วันจันทร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

ตำนานๆ009034 : คนไทยโชคดีหรือโชคร้ายที่มีในหลวง

ฟังเสียงพร้อมเพลงประกอบ  :  http://www.4shared.com/mp3/U52FNcjp/The_Royal_Legend_034_.html        
หรือ  : http://www.mediafire.com/?swovv4ru3s3a99y


.....................


กษัตริย์ภูมิพลทรงเลือกนายธานินทร์ กรัยวิเชียรเป็นนายกรัฐมนตรี หลังเหตุการณ์ 6 ตุลา และเรียกแนวทางของพระองค์ว่า ธรรมาธิปไตย เป็นการปกครองแบบพุทธยุคใหม่ที่ ประชาชนจะต้องมีคุณค่าที่สมบูรณ์ และเพียบพร้อมในตนเอง ก่อนที่ประชาธิปไตยจะบังเกิด คืออุดมการณ์ที่เน้นความเป็นเชื้อชาติไทย เป็นชาวพุทธที่เอาแต่ปกป้องเทิดทูนสถาบันกษัตริย์ รวมถึงการสนับสนุนทหารให้แผ่ขยายอำนาจด้วยวิธีการรุนแรงและบีบบังคับ เป็นทิศทางที่พระเจ้าอยู่หัวทรงมุ่งปฏิบัติในปี 2519

ทรงสนับสนุนกระแสคลั่งชาติสุดโต่ง ที่โจมตีและสร้างความแตกแยกในสังคม ด้วยการหันไปเป็นปฏิปักษ์ต่อนักประชาธิปไตย เพื่อปกป้องราชบัลลังก์ โดยทรงลืมสาเหตุที่แท้จริงของปัญหาของประเทศ ความอุบาทว์วิปริตของเหตุการณ์ 6 ตุลา กลับทำให้พระองค์มีพระปณิธานที่เข้มแข็งดื้อรั้นยิ่งขึ้น และทรงอุปถัมถ์สนับสนุนเผด็จการทหารอย่างเต็มขั้น

ทำให้ทรงมีโอกาสตั้งรัฐบาลของพระองค์เองและปกครองราชอาณาจักรของอย่างแท้จริงเป็นครั้งแรก โดยมีนายธานินทร์เป็นตัวแทนพระเจ้าอยู่หัวปราบปรามฝ่ายซ้ายอย่างไม่ปรานีปราศรัย โอนคดีอาญาไปให้ศาลทหาร และตำรวจได้รับอำนาจจับใครกักขังก็ได้ถึงหกเดือน โดยไม่ต้องแจ้งข้อหา เพิ่มโทษกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพให้โหดยิ่งขึ้น มีโทษจำคุก 3 ถึง 15 ปี ทรงมีพระบรมราโชวาทว่านักศึกษาไม่มีหน้าที่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง ควรตั้งใจเรียนอย่างเงียบๆ และปล่อยให้บ้านเมืองเป็นเรื่องของผู้นำและข้าราชการ ขณะที่นักศึกษากล่าวหานายธานินทร์ ว่าไม่เคยสอบสวนเหตุการณ์สังหารหมู่ 6 ตุลาหรือจับกุมผู้กระทำความผิด แต่ผู้ก่อการรัฐประหารกลับได้รับพระราชทานอภัยโทษ

มรว.คึกฤทธิ์ ปราโมชก็ได้เย้ยหยันนายธานินทร์ ว่าเป็นเหมือนเด็กตาใสพูดถึงอุดมการณ์ การเสียสละและการพัฒนาชนบทชาวบ้านไม่มีทางเลือกนอกจากเข้าร่วมกับคอมมิวนิสต์ เพราะรัฐบาลธานินทร์เพิกเฉยโดยสิ้นเชิง ต่อปัญหาสำคัญทั้งหลายทั้งปวง อันเป็นความเป็นความตายของเกษตรกร ที่ภาคใต้ใครที่ดูน่าสงสัยก็จะถูกหาว่าเป็นผู้ก่อการร้าย ถูกจับกุมและหายตัวไปเลย



มรว.คึกฤทธิ์บอกเป็นนัยว่าตัวปัญหาที่แท้จริงคือพระราชินีสิริกิติ์ที่เอาแต่ใจ และเสนอทางถอยให้ในหลวง แต่ในหลวงไม่ยอมถอย ไม่ทรงเห็นว่าการปราบปรามคอมมิวนิสต์แบบตาต่อตาของธานินทร์จะแย่ตรงไหน









