองพระเดชพระคุณในหลวงให้ปรากฏเห็นประจักษ์เฉพาะแต่เหตุนั้นสักอย่างหนึ่งเลย ฉะนั้นจึงปรึกษาพร้อมกันเห็นว่าอากรค่าน้ำซึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวให้เลิกเสีย ไม่เป็นคุณประโยชน์อันใดแก่สัตว์เดรัจฉาน ไม่เป็นคุณความเจริญแก่พระพุทธศาสนา... ถ้าแม้ไม่เก็บซ้ำ จะตกที่นั่งเป็นคนมีบาปที่เป็นใจให้พวกมิจฉาทิฐิทำปาณาปาติบาต จึงต้องเก็บค่าน้ำใหม่ในแผ่นดินนี้ และเหตุนี้จึงได้ตั้งพระศรีชัยบานเป็นเจ้าภาษี
คราวนี้ผู้ที่ทำการผูกขาดการเก็บภาษีซึ่งเรียกว่าเจ้าภาษี ก็มีสิทธิแต่งตั้งคนของตนเป็นนายอากร คอยเก็บอากรแก่ชาวประมงค์ในเขตต่างๆ แบ่งเป็นหลายๆ เขต พวกนายอากรก็คอยเร่งรัดเก็บภาษีด้วยอำนาจบ้าง เรียกภาษีเกินพิกัดอัตราบ้าง พวกประชาชนที่ทำการจับปลาก็ต้องเดือดร้อนกันไปตามเรื่อง ชนชั้นศักดินาก็คอยแต่จะนั่งเสวยบุญกินอากรของพวกมิจฉาชีพไปตามสบาย
อากรสุรา ในสมัยพระนารายณ์เก็บเทละ(โอ่งละ) 1 บาท ถ้าเมืองใดไม่มีเตาต้มกลั่นเหล้าผูกขาดภาษี ประชาชนต้มสุรากันเองในหลวงเรียกเก็บอากรสุราคนละ 1 บาทรวด รายได้จากอากรสุราสูงมากมาแต่ไหนแต่ไร ในสมัยรัชกาลที่ 4 ตามการสำรวจของสังฆราชปัลเลอกัวซ์ ภาษีสุราสูงถึง 500,000 บาท ต่อมาในพ.ศ.2467 เก็บได้ถึง 11,929,551 บาท 62 สตางค์)
อากรโสเภณี ลาลูแบร์ (Monsieur De La Loubere เอกอัครราชทูตพิเศษฝรั่งเศส ซึ่งพระเจ้า หลุยส์ที่ 14 ส่งเข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีสมัยสมเด็จพระนารายณ์) บันทึกว่าอากรโสเภณีเริ่มมีในสมัยพระนารายณ์โดยอนุญาตให้ออกญาแบนตั้งโรงหญิงนครโสเภณีขึ้น โสเภณีคงมีมานานแล้ว พอกษัตริย์เห็นว่ามีรายได้ดี ลูกค้ามาก จึงตั้งโรงโสเภณีผูกขาดขึ้นมา จดหมายเหตุอยุธยาบันทึกว่าพวกหญิงโสเภณีอยู่ในย่านที่เรียกว่าสำเพ็ง(สำเพ็งเป็นภาษาเขมร แปลว่าหญิงโสเภณี) เมื่อย้ายกรุงลงมาอยู่กรุงเทพฯ ก็ยังยืมเอามาเรียกย่านหญิงโสเภณีว่าสำเพ็งอยู่อีกนาน (สำเพ็งในสมัยนั้นจึงมีความหมายไม่ค่อยดี ที่พวกพ่อแม่บางคนใช้ด่าลูกสาว)อาชีพโสเภณีในยุคศักดินาก็คือสตรีที่ทนต่อสภาพความอดอยากยากแค้นไม่ได้ต้องขายตัวกันมากมาย ยิ่งในสมัยที่ชาวยุโรปเข้ามาค้าขายในกรุงฯ พวกนี้จ่ายเงินไม่อั้น จึงเป็นการยั่วยุให้ผู้หญิงที่หาทางออกของชีวิตไม่ได้หันมายึดอาชีพนี้กันมากขึ้น
ในปลายสมัยอยุธยาผู้หญิงที่ขายตัวกับพวกชาวต่างชาติเพิ่มมากขึ้นจนเลื่องลือ แต่ฝ่ายศักดินาก็มิได้หาทางแก้ไข เพราะเห็นว่าเป็นนิสัยสันดานของผู้หญิงเอง คงเอาแต่เก็บภาษี พวกที่ทนภาษีไม่ไหวก็ลักลอบขายตัวกันลับๆ รัฐบาลศักดินาเห็นว่าทำให้ตนเสียผลประโยชน์จึงออกพระราชกำหนดเมื่อ พ.ศ. 2306 มีความว่า แต่นี้สืบไปเมื่อหน้า ห้ามอย่าให้ไทย มอญ ลาว ลักลอบไปซ่องเสพเมถุนธรรมด้วย แขก ฝรั่ง อังกฤษ คุลา (ชาวทมิฬหรือลังกา) มลายู ซึ่งถือเป็นฝ่ายมิจฉาทิฐิ (พวกนอกศาสนาพุทธ) เพื่อจะมิให้ฝูงทวยราษฎร์ไปสู่อบายทุกข์... ถ้าผู้ใดมิฟังลักลอบไปซ่องเสพเมถุนธรรมด้วยผู้ถือมิจฉาทิฐิ พิจารณาสืบสาวจับได้...เป็นโทษถึงสิ้นชีวิต ฝ่ายพ่อแม่ญาติพี่น้องซึ่งมิได้กำชับห้ามปรามเป็นโทษด้วยตามใกล้แลไกล เป็นอันว่าถ้าเป็นโสเภณีซ่องเสพกับไทยด้วยกันเป็นของถูกต้องดีอยู่แล้วไม่ถือว่าเป็นมิจฉาทิฐิผิดหลักศาสนา เพราะเป็นพุทธด้วยกันรัฐบาลศักดินาได้ผลประโยชน์จากภาษีโสเภณี เป็นจำนวนเงินไม่น้อย สังฆราชปัลเลอกัวซ์บันทึกว่าในสมัยรัชกาลที่ 4 เก็บภาษีโสเภณีได้ถึงปีละ 50,000 บาท