หลังจากพล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ (Kriangsak Chomanan) ได้เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดในต้นเดือนตุลาคม เขากับยังเติร์กบีบให้นายกธานินทร์ปลดนายสมัครออก นายธานินทร์ตอบว่ารัฐบาลของเขาเป็นรัฐบาลพระราชทาน จะอยู่หรือจะไปก็ต้องพร้อมกัน แต่การเอาหลังพิงวังคราวนี้ไม่สำเร็จ วันที่ 20 ตุลาคม 2520 ทหารหลายคันรถก็จัดการรัฐประหารโดยได้รับการยอมรับในหมู่ชนชั้นนำจำนวนมากโดยไม่มีการเสียเลือดเนื้อ
แต่การรัฐประหารของพล.อ.เกรียงศักดิ์ครั้งนี้ไม่ได้รับอนุมัติจากวัง แต่เป็นการลบหลู่อย่างใหญ่หลวงต่อความเป็นหนึ่งในสยามของในหลวงภูมิพล ทำให้พระองค์เสียศักดิ์ศรีไปไม่น้อย พลพรรคชาววังได้แพร่กระจายข่าว อย่างเปิดเผยว่าในหลวงไม่ค่อยพอพระทัยกับการรัฐประหารคราวนี้ เพราะพระองค์ยอมรับการเปลี่ยนรัฐบาลตามครรลองประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญเท่านั้น และในหลวงภูมิพลตรัสว่า การรัฐประหารของเกรียงศักดิ์ทำให้ประเทศไทยดูตกต่ำเป็นราชอาณาจักรกล้วยหอม เหมือนสาธารณรัฐกล้วยหอม (Banana Republic) คือประเทศเล็กๆในอเมริกาใต้ที่การเมืองไม่มั่นคง มีการยึดอำนาจกันเป็นประจำและมักจะมีผลผลิตหลักเป็นพืชผลทางเกษตร เช่น กล้วยหอม

นายกเกรียงศักดิ์สัญญาจะให้เสรีภาพแก่สื่อมวลชน ยกเลิกกฎอัยการศึก และสานสัมพันธ์กับอินโดจีน จีนและสหภาพโซเวียต เขาบอกว่าแผนจุฬาลงกรณ์ ของนายธานินทร์ที่จะคืนประชาธิปไตย ภายใน 12 ปีนั้นนานเกินไป และให้คำมั่นที่จะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และจัดการเลือกตั้งภายในปี 2522
นายกเกรียงศักดิ์พยายามจัดการแก้ปัญหาในรายงานธนาคารโลกปี 2521 ที่ระบุว่าคนไทย 9 ล้านคนยังคงแร้นแค้นยากจน รายได้คนชนบทกับคนชั้นล่างในเมืองลดลงเรื่อยๆ เป็นการสวนทางความเชื่อของพวกนิยมกษัตริย์ ที่ว่าการมีพระเจ้าอยู่หัวจะทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของพสกนิกรดีขึ้น รัฐบาลเกรียงศักดิ์ยังประกาศประนีประนอมกับพวกคอมมิวนิสต์ โดยให้หลักประกันความปลอดภัย และความยุติธรรมแก่นักศึกษาที่กลับออกมาจากป่า ความริเริ่มเหล่านี้ได้รับความเห็นพ้องอย่างกว้างขวาง

กระนั้นกษัตริย์ภูมิพลก็ยังทรงทำประชดแดกดันนายกเกรียงศักดิ์ โดยทรงตั้งนายธานินทร์เป็นองคมนตรีอย่างเอิกเกริก เพื่อชดเชยการร่วงลงจากอำนาจอย่างยับเยินหมดสภาพ ทรงจำกัดการข้องแวะกับนายกเกรียงศักดิ์ในทางสาธารณะ และไม่ยอมทรงเครื่องแบบทหารในวาระต่างๆ ทั้งยังทรงหน่วงเหนี่ยวการนิรโทษกรรมสำหรับนักศึกษา 18 คนไปอีกหนึ่งปี เพราะทรงไม่สบอารมณ์ แถมคิดจะแต่งตั้งนายสมัครเป็นหัวหน้าสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์
นายกเกรียงศักดิ์ปรามกลุ่มอันธพาลการเมืองที่เคยก่อความวุ่นวายในปี 2519 โดยเข้ากุมตชด. ลดสายสัมพันธ์ของตชด.กับลูกเสือชาวบ้าน นวพลหายไป กระทิงแดงถูกส่งไปสู้รบบริเวณชายแดนซึ่งตายไปหลายคน นายกเกรียงศักดิ์ได้ลดระดับการสู้รบทางทหาร เพื่อเริ่มยุทธศาสตร์ใหม่ที่เน้นการเอาชนะใจพวกคอมมิวนิสต์ รัฐบาลประกาศนิรโทษกรรมแก่นักศึกษา 18 คนในเดือนกันยายน 2521 ประจวบเหมาะกับที่ พคท.เริ่มแตกกันเอง


นายกเกรียงศักดิ์ขอให้ฮานอย ปักกิ่งและเวียงจันทน์ลดการช่วยเหลือพคท.ไม่นานสมาชิกระดับสูงของพคท.บางส่วนก็ยอมแพ้และกลับมากรุงเทพฯ การนิรโทษกรรมดึงคนออกจากป่าได้ราว 400 คนในปี 2521 นับเป็นจุดเริ่มต้นการเสื่อมสลายของพคท.




รัฐบาลเกรียงศักดิ์ต้องการให้วังเป็นกลางทางการเมือง จึงจำกัดกิจกรรมลูกเสือชาวบ้าน ในหลวงภูมิพลจึงต้องหวนกลับมาใช้วิธีเดิมเหมือนตอนแรกๆที่ขึ้นครองราชย์ คือ
เร่งขยายงานพระราชพิธีและพระราชกรณียกิจ เพื่อสร้างพระบุญญาบารมี




และยังได้เสริมเครือข่ายพันธมิตรของวัง ด้วยการแจกเครื่องราชแก่ข้าราชการและทหารชั้นสูง ซึ่งบรรดาภรรยาจะได้คำนำหน้าชื่อ เป็นท่านผู้หญิงกับคุณหญิง เครื่องราชขึ้นกับจำนวนเงินที่บริจาคที่เติบโตขึ้นจากการโฆษณาชวนเชื่อให้คนเกลียดกลัวภัยคอมมิวนิสต์หรือผกค. มีการแลกเปลี่ยนกับเครื่องรางของขลังของพระองค์ ในการออกงานที่วัดแห่งหนึ่งในเยาวราชย่านพ่อค้าชาวจีน ได้มีผู้บริจาค 120 คนรับพระราชทานพระเครื่องด้วยราคาถึงองค์ละ 20,000 บาท

การทํารัฐประหารของพลเอกเกรียงศักดิ์ล้มรัฐบาลธานินทร์ที่เป็นตัวแทนของพระเจ้าอยู่หัวในปี 2520 ทำให้พระองค์ตระหนักว่าการมีร่างทรงที่เป็นพลเรือนนั้นไม่เพียงพอ พระองค์จำต้องมีขุนทหารที่เป็นมือเป็นเท้าของพระองค์ และสามารถกุมกองทัพไว้ในมือได้เพื่อสนองพระราชประสงค์ได้อย่างเต็มที่และอย่างมั่นคง บุคคลที่ดูจะมีคุณสมบัติเพียบพร้อมในสายพระเนตร คือพลเอกเปรม รัฐมนตรีคนหนึ่งรัฐบาลเกรียงศักดิ์ ซึ่งทรงต้องผลักดันพลเอกเปรมให้ได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป

พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ (Prem Tinsulanond ) เกิดเมื่อ 26 สิงหาคม 2463 แก่กว่าในหลวง 7 ปี เป็นคนสงขลา เป็นทหารอาชีพ เป็นผู้บังคับบัญชาที่มีความเข้มงวดสูง แต่ลูกน้องรัก เป็นสมาชิกสภาหลายสมัยติดต่อกัน เป็นแม่ทัพภาคที่สองรับผิดชอบพื้นที่ภาคอิสาน ทำสงครามปราบปรามผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์โดยใช้การเมืองนำการทหาร ผสานการพัฒนาสังคมกับการทางทหารที่เด็ดขาด และเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกอรมน.ที่มีเพื่อนเก่าแก่ที่สุดคนหนึ่งคือพลตรีสุตสาย หัสดินที่เป็นหัวหน้ากระทิงแดง

เปรมเป็นคนพูดเบามากและเคารพระบบอาวุโสและลำดับชั้นอย่างเข้มงวด เป็นคนที่สุภาพเรียบร้อยมาก จนไม่มีใครสามารถเปิดเผยรสนิยมรักร่วมเพศของเขาได้ เป็นคนหนักแน่น และมีวินัย แต่ค่อนข้างเจ้าเล่ห์ ไม่ตรงไปตรงมา ถนัดเรื่องลับลวงพรางและปิดบังเส้นสายพรรคพวกของตน ชอบเล่นพรรคเล่นพวกและการประจบสอพลอจากผู้ใต้บังคับบัญชา เป็นพวกเจ้ายศเจ้าอย่างทำตัวเหมือนเป็นเชื้อพระวงศ์ ที่ไม่ส่งเสริมทหารอาชีพแบบที่ตนเองได้เคยเป็นมา เป็นคนพูดน้อย