อากรฝิ่น เป็นอากรใหม่ที่เพิ่งตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2394 จำนวนอากรจากการผูกขาดของเจ้าภาษีฝิ่นปีหนึ่งๆ ถึง 2,000 ชั่ง (160,000 บาท) ถ้าเป็นปีอธิกมาส (มี 13 เดือน คือมีเดือน 8 สองหน) ให้เพิ่มภาษีขึ้นอีก 166 ชั่ง 13 ตำลึง 1 บาท สังฆราชปัลเลอกัวซ์บันทึกว่าภาษีฝิ่นสมัยรัชกาลที่ 4 สูงถึง 400,000 บาทต่อปี
เดิมทีเมืองไทยห้ามสูบฝิ่นเด็ดขาด รัชกาลที่ 2 เคยออกประกาศห้ามสูบฝิ่นในปีพ.ศ.2354 ใครสูบฝิ่นจับได้ พิจารณาเป็นสัตย์ จะให้ลงพระอาญา เฆี่ยน 3 ยก ตระเวนบก 3 วัน ตระเวนเรือ 3 วัน ริบราชบาตรบุตรภรรยาและทรัพย์สิ่งของให้สิ้นเชิง ให้ส่งตัวไปเป็นตะพุ่นหญ้าช้าง ผู้รู้เห็นเป็นใจมิได้เอาความมาว่ากล่าวจะให้ลงอาญาเฆี่ยน 60 ที ซ้ำยังได้ตั้งนรกขุมใหม่คือนรกฝิ่น ขึ้นอ้างขู่ประชาชนว่า ครั้นตายไปตกมหาดาบนรก นายนิริยบาล (คือยมบาล) ลงทัณฑกรรมกระทำโทษต้องทนทุกข์เวทนาโดยสาหัสที่สุดมิได้ ครั้นพ้นจากดาบนรกแล้วก็ต้องไปเป็นเปรตวิสัยมีควันไฟพุ่งออกมาจากทางปากจมูกเป็นนิจ
แต่พอมาถึงสมัยรัชกาลที่ 4 กำลังต้องการเงิน เพราะมีสนมกรมในและลูกเธอมากต้องปลูกสร้างวังสร้างสวนที่นาไว้ให้ เงินทองไม่พอใช้ จึงทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้กับเรื่องนรกจกเปรตอะไรที่เคยอ้างไว้ แล้วอนุญาตให้ตั้งภาษีฝิ่น มีเจ้าภาษีผูกขาดขึ้น จนในที่สุดได้มาตั้งเป็นกรมดำเนินการโดยรัฐบาลศักดินาเองในสมัยรัชกาลที่ 6
อากรบ่อนเบี้ย อากรนี้มีมานานโบราณเต็มที โดยให้มีการประมูลตั้งบ่อนการพนันขึ้นตามหัวเมืองและตำบลต่างๆ เปิดให้ประชาชนเข้าเล่นการพนันได้อย่างเสรี (แบบเดียวกับบ่อนคาสิโนของรัฐบาลชุดนายควง อภัยวงศ์ สมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ) ผู้ผูกขาดทำภาษีเปิดบ่อนเบี้ยได้รับตำแหน่งเป็นขุนพัฒนสมบัติทุกคน ซ้ำมีศักดินา 400 ไร่อีกด้วย การพนันที่เล่นกันในบ่อนมีสามอย่าง คือ ถั่ว(เอาถั่วมาทายจำนวนโดยคัดออกทีละสี่แล้วดูว่ามีเศษเท่าใดจ่ายสามต่อ) กำตัด(กำเบี้ย) และไพ่งา(ไพ่หน้าแคบแต่ยาว) ภายหลังเปลี่ยนเป็นถั่ว, โปกำ และโปปั่น(ให้คนแทงปั่นโปให้ตกลงในช่องใดช่องหนึ่งในสี่ช่อง)
อากรบ่อนเบี้ยเป็นรายได้สำคัญของรัฐบาลศักดินา เพราะการละเลยไม่ช่วยพัฒนา ปล่อยให้การเกษตรล้าหลังทำให้เกษตรกรมีรายได้ตกต่ำลงไม่พอเลี้ยงชีวิต ต้องขายตัวเป็นทาสกันมากมาย รายได้ของรัฐก็ต่ำลงฮวบฮาบ ทางเดียวที่รัฐบาลศักดินาจะใช้หาเงินได้ก็คือ เปิดบ่อนการพนันเพื่อขูดรีดประชาชนผู้ไม่มีทางออก ต้องหันเข้ามาเล่นเบี้ย ทำให้รัฐบาลพอหาเงินงบประมาณไปได้ระยะหนึ่ง แต่ไม่ได้แก้ไขปัญหาขั้นพื้นฐานทางเศรษฐกิจ แต่รัฐบาลศักดินาก็พอใจในการแก้ปัญหาแบบปัดสวะให้พ้นทาง โดยเปิดบ่อนทั่วประเทศ ตามสถิติในพ.ศ. 2431 มีบ่อนเบี้ยในกรุงเทพฯ 403 บ่อน ตั้งอยู่ทั่วไปทุกตำบลใน พ.ศ. 2441 มีจำนวนบ่อนเบี้ยตามหัวเมืองต่าง เช่น อยุธยา 71 ตำบล นครไชยศรี 18 ตำบลนครสวรรค์ 26 ตำบล พิษณุโลก 15 ตำบล ปราจีน 33 ตำบล นครราชสีมา 11 ตำบลจันทบุรี 26 ตำบลรวมทั้งนครศรีธรรมราช ชุมพร ราชบุรี ภูเก็ต บูรพา (เขมรใน) และอุดรรายได้จากอากรบ่อนเบี้ยตั้งแต่สมัยอยุธยาเป็นเงินหลายแสนบาท เฉพาะอากรที่มีผู้ขอทำในเมืองราชบุรี สมุทรสงคราม และสมุทรปราการเพียง 3 เมือง เมื่อ พ.ศ. 2299 ก็ตกเข้าไปถึง 29,680 บาทต่อปีแล้ว
รายได้จากอากรบ่อนเบี้ยในสมัยรัตนโกสินทร์ตามที่จอห์น ครอเฟิด ทูตอังกฤษบันทึกไว้เมื่อปี พ.ศ.2365 มีจำนวน 260,000 บาทสมัยรัชกาลที่ 3 อากรบ่อนเบี้ยขยับสูงขึ้นเป็น 400,000 บาท พอถึงรัชกาลที่ 4 เพิ่มขึ้นเป็น 500,000 บาท ตกถึงรัชกาลที่ 5 ได้ปรับปรุงวิธีการเก็บภาษีอากรให้มีระเบียบได้ผลเต็มเม็ดเต็มหน่วยขึ้น โดยตั้งหอรัษฎากรพิพัฒน์ (2418) ได้คิดหาทางเลิกอากรบ่อนเบี้ย เพราะตระหนักว่าการหมกมุ่นเล่นเบี้ยทำให้ผลประโยชน์ของประเทศในด้านอื่นเสียหายไปมากมาย ในสมัยนั้นจึงยุบบ่อนเบี้ยลงเรื่อยเป็นระยะๆ จนในที่สุดเหลือเพียง 5 ตำบลในกรุงเทพฯ บ่อนเบี้ยเพียง 5 แห่งนี้ยังทำเงินให้ถึงปี ละ 6,755,276 บาท(พ.ศ. 2459) จนเลิกเด็ดขาดใน พ.ศ. 2460

อากรหวย ก.ข. เริ่มมีสมัยรัชกาลที่ 3 เมื่อ พ.ศ. 2378 เนื่องจากเกิดเหตุทุพภิกขภัยสองปีซ้อนคือ พ.ศ. 2374 น้ำมากข้าวล่ม พ.ศ. 2375 น้ำน้อยข้าวไม่งาม พวกศักดินาได้พยายามทำพิธีไล่น้ำ(ให้ลด)ก็แล้ว ได้ตั้งพิธีพิรุณศาสตร์(ขอฝน) ก็แล้ว แต่ก็ไม่ได้ผลทั้งพิธีพุทธ พิธีพราหมณ์ ปรากฏว่าข้าวแพงต้องซื้อข้าวต่างประเทศเข้ามาขาย คนไม่มีเงินจะซื้อข้าวกิน ต้องมารับจ้างทำงานเอาข้าวเป็นค่าจ้าง เจ้าภาษีอากรก็ไม่มีเงินจะส่ง ต้องเอาสินค้าใช้ค่าเงินหลวง จีนผูกปี้ ก็ไม่มีเงินจะให้ ต้องเข้ามารับทำงานในกรุง รัฐบาลศักดินาเดือดร้อน คิดไม่ออกว่า ทำไมเงินตราบัว เงินตราครุฑ เงินตราปราสาทได้ทำใช้ออกไปมาก หายไปไหนหมด โดยลืมนึกไปว่า ปกติชาวนาปลูกข้าวขายได้เงินไม่ค่อยพอใช้อยู่แล้ว เมื่อชาวนาปลูกข้าวไม่ได้ แล้วจะเอาเงินที่ไหนมาซื้อข้าวกิน จึงต้องทิ้งที่นามารับจ้างทำงานในกรุง โดยขอค่าจ้างเป็นข้าว เพราะข้าวแพง และหาซื้อยาก เงินที่หายไปก็อยู่ที่พวกพ่อค้าข้าวที่ซื้อข้าวเข้ามาขายกักตุนไว้ และเงินบางส่วนก็ไหลออกไปนอกประเทศเพื่อซื้อข้าว แล้วจะให้ประชาชนเอาเงินมาจากไหนรัชกาลที่สาม ทรงดำริว่าเงินหายไปหมดสงสัยว่าจะเอาไปซื้อฝิ่นเก็บตุนไว้ จึงทรงสั่งให้เผาฝิ่นเสียให้หมด แต่ตัวเงินก็ยังไม่มีในตลาด