ในเดือนสิงหาคม 2521 นายกเกรียงศักดิ์เตรียมเสนอชื่อพลเอกเสริม ณ นคร ควบตำแหน่งผบ.สูงสุด และ ผบ.ทบ. แต่มรว.คึกฤทธิ์ได้เขียนลงสยามรัฐสนับสนุนพลเอกเปรม เชื่อกันว่าเป็นการส่งสัญญาณจากวัง และนายกเกรียงศักดิ์ก็เสนอชื่อพลเอกเปรม เป็นผบ.ทบ.จากผู้ช่วยผบ.ทบ.เพียงปีเดียว และพลเอกเปรมยังได้ย้ายคนของตนเข้ากุมตำแหน่งสำคัญ เพิ่มอำนาจต่อรองในวุฒิสภา พลเอกเปรมวิจารณ์โจมตีรัฐบาลเกรียงศักดิ์อย่างหนัก มรว.คึกฤทธิ์ หัวหน้าพรรคกิจสังคมก็ยื่นเรื่องขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลเกรียงศักดิ์ในต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2523 และกลุ่มยังเติร์กที่เคยหนุนเกรียงศักด์ขึ้นสู่อำนาจ ก็หันมาสนับสนุนให้พลเอกเปรมขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี

ในหลวงภูมิพลโปรดฯ ให้นายกเกรียงศักดิ์และพลเอกเปรมเข้าเฝ้าฯที่เชียงใหม่ ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2523 ในวันถัดมา นายกเกรียงศักดิ์ก็ลาออก และพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงสั่งให้มรว.คึกฤทธิ์ต้องเรียกประชุมสภา เพื่อสนับสนุนพลเอกเปรมเป็นนายกฯ โดยพลเอกเปรมได้กล่าวคําปฎิญาณในการรับตำแหน่งในวันที่ 3 มีนาคม 2523ว่า ตนเป็น รัฐบาลในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

พลเอกเปรมเข้าใจดีว่าพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลไม่มีพระประสงค์ที่จะบริหารราชการแผ่นดินแบบวันต่อวัน แต่ทรงต้องการให้มีคนที่ไว้ใจได้คอยรับสนองพระบรมราชโองการหรือพระราชประสงค์เป็นครั้งคราวเท่านั้น พลเอกเปรมได้เปิดศักราชใหม่ของการประจบประแจงเทิดทูนวัง ขณะที่พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลทรงทำการแทรกแซงอย่างไม่กระดากพระทัยเป็นประจำ ส่วนพลเอกเปรมก็ไม่มีความเหนียมอายที่จะเอาหลังพิงวังจนเป็นที่ทราบกันดีว่า

เมื่อใดก็ตามที่พลเอกมีรอยฟกช้ำดำเขียว เขาก็จะตรงเข้าวังเพื่อฉีดยาและกระชุ่มกระชวยกลับออกมา และเมื่อพลเอกเปรมโผล่ออกมาจากสวนจิตร บรรดาปรปักษ์ของเขาก็จะพากันหดหัวไปอย่างรวดเร็ว การบริหารราชการของพลเอกเปรมจึงมีแต่การเล่นพรรคเล่นพวกที่ประจบเอาใจวัง ทำให้กองทัพเต็มไปด้วยการแบ่งพรรคแบ่งพวกกับความหย่อนยานทางวินัย รัฐบาลจึงไม่มีเสถียรภาพและมีหลายครั้งที่ปั่นป่วนรุนแรง

พลเอกเปรมได้ขยายอำนาจทางทหารในรูปของคำสั่งนายกรัฐมนตรี 66/2523 และ 65/2525 เปลี่ยนนโยบายต่อต้านคอมมิวนิสต์ขนานใหญ่ ทำให้กองทัพมีบทบาทครอบงำการบริหารประเทศ มีอำนาจเหนือรัฐสภาและรัฐธรรมนูญ
พลเอกเปรมเป็นนายกรัฐมนตรีในปี 2523 โดยควบตำแหน่งรัฐมนตรีกลาโหมและผบ.ทบ. ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควร แต่พระเจ้าอยู่หัวก็ทรงโปรดเกล้าฯเห็นดีเห็นงาม แต่ก็ยอมๆกันไป เพราะว่าพลเอกเปรมจะเกษียณจากทหารเมื่ออายุ 60 ในเดือนตุลาคมปีนั้น

แต่พอปลายสิงหาคม 2523 นายทหารที่นำโดยพล.ต.อาทิตย์ กำลังเอก ดาวรุ่งและคนโปรดของพระราชินีสิริกิติ์ เรียกร้องให้ต่ออายุราชการของพลเอกเปรม ในวันที่ 1 กันยายน 2523 พลเอกเปรมก็กลับออกมาจากการเข้าเฝ้าในหลวงและประกาศว่าพระเจ้าอยู่หัวทรงสนับสนุนการต่ออายุราชการให้ตน เมื่อรัฐมนตรีเรียกร้องขอข้อพิสูจน์ พวกเขาก็ถูกเรียกให้เข้าเฝ้าในหลวง แล้วพวกเขาก็กลับออกมา และสนับสนุนการต่ออายุราชการให้พลเอกเปรม