จีนหงหรือพระศรีไชยบาน กราบทูลว่า เงินที่หายไปนั้นส่วนใหญ่ก็เพราะราษฎรเอาไปฝังดินไว้เป็นจำนวนมาก ไม่ยอมใช้จ่าย ถ้าเป็นอย่างนี้ที่เมืองจีน แก้ปัญหาโดยการตั้งหวย จึงโปรดเกล้าฯให้จีนหงตั้งหวย ก.ข. ขึ้น โดยออกวันละสองครั้งเช้าเย็น ใช้วิธีชักรอกที่ใส่เบอร์หวยลงมาดูว่าออกเบอร์อะไร โดยเขียนอักษรไทยลงบนแผ่นป้ายรูปคนและชื่อชาวจีน มีทั้งหมด 36 รูป ผู้ถูกรางวัลจะได้ 30 เท่าของเงินที่แทง
เริ่มแรกโรงหวยอยู่ใกล้สะพานหัน ออกหวยตอนเช้าวันละครั้ง ต่อมามีผุ็ขอตั้งโรงหวยอีกแห่งหนึ่งที่บางลำพู ออกหวยวันละครั้งเหมือนกัน แต่เป็นเวลาค่ำ ในปีแรก ได้อากร 20,000 บาท พวกประชาชนที่ตกทุกข์ได้ยากก็หันเข้าหาอาจารย์บอกใบ้หวยหวังรวยกันใหญ่ แทงหวยกันทุกวัน คนละเฟื้องคนละสลึง แทงทุกวันยิ่งเล่นประชาชนก็ยิ่งจนลงทุกวัน ผู้ผูกขาดภาษีกับรัฐบาลก็รวยขึ้นเท่าๆกับที่ประชาชนจนลง อลัชชีฉวยโอกาสก็มอมเมาเป่าเสกบอกหวยเสียจนประชาชนงอมพระรามไปตามๆ กัน
การเล่นหวยระบาดไปจนกระทั่ง พอถึงเดือน 11 ขึ้น 14 ค่ำ 15 ค่ำ มีคนเข้ากรุงเทพฯ มากมายหลายร้อยหลายพัน มาทั้งทางรถไฟแลทางเรือ ถึงเพลาค่ำลงคนแน่นท้องถนน ตั้งแต่หน้าโรงหวยสามยอดไปจนในถนนเจริญกรุง ที่พากันลงมากันมากมายนั้นก็เพื่อมาแทงหวย เพราะหวยมีแต่ในมณฑลกรุงเทพฯ รวมทั้งสิ้น 38 แขวง (เคยไปตั้งที่เพชรบุรีและอยุธยา เล่นเอาคนจนกรอบไปทั้งสองเมือง ภายหลังจึงต้องเลิก)รัฐบาลศักดินาได้รายได้จากการเก็บอากรหวยกข เป็นจำนวนมากมายทุกปี ในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้ปีละราว 200,000 บาท รัชกาลที่ 5 ได้เงินอากรหวยและอากรบ่อนเบี้ยรวมกันถึงปีละ 9,170,635 บาท ภายหลังแม้จะเลิกบ่อนเบี้ยไปมากแล้ว อากรทั้ง 2 อย่างก็ยังรวมกันเป็นจำนวนถึง 6,600,00 บาท (พ.ศ.2458) เฉพาะอากรหวยอย่างเดียวในปีท้ายสุดก่อนเลิกยังได้ถึง 3,420,000 บาท (หวย ก.ข.เลิก พ.ศ. 2459)
นอกนี้ยังมีอากรใหญ่น้อยอีกหลายสิบอย่าง มีรายการยาวเหยียด เช่น ภาษีกระทะ ภาษีไต้ชัน ภาษีพริกไทย ภาษีเขาควาย ฯลฯ สมัยรัชกาลที่ 3 มีภาษีตั้งใหม่ 38 อย่าง ถึงรัชกาลที่ 4 มีเพิ่มขึ้นอีกเป็น 52 อย่าง การผูกขาดภาษี การเก็บอากรต่างๆ และ การเก็บจังกอบจากสินค้า ในสมัยหลังๆได้เริ่มมีการผูกขาดเป็นการร่วมมือกันระหว่างชนชั้นศักดินาผู้ทำการผูกขาดการค้าภายนอก กับชนชั้นกลางผู้ทำการผูกขาดการค้าภายใน
หลังจากรัชกาลที่ 3 เป็นต้นมาก็เกิดการผูกขาดภาษีขึ้นมากมายหลายประเภท รัชกาลที่ 3 ก็ตั้งหน้าตั้งตาสร้างวัดวาอารามขนานใหญ่ ต้องใช้เงินทองมาก จึงยอมรับข้อเสนอและเงื่อนไขในการผูกขาดภาษีของพวกชนชั้นกลางหรือนักผูกขาดที่คอยหาช่องทางวิ่งเต้นขอผูกขาดเก็บภาษีส่งหลวง ตั้งราคาให้ปีละเท่านั้นเท่านี้ โดยรู้ตื้นลึกหนาบางว่าใครมีอำนาจ แล้วเสนอเงื่อนไขแบ่งผลประโยชน์อย่างทั่วถึงตามขนาดของอิทธิพล