เศรษฐกิจถดถอย หลังจากพลเอกเปรมเป็นรัฐบาลไม่ถึงปี พรรคการเมืองร่วมรัฐบาลก็เริ่มโวยวายแถม
มีเรื่องทุจริตอื้อฉาวหลายกรณี และพลเอกเปรมจะขอต่ออายุราชการในฐานะผบ.ทบ. อีกปีหนึ่ง เมื่อต้นปี 2524 รัฐมนตรีหลายคนลาออก มรว.คึกฤทธิ์ก็ถอนพรรคกิจสังคมออกจากการร่วมรัฐบาล
แต่พลเอกเปรมดึงพรรคการเมืองปีกขวา-และพวกทหารเข้ามาร่วมจัดตั้งรัฐบาล ให้พล.ต.สุตสาย หัสดิน เจ้าพ่ออันธพาลกระทิงแดงกับ พล.อ. ประจวบ สุนทรางกูรเป็นรัฐมนตรี

คืนวันที่ 31 มีนาคม 2524 นายทหารกุมกำลังจำนวนมากของกองทัพพยายามก่อรัฐประหารที่เรียกกันว่า กบฏเมษาฮาวาย เมื่อวันที่ 1 - 3 เมษายน 2524 เพื่อยึดอำนาจการปกครองของพลเอกเปรม ผู้ก่อการประกอบด้วยนายทหารซึ่งจบจากโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่น 7 หรือ รุ่นยังเติร์ก ได้แก่ พันเอกมนูญ รูปขจร พันเอกประจักษ์ สว่างจิตร พันโทพัลลภ ปิ่นมณี โดยมี พลเอกสัณห์ จิตรปฏิมา รองผู้บัญชาการทหารบก เป็นหัวหน้าคณะได้เริ่มก่อการเมื่อเวลา 2.00 น. ของวันที่ 2 เมษายน โดยจับตัว พลเอกเสริม ณ นคร ผบ.สูงสุด พลโทหาญ ลีลานนท์ พลตรีชวลิต ยงใจยุทธ ไว้ที่หอประชุมกองทัพบก และออกแถลงการณ์คณะปฏิวัติ

พลเอกเปรมได้ทูลเชิญพระเจ้าอยู่หัว พระราชินีและพระบรมวงศานุวงศ์ เสด็จประทับกองทัพภาคที่ 2 ค่ายสุรนารี นครราชสีมา ตั้งกองบัญชาการตอบโต้ และปลดผู้ก่อการออกจากตำแหน่งทางทหาร โดยได้กำลังสนับสนุนจาก พลตรี อาทิตย์ กำลังเอก รองแม่ทัพภาคที่ 2 การกบฏสิ้นสุดลงโดยไม่ได้มีการต่อสู้กัน ผู้ก่อการเดินทางออกนอกประเทศ พลตรีอาทิตย์ กำลังเอก ได้รับความไว้ใจจากพลเอกเปรม ได้เลื่อนเป็นพลโท เป็นแม่ทัพภาคที่ 1 คุมกองกำลังรักษาพระนคร เป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบกใน 6 เดือนต่อมา

พลเอกเปรมมีอำนาจที่มั่นคงขึ้นจากท่าทีรับรองของในหลวงทั้งๆที่มีปัญหาเศรษฐกิจรุมเร้าไปทั่วประเทศ ผู้นำทหารก็เพลิดเพลินไปกับการได้เข้าเฝ้าเข้าวัง เนื่องจากพระราชินีสิริกิติ์ทรงโปรดการแวดล้อมด้วยบรรดานายตำรวจนายทหาร ภรรยาของพวกเขา ได้เป็นนางสนองพระโอษฐ์ แขกประจำงานเลี้ยงของพระราชวังคือนายทหาร ที่จะผลัดกันเต้นรำกับพระราชินีสิริกิติ์และร้องเพลงโดยในหลวงภูมิพลทรงเป่าแซ็กโซโฟน

รัฐบาลเปรมพยายามหาทางต่อบทเฉพาะกาลรัฐธรรมนูญ 2521 ที่ให้ทหารประจำการควบตำแหน่งทางการเมือง เป็นวุฒิสมาชิกและรัฐมนตรีได้ ซึ่งจะสิ้นสุดในเดือนเมษายน 2526 ในเดือนมกราคม 2526 พลเอกเปรมขยับที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ทหารควบตำแหน่งทางการเมืองได้ แต่เมื่อเผชิญการต่อต้านคัดค้าน พลเอกพิจิตร กุลละวณิชย์ ลูกน้องของพลเอกเปรมก็ออกมาขู่ว่า อาจจะมีการเอ็กเซอร์ไซส์ หรือการตบเท้าสำแดงกำลัง หากกองทัพไม่ได้ในสิ่งที่ต้องการ

พระเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯ เปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยวุฒิสภาที่ส่วนใหญ่เป็นทหารสามารถผ่านวาระที่หนึ่งและสอง ที่ใช้เพียงเสียงข้างมากของรัฐสภา วาระที่สามในวันที่ 16 มีนาคม 2526 ต้องใช้เสียงสองในสาม และฝ่ายทหารก็แพ้ไปอย่างเฉียดฉิว แต่พระเจ้าอยู่หัวภูมิพล รีบโปรดเกล้าฯ ให้ยุบสภา วันที่ 19 มีนาคม 2526 และให้เลือกตั้งวันที่ 18 เมษายน 2526 หรือแค่ภายใน 30 วัน เพื่อให้รัฐบาลใหม่ได้ตั้งขื้นก่อนบทเฉพาะกาลสิ้นสุดลง คือก่อน 21 เมษายน 2526 โดยใช้บทเฉพาะกาลต่อไปได้สี่ปี

พรรคชาติไทยที่ได้สส.มากที่สุดจากต่างจังหวัด ที่นำโดยพลตรีประมาณ อดิเรกสาร กับ พลตรีชาติชาย คู่เขยจอมทุจริตที่เป็นพวกอันธพาลการเมืองปีกขวาในปี 2519 พลเอกเปรมใช้ประโยชน์จากความกลัวพลตรีประมาณ บีบให้พรรคอื่นสนับสนุนตน และเขี่ยพรรคชาติไทยไปเป็นฝ่ายค้าน โดยเลือกลูกน้องของตนที่ไม่ได้เป็นสส.มาเป็นรัฐมนตรีกว่าสิบคน พระเจ้าอยู่หัวก็ทรงมีพระบรมราโชวาทในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาธันวาคม 2526 ด้วยการเทศนา ดูถูกเหยียดหยามนักการเมืองและข้าราชการ เรื่องความไม่เอาไหนในการแก้ปัญหาน้ำทวมกรุงเทพฯชั้นใน แทนที่จะระบายน้ำออกสู่ทะเล กลับขยับให้ไปท่วมพื้นที่อื่นต่อๆกันไป อย่างโง่ๆ ไร้ความสามารถ ไม่เหมือนกองทัพ

พลเอกเปรมรีบปกป้องเทิดทูนสถาบันกษัตริย์ โดยทันทีที่เป็นนายกฯ ในปี 2523 ก็รีบฟื้นโครงการก่อสร้างอนุสาวรีย์ รัชกาลที่ 7 ที่รัฐสภา ซึ่งริเริ่มโดยรัฐบาลธานินทร์ในปี 2519 โดยมีพิธีแห่แหนอย่างเอิกเกริก ในการเปิดอนุสาวรีย์นี้ในวันรัฐธรรมนูญปี 2523 และได้ปลดอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ออกจากรายการคุ้มครองมรดกแห่งชาติ โดยคิดจะทุบทิ้งเพื่อลบภาพการปฏิวัติ 24 มิถุนา 2475
พลเอกเปรมรับภาระในการจัดการกับคนสองคนที่ยังเหลืออยู่คือ นายปรีดี พนมยงค์ และ พระพิมลธรรม ขณะนั้นนายปรีดีอยู่ที่ปารีส อายุ 80 ปี อยากกลับบ้านหลังจากอยู่เมืองนอกมานานกว่า 30 ปี ครอบครัวและเพื่อนฝูงของนายปรีดี ได้ถวายฎีกาต่อพระเจ้าอยู่หัว ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้นายปรีดีกลับไทย แต่พระเจ้าอยู่หัวทรงกลัวว่านายปรีดีเป็นภัยคุกคามทางการเมือง
พลเอกเปรมจึงออกอุบายรับมือแทนในหลวงภูมิพล โดยรัฐบาลปล่อยข่าวอย่างไม่เป็นทางการว่านายปรีดีสามารถกลับมาได้ และวังไม่ได้ติดใจกรณีสวรรคตของในหลวงอานันท์ แต่ก็ไม่เคยมีการอนุญาตเป็นทางการ ราวกับว่ามันไปติดขัดอยู่ตรงระเบียบขั้นตอนที่ไหนสักแห่งและไม่รู้ว่าใครรับผิดชอบ


กระทั่งนายปรีดีถึงแก่กรรม ที่ปารีสในวันที่ 2 พฤษภาคม 2526 ศพของนายปรีดีถูกนำกลับไทย แต่รัฐบาลพลเอกเปรมปฏิเสธที่จะจัดพิธีศพให้อย่างเป็นทางการ และพระเจ้าอยู่หัวทรงปฏิเสธที่จะพระราชทานเพลิงศพ ซึ่งพระองค์จะพระราชทานเพลิงศพให้ผู้นำไทยทุกคนยกเว้นจอมพลป.คนไม่เอาเจ้า แสดงให้เห็นถึงความพยาบาทผูกใจเจ็บของพระเจ้าอยู่หัวที่มีต่อนายปรีดีอย่างลึกซึ้ง ทั้งๆที่นายปรีดีเป็นคนเสนอต่อรัฐสภาในวันที่ในหลวงอานันท์สวรรคต แต่งตั้งเจ้าฟ้าภูมิพลเป็นพระมหากษัตริย์ ทำให้ทรงรอดจากการเป็นจำเลยคดีปลงพระชนม์ ไม่ต้องถูกประหารชีวิต

ส่วนพระพิมลธรรม เป็นพระที่มีผลงานมีความรู้ความสามารถมีความคิดที่ก้าวหน้าที่วังถือว่าเป็นศัตรู และเป็นปัญหายิ่งกว่านายปรีดี หลังจากถูกสฤษดิ์จับสึก และขังคุกด้วยข้อกล่าวหาเท็จช่วงทศวรรษ 2500 พระพิมลธรรมได้สมณเพศกลับคืนมาในทศวรรษ 2510 ปลายปี 2523 เจ้าอาวาสวัดมหาธาตุมรณภาพ พระลูกวัดสนับสนุนพระพิมลธรรมกลับมาเป็นเจ้าอาวาส แต่มหาเถรสมาคมที่ถูกควบคุมโดยพระราชวังและรัฐบาลเปรมกลับทำเพิกเฉย ไม่ตั้งใครเป็นเจ้าอาวาสวัดที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ จนเวลาผ่านไปถึงเก้าเดือน

มีการวิพากษ์วิจารณ์ และขู่เคลื่อนไหวประท้วงของพระ ทำให้มหาเถรสมาคมต้องยอม พระพิมลธรรมจึงได้กลับมาเป็นเจ้าอาวาส แต่ชั้นยศสูงสุดของพระคือสมเด็จ มีหกอัตรา ทั้งเป็นกรรมการมหาเถรสมาคมและคัดเลือกให้เป็นสังฆราช ชั้นรองสมเด็จ มีสิบสองอัตรา โดยพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานสมณศักดิ์ จากการเสนอของมหาเถรสมาคม และกรมการศาสนา ในวันเฉลิมพระชนมพรรษา

พระพิมลธรรมได้ขี้นชั้นรองสมเด็จในทศวรรษ 2490 แต่ถูกจอมพลสฤษดิ์สั่งถอดยศ และเพิ่งได้คืนมาในปี 2518 ท่านจึงมีคุณสมบัติสมบูรณ์ที่จะเลื่อนชั้นเป็นสมเด็จ แต่วังปฏิเสธ เมื่อสมเด็จหนึ่งในหกรูปมรณะภาพในเดือนกรกฎาคม 2526 เกิดกระแสเรียกร้องให้พระพิมลธรรมเป็นสมเด็จ เพราะท่านมีคุณสมบัติมากกว่าใครอื่น โดยท่านได้เป็นรองสมเด็จก่อนพระอีกสองรูปที่ได้เป็นสังฆราชไปแล้ว สภาสงฆ์อิสานลงคะแนนสนับสนุนท่านอย่างเป็นเอกฉันท์

พลเอกเปรมกับวังรับมือด้วยการขุดข้อกล่าวหาว่า พระพิมลธรรมเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคง ของชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ขึ้นมาใหม่ เพราะวิตกว่าพระพิมลธรรมเป็นผู้ชิงตำแหน่งสังฆราช ซึ่งมีการเตรียมสมเด็จรุ่นน้องของพระพิมลธรรมไว้แล้ว คือ พระญาณสังวร พระพี่เลี้ยงของในหลวงนั่นเอง

พระราชวังและพลเอกเปรม ใช้วิธีหน่วงเหนี่ยวถ่วงเรื่อง แบบเดียวกับกรณีการขอกลับบ้านของนายปรีดี มีกระบวนการสกัดกั้นโดยทำให้ดูเหมือนเป็นอุบัติเหตุ มหาเถรสมาคมทำเพิกเฉยในตอนแรก พอ 20 พฤศจิกายน ก่อนวันเฉลิมพระชนมพรรษาไม่กี่วัน เจ้าคณะภาคอีสานเสนอชื่อพระพิมลธรรมอย่างเป็นทางการ แปดวันต่อมาพระสังฆราชให้กรมการศาสนาบรรจุเรื่องนี้เข้าในวาระการประชุม แต่พอประชุมกลับไม่มีในวาระ ภายหลังมีคำอธิบายว่า หนังสือของพระสังฆราช ถูกนำไปวางไว้ผิดที่ ทำให้หาไม่เจอ และไม่มีการแต่งตั้งสมเด็จองค์ใหม่ในวันที่ 5 ธันวาคมปีนั้น พอกลางปี 2527 พระชั้นสมเด็จมรณภาพไปอีกหนึ่งราย ทำให้เหลือว่างสองตำแหน่ง วันเฉลิมพระชนมพรรษาในปีนั้นผ่านไปอีก โดยไม่มีการแต่งตั้งพระชั้นสมเด็จอีกปีหนึ่ง