เมื่อรัฐบาลศักดินายอมรับเงื่อนไขผลประโยชน์ เจ้าภาษีก็แต่งตั้งนายอากรขึ้นทำการเก็บภาษี เมื่อต้องแย่งกันประมูลส่งเงินหลวงเป็นจำนวนมาก ก็หาทางเก็บนอกเหนือพิกัดอัตราที่กำหนด และหาเรื่องบังคับปรับไหมเอาแก่ราษฎร เกิดการโต้เถียงวิวาทชกตีและเป็นคดีขึ้นโรงศาลอยู่บ่อยๆ เช่น ผูกอากรค่าน้ำ ก็ส่งคนไปเก็บภาษีตามครัวเรือนจากเครื่องดักจับสัตว์น้ำ บางทีก็เรียกจากครัวเรือนซึ่งไม่มีเครื่องดักจับสัตว์น้ำ โดยอ้างว่าถึงไม่ได้จับสัตว์น้ำ แต่เมื่อกินน้ำก็ต้องเสียค่าน้ำ เพราะเป็นภาษีค่าน้ำ ราษฎรที่ไม่รู้เรื่องก็ยอมเสียเงินให้ไปพวกที่รับผูกขาดภาษีกล้วยที่เก็บอากรเป็นกอ แต่เวลาไปเก็บจริง ก็เก็บดะทุกต้น พอเจ้าของไร่กล้วยร้องค้าน ก็อ่านข้อความตราตั้งให้ฟังว่าเก็บเป็นรายต้น เมื่อพบคนอ่านหนังสือออกก็มีเรื่องโต้แย้งเพราะรู้ทันกัน บางทีก็ยกอากรให้เป็นค่าปิดปากไม่ให้โวยวาย
การผูกขาดภาษีต่อมา พัฒนาเป็นการเซ็งลี้สิทธิ์ตราตั้งกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน คือ เจ้าภาษีรับทำภาษีแล้วขายช่วงให้ผู้อื่นเป็นทอดๆไป และผู้ที่ซื้อช่วงไปนั้นก็ไม่ได้เรียกภาษีตามพิกัด แต่ไปหาช่องทางขยับขยาย เรียกเก็บให้เหลือๆเกินๆ เอารัดเอาเปรียบราษฎร ราษฎรที่ไม่ได้รู้พิกัดก็ต้องยอมเสียให้ตามใจผู้เก็บที่รับช่วงไปจากเจ้าภาษีใหญ่ รัฐบาลศักดินาจึงพิมพ์พิกัดอัตราภาษีแจก เป็นการใหญ่ เพื่อป้องกันมิให้เจ้าภาษีนายอากรเก็บภาษีเกินพิกัด ทั้งนี้คงลืมไปว่าต้นเหตุใหญ่นั้นอยู่ที่ระบบผูกขาดภาษี แต่รัฐบาลศักดินาถือว่าการพิมพ์พิกัดแจกเป็นการแสดงให้เห็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างล้นพ้นอย่างหนึ่ง แต่ความจริงก็คือ เจ้าภาษีต่างก็หวังจะให้ได้กำไรมาก จึงใช้อำนาจเอาตามอำเภอใจ เกิดการโต้แย้งกับประชาชนผู้รู้เท่าทันหรือผู้ไม่มีเงินจะเสียอยู่บ่อยๆ พอเป็นคดีความ ก็ต้องไปศาล สมัยนั้นประชาชนธรรมดาจะแต่งทนายว่าความแทนตัวไม่ได้ต้องเป็นขุนนางมียศชั้นขุนถือศักดินา 400 ไร่ขึ้นไปจึงจะให้ทนายว่าความแทนตัวได้
พวกศักดินาก็หากินอยู่กับนายหน้าผูกขาดต่างมีผลประโยชน์ร่วมกัน ใครที่ผูกขาดภาษีก็จะได้รับแต่งตั้งให้เป็นขุนถือศักดินา 400 ไร่ เพื่อที่จะได้มีอภิสิทธิ์ว่าจ้างทนายไปว่าความแทนตัวได้ ไม่เสียเวลาออกไปรีดภาษี เจ้าภาษีกลายเป็นนายทุนนายหน้าผูกขาด ที่อาศัยอำนาจของชนชั้นศักดินาหากินขูดรีดประชาชน เช่น ปกติราคามะพร้าวตกอยู่ในราวร้อยละ 50 สตางค์ (ร้อยผลต่อสองสลึงหรือสองผลต่อหนึ่งสตางค์) เจ้าภาษีขอผูกขาดรับซื้อมะพร้าวแต่ผู้เดียวโดยเข้าถึงสวน ให้ราคาร้อยละ สองสลึงเฟื้อง ซึ่งเป็นราคาสูงกว่าท้องตลาด
แต่พอไปซื้อมะพร้าวในสวนจริงๆ ก็ซื้อถูกๆให้ราคาไม่ถึงอัตราที่สัญญาไว้กับกษัตริย์ แถมยังเกณฑ์เอามะพร้าวแถมอีกร้อยละ 20-30 ผล ครั้นประชาชนขัดขืนไม่ขาย ก็มีผิดฐานขัดขืนเจ้าภาษี เจ้าภาษีก็เที่ยวจับปรับไหมเอาเงินกับราษฎร โดยความเท็จบ้างจริงบ้าง ราษฎรได้รับความเดือดร้อนต่างๆเจ้าภาษีจะอ้างว่าซื้อมะพร้าวมาได้ในอัตราร้อยละสองสลึงเฟื้อง( 62.5 สตางค์)แล้วก็เอามาขายส่งให้ผู้ที่จะทำน้ำมันมะพร้าวโดยเอากำไรเท่าตัวราคาร้อยละ 1.25 บาท (ห้าสลึง) พวกพ่อค้าน้ำมันมะพร้าวก็ต้องยอมรับซื้อโดยดี เพราะถ้าไม่ซื้อจากเจ้าภาษีผู้ผูกขาดก็ไม่รู้จะไปซื้อที่ใคร และน้ำมันมะพร้าวเป็นสินค้าใหญ่บรรทุกไปขายต่างประเทศมีกำไรมาก ประชาชนที่ต้องซื้อน้ำมันมะพร้าวใช้ก็ต้องซื้อในราคาแพงมาก เพราะเจ้าภาษีทำให้ราคามะพร้าวแพงขึ้นไปตั้งเท่าตัวมาตั้งแต่ในสวน พวกนี้บ่นไปก็มีแต่คนสมน้ำหน้าที่มันขี้เกียจไม่รู้จักปลูกมะพร้าวทำน้ำมันใช้เอง แต่ขืนไปเคี่ยวน้ำมันมะพร้าวเองก็ถูกเจ้าภาษีปรับถึง 500 บาท ส่วนในหลวงท่านก็ขออภิสิทธิ์ให้สงวนน้ำมันไว้เป็นส่วยส่งขึ้นมาใช้ในราชการคือ ตามไฟในวัดพระแก้วและแจกไปให้วัดต่างๆ ฯลฯ ท่านไม่เดือดร้อน ผู้เดือดร้อนก็คือประชาชนตามเคย ทำน้ำมันเองไม่ได้ต้องซื้อเขาใช้ราคาแพงลิบตลอดชาติ ความเดือดร้อนในเรื่องมะพร้าวมีไปทั่วเมืองจนในที่สุดรัชกาลที่ 4 จึงต้องเลิกการผูกขาดภาษีมะพร้าวเมื่อ พ.ศ. 2399 ใช้วิธีเก็บใหม่คือเรียกอากรสามต้นสลึง หรือราวร้อยละ 25ในตอนท้ายเมื่อรัชกาลที่ 4 ได้ตั้งภาษีอากรขึ้นใหม่ถึง 14 อย่างแล้ว จึงได้เลิกภาษีมะพร้าวโดยเด็ดขาดเพื่อล้างมลทินที่ได้ทำให้ประชาชนอึดอัดมาแต่ก่อนการผูกขาดภาษีได้ทำกันอย่างทั่วถึง
แม้กระทั่งภาษีผักบุ้งซึ่งเป็นภาษีที่เกิดขึ้นในสมัยปลายอยุธยารัชกาลพระเจ้าเอกทัศ ในรัชกาลนี้บ้านเมืองกำลังเหลวแหลกเต็มที พวกชนชั้นศักดินามัวแต่ ค่ำเช้าเฝ้าสีซอเข้าแต่หอล่อกามา ตัวพระเจ้าเอกทัศเองก็ดื่มเหล้าพระเศียรราน้ำ ซ้ำยังเที่ยวซ่องเสพผู้หญิงซุกซนจนเกิดโรคบุรุษ พระเนตรบอดไปข้างหนึ่ง เมื่อใช้เงินทองกันอย่างฟุ่มเฟือยก็ต้องเร่งเก็บภาษีเป็นธรรมดา ในที่สุดก็หันมาลงเอยเอาที่ผักบุ้ง ทั้งนี้เพราะประชาชนยากจนกินแต่ผักบุ้ง จึงเป็นอาหารของคนจน ภาษีนี้นายสังมหาดเล็กชาวบ้านคูจามเป็นผู้ผูกขาด นายสังผู้นี้เป็นพี่ชายของเจ้าจอมฟักพระสนมเอก ซ้ำน้องสาวของเขาอีกคนชื่อปาน ก็ได้เป็นพระสนมด้วย เมื่อมีน้องสาวเป็นพระสนมทั้งสองคนเช่นนี้ นายสังก็ผูกขาดรับซื้อผักบุ้งแต่ผู้เดียว ใครมีผักบุ้งจะต้องนำมาขายให้นายสังเจ้าภาษี ถ้าลักลอบไปขายผู้อื่นต้องปรับ 20 บาท นายสังกดราคาซื้อไว้เสียต่ำสุด แล้วนำไปขายราคาแพงลิ่วในท้องตลาด เมื่อประชาชนโดนฝีมือนายทุนนายหน้าผูกขาดเข้าเช่นนี้ ก็พากันเดือดร้อนเพราะเดิมทีก็เดือดร้อนมากอยู่แล้วจนถึงกับต้องหนีมากินผักบุ้ง ครั้นจะหนีไปกินหญ้าเหมือนวัวควายก็กินไม่ได้ พากันร้องทุกข์ขุนนางผู้ใหญ่ พวกขุนนางผู้ใหญ่ต่างคนก็กลัวคอจะหลุดจากบ่าต่างคนต่างก็อุบเรื่องไว้
จนวันหนึ่ง พระเจ้าเอกทัศนอนไม่หลับไม่สบายมาหลายวัน จึงให้หาละครมาเล่นจำอวดหรือเล่นตลกแก้รำคาญ ในคณะละครนั้นมีศิลปินของประชาชนได้พยายามแทรกปะปนเข้าไปด้วย 2 คน คือนายแทน กับ นายมี จำอวดทั้งสองคนเล่นเป็นผู้หญิงคนหนึ่งผู้ชายคนหนึ่ง เล่นจับมัดกันเร่งจะเอาเงินค่าราชการ (เงินเก็บกินเปล่ารายปี ปีละ 18 บาท) นายมีตัวจำอวดหญิงจึงแกล้งร้องว่า จะเอาเงินมาแต่ไหน จนจะตาย แต่เก็บผักบุ้งขายยังมีภาษี แกล้งร้องอยู่ถึงสามหน พระเจ้าเอกทัศได้ทรงฟังเข้าก็เกิดละอายพระทัยเพราะอยู่ต่อหน้าธารกำนัล เลยพาลพาโลจะประหารนายสัง แต่เมื่อนึกถึงน้องสาวนายสังที่เป็นสนมเอกทั้งคู่ก็ค่อยคลายพิโรธสั่งเลิกภาษี และชำระเงินที่นายสังกดขี่ปรับเอามานั้นคืนแก่เจ้าของไป