จึงเป็นที่ชัดเจนว่า พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลทรงปฏิเสธพระพิมลธรรม พระพิมลธรรมอายุ 83 ปีและวังก็เพียงแต่เฝ้ารอให้ท่านมรณภาพ เหมือนรอให้นายปรีดีถึงแก่กรรม ปี 2528 ผ่านไปโดยปราศจากการแต่งตั้งใด ๆ เจ้าคณะจังหวัดภาคอิสาน 17 รูปขู่ว่าจะคืนสมณศักดิ์ และเครื่องราชย์ที่ได้รับพระราชทานจากพระเจ้าอยู่หัว เป็นการประกาศแยกตัวจากมหาเถรสมาคม

วังทนถูกด่าต่อไปไม่ไหว จึงต้องโปรดเกล้าฯ พระราชทานสมณศักดิ์ให้พระพิมลธรรมเป็นสมเด็จ อีกอัตราหนึ่งตกเป็นของพระอนุรักษ์นิยมเจ้า ถึงตอนนั้นพระพิมลธรรมก็แก่เกินไปที่จะสร้างปัญหาได้ ท่านมรณภาพในอีกไม่กี่ปีต่อมา และสมเด็จพระญาณสังวรก็ขึ้นเป็นสังฆราชตามพระราชประสงค์

เมื่อได้จัดการกำจัดเสี้ยนหนาม ที่เป็นพยานคนสำคัญต่ออดีตอันน่าอัปยศของในหลวงไปเรียบร้อยแล้ว พลเอกเปรมก็โหมการเทิดทูนพระเจ้าอยู่หัว และวัฒนธรรมคลั่งเจ้า เริ่มด้วยการฟื้นประเพณีหมอบกราบ โดยพลเอกเปรมพยายามทำให้เห็นเป็นแบบอย่าง พลเอกเปรมเข้าเฝ้าพระเจ้าอยู่หัวอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง ด้วยลีลาที่เหมือนสมัยเมื่อร้อยปีก่อนคือการหมอบกราบและจะกราบบังคมทูลด้วยสุ้มเสียงกระซิบกระซาบแผ่วเบาอย่างเจียมเนื้อเจียมตัวก็ต่อเมื่อพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสก่อนเท่านั้น

พลเอกเปรมสวมเสื้อไหมไทยคอตั้ง เรียกว่า ชุดพระราชทาน ซึ่งย้อนยุคไปถึงสมัยรัชกาลที่ห้า ทำให้บรรดาข้าราชการ นักการเมือง และนักธุรกิจที่ต่างพากันแต่งชุดพระราชทานเป็นชุดทำงาน ไฮโซ และพวกต้องการยกสถานะตนเองทางสังคมก็จะแข่งกันบริจาคเงินและเข้าร่วมงานพระราชพิธีต่างๆ ที่พลเอกเปรมเป็นผู้ดูแลอุ้มชู และมีศูนย์กลางอยู่ที่โรงแรมดุสิตธานีซึ่งเป็นสถานที่ประจำสำหรับจัดงานลีลาศการกุศล กลายเป็นสถานที่ที่นักธุรกิจ นักการเมือง นายพลกับบรรดาภรรยาทั้งหลายมาออกงานและตกลงเรื่องธุรกิจ การแต่งตั้งโยกย้ายเลื่อนตำแหน่ง การให้สัญญาและสัมปทานของรัฐตามใบสั่งของวัง

พลเอกเปรมใช้งบประมาณของประเทศในการสร้างพระตำหนักหลายแห่ง ให้กับพระบรมวงศานุวงศ์ เช่น ชาเล่ตข์นาดใหญ่บนยอดเขาที่เชียงรายสำหรับพระราชชนนีศรีสังวาลย์ที่เสด็จมาประทับเมืองไทยเป็นการถาวรในช่วงปลายทศวรรษ 2520 สั่งให้การบินไทย การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยและการไฟฟ้าฝ่ายผลิต จัดงบประมาณโฆษณาเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ทุกวันสำคัญ มีการเผยแพร่พระราชกรณียกิจต่างๆ ของพระราชวงศ์ตามโทรทัศน