การผูกขาดภาษีทั้งในสมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์ส่วนมากชาวจีนเป็นผู้ผูกขาดแทบทั้งสิ้น เมื่อผูกขาดแล้วก็ได้รับแต่งตั้งเป็นหมื่นเป็นขุนให้มีศักดินา 400 จะได้มีอภิสิทธิ์แต่งทนายว่าความแก่ไพร่ที่ไม่มีปัญญาเสียภาษีแทนตัวเองได้ การเรียกขานเจ้าภาษีจึงมักมีคำว่าจีนนำหน้า เช่น จีนขุนพัฒนสมบัติผูกขาดอากรบ่อนเบี้ย จีนพระศรีชัยบานผูกขาดภาษีค่าน้ำ จีนหมื่นมธุรสวาณิช ผูกขาดภาษีน้ำตาลกรวด จีนขุนศรีสมบัติผูกขาดภาษีเบ็ดเสร็จ (เก็บจากของลงสำเภา) โดยธาตุแท้แล้ว จีนผูกขาดภาษีเหล่านี้ ก็คือ นายหน้าของศักดินาที่ออกแสวงหาผลประโยชน์ให้ศักดินาและทำการขูดรีดแทนศักดินา และในขณะเดียวกันก็ผูกขาด เพื่อหาผลประโยชน์ส่วนตัวของพวกตนด้วย สภาพของจีนพวกนี้จึงเป็นนายทุนนายหน้าผูกขาดของศักดินาหรือนายทุนขุนนางผูกขาด การขูดรีดอย่างหนักของชนชั้นศักดินาทำให้พวกศักดินาเองเริ่มหวั่นเกรงว่า สักวันหนึ่งประชาชนจะมองเห็นความจริงว่า ผู้ขูดรีดที่แท้จริงหรือต้นตอของการขูดรีดก็คือพวกตน
ทำให้พวกศักดินาเริ่มหาทางบิดเบนสายตาของประชาชน คอยออกประกาศเป็นห่วงประชาชน เตือนประชาชนเรื่อยไปว่าระวังนะอย่าเสียภาษีเกินพิกัด ไอ้พวกเจ๊กเจ้าภาษีมันขี้โกงเอาเปรียบราษฎรของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขอให้ราษฎรคอยระวัง คราวนี้ได้พิมพ์พิกัดภาษีอันถูกต้องตามต้นฉบับหลวงมาแจกให้แล้ว พวกเจ้าจงดูจงจำกันเสียให้ดี จะได้ไม่เสียเปรียบไอ้พวกเจ๊กหางเปีย ไม่เช่นนั้นก็จะออกประกาศนานๆครั้ง เช่น สมัยรัชกาลที่ 4 ได้ประกาศห้ามมิให้ขอทำภาษีพลู ว่าเดี๋ยวนี้ไอ้เจ๊กคนนี้ชื่อนี้มันมาขอทำภาษีพลูอีกอย่างหนึ่งแล้ว ในหลวงเห็นว่าราษฎรจะเดือดร้อนจึงไม่อนุญาต ไอ้พวกนี้มันดีแต่จะขูดรีดเอาเปรียบจะเก็บแต่ภาษี ขอห้ามขาดว่าทีหลังอย่าได้มาร้องขออนุญาตทำภาษีพลูทีเดียวนะประชาชนที่ถูกรีดทั้งภาษีอากร จังกอบ ส่วย ฤชา จนแย่อยู่แล้ว ได้แต่นึกเจ็บใจในวาสนาของตัวเองมานานเต็มที พอมีคนเอาตัวที่เขาจะสาปแช่งได้มาให้เห็นเป็นตัวเป็นตน พวกเขาจึงรับเอาไว้ทันที แล้วมันก็ดูสมจริงเสียด้วย ไอ้เจ๊กนี่แหละที่มันขูดรีด ดูซิเมื่อวานนี้บอกว่าไม่มีเงินเสียภาษี วันนี้มันเอาหมายมาเกาะตัวแล้ว ไอ้เจ๊กพวกนี้มันทารุณนัก ใครๆ ก็คิดกันเช่นนี้ จนเกิดความเชื่อกันทั่วไปว่า พวกเจ๊กทั้งหลายเป็นพวกขูดรีดคนไทย ทุกคนต้องเกลียดมัน เจ็บใจมัน
ประชาชนในสมัยศักดินาถูกศักดินามอมเมาเสียจนมองไม่เห็นว่าที่จริงแล้วพวกเจ๊ก ที่เขาด่าแม่นั้นเป็นเพียงนายหน้าของศักดินาเท่านั้น ตัวการสำคัญที่ขูดรีดเอาเปรียบประชาชนนั้นคือศักดินาต่างหาก พวกศักดินาพยายามมอมเมาให้คนไทยเกลียดเจ๊ก มาตั้งแต่โบราณนานเต็มที พวกกวีก็พลอยเกลียดชังจีนไปด้วยถึงกับเขียนไว้ในนิราศพระปฐม ของมหาฤกษ์ว่า : ถึงโรงเจ้าภาษีตีฆ้องดัง ตัวโผนั่งแจ่มแจ้งด้วยแสงเทียนไว้หางเปียเมียสาวขาวสล้าง เป็นจีนต่างเมืองมาแต่พาเหียรที่ความรู้สิ่งไรมิได้เรียน ยังพากเพียรมาได้ถึงใหญ่โตเห็นดีแต่วิชาขาหมูใหญ่ เราเป็นไทยนึกมาน่าโมโหมิได้ทำอากรบ่อนโป มาอดโซสู้กรรมทำกระไร เป็นการปลุกเลือดรักชาติไทยให้ร้อนแรงขึ้นมา แต่เป็นเลือดรักชาติแบบศักดินา และในสมัยต่อมาได้กลายมาเป็นลัทธิคลั่งชาติ
พวกศักดินาได้โฆษณาให้เกลียดชังจีนอย่างหนักหน่วงขึ้นทุกวัน ทั้งนี้เพื่อบิดเบนสายตาของประชาชนไปเสียจากพวกตน ชักชวนประชาชนไทยให้เจ็บใจคนจีน หาว่าคนจีนยึดกุมการค้าไว้หมดแล้ว พวกเรานับวันจะอดตาย แต่พวกศักดินาก็ไม่เห็นทำอะไร นอกจากหลอกลวงให้ประชาชนด่าเจ๊กไปวันๆ รัชกาลที่ 5 เคยแสดงความแค้นใจเช่นนี้ไว้ว่า พิเคราะห์ดูคนไทยตามเสียงเล่าฤๅ มันเหมือนพวกลาวเมืองหลวงพระบาง เจ๊กนี้คือข่า ถ้าไม่ได้อาศัยข่าก็ไม่มีอะไรกิน ข่าขัดขึ้นมาครั้งไรก็ตกใจเหลือเกิน ไปหวั่นหวาดย่อท้อให้พวกเจ๊กได้ใจ...น่าน้อยใจจริงๆ
ถึงสมัยรัชกาลที่ 6 เมื่อกลิ่นอายของประชาธิปไตยกรุ่นขึ้นทั่วไป รัชกาลที่ 6 ก็พยายามระดมให้ประชาชนหันไปเกลียดคนจีนมากขึ้น ชี้ให้ประชาชนเห็นว่าที่ต้องลำบากยากแค้นทุกวันนี้ เป็นเพราะคนจีนในเมืองไทย ไม่ใช่เพราะระบอบศักดินา การแก้ไขมิใช่อยู่ที่เปลี่ยนจากศักดินาเป็นประชาธิปไตย หากอยู่ที่ช่วยกันโจมตีพวกคนจีน แล้วต่างคนก็ต่างนอนกระดิกเท้าเกลียดคนจีนอยู่บนเตียง รัชกาลที่ 6 ทรงรณรงค์เพื่อเบนสายตาและมอมเมาประชาชนจากบทความเรื่อง พวกยิวแห่งบูรพทิศ และ เมืองไทยจงตื่นเถิด ที่เขียนในนามปากกา อัศวพาหุ ทำให้ประชาชนหันมาเกลียดเจ๊กกันพักใหญ่ ตามมาด้วยการรณรงค์ความคิดคลั่งชาติโดยพวกขุนศึกสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ทั้งๆที่เจ้าภาษีคือนายหน้าตัวแทนของศักดินาผู้เป็นตัวการใหญ่ ความเดือดร้อนในเมืองไทยมิได้มาจากพวกชาวจีน หากมันมาจากความร่วมมือระหว่างศักดินากับนายทุนนายหน้าผูกขาด
ถึงแม้จะขับไล่ชาวจีนผู้ผูกขาดภาษีออกไปได้หมดสิ้นไม่หลงเหลือในเมืองไทย ประชาชนไทยก็ยังไม่พ้นจากการขูดรีดภาษีโดยวิธีผูกขาด ตราบใดที่ระบบผูกขาดภาษีของศักดินายังคงอยู่ การขูดรีดแบบนี้ก็ยังคงมีต่อไปแม้จะไม่มีชาวจีนผูกขาด ชาวไทยก็ผูกขาดได้ แม้พวกชนชั้นศักดินาเองก็ผูกขาดได้ เช่น เมืองสงขลา อากรรังนก กุ้งแห้ง มีพระยาสงขลารับผูกขาดเอง เมืองนครศรีธรรมราช มีพระยานครรับผูกขาด บางเมืองเก็บเป็นของหลวงโดยตรง เช่น ฝ้ายเม็ด ฝ้ายบด กรมการเมืองของเมืองปราณบุรีเป็นผู้เก็บให้หลวงโดยได้รับค่าส่วนลด เมื่อได้ทำการผูกขาดภาษีเช่นนี้แล้วถึงจะเป็นไทย เป็นลาว เป็นมอญ เป็นเขมร เป็นฝรั่งตาน้ำข้าวจัดทำการผูกขาด มันก็เดือดร้อนเหมือนกันทั้งนั้น
ความเดือดร้อนมิได้มาจากชาวจีน แต่มาจากระบบผูกขาดภาษีของชนชั้นศักดินาที่พวกศักดินา พยายามปิดบังไว้ นี่คือเล่ห์กลของศักดินาที่พยายามจะบิดเบือนสายตาของประชาชนจากการเกลียดชังระบบผลิตของศักดินา ให้ไปเป็นการเกลียดชังเชื้อชาติ แต่กลับหลงเทิดทูนว่าเจ้าศักดินาเป็นผู้มีพระคุณล้นพ้นแต่เพียงอย่างเดียว


.........

ไม่มีความคิดเห็น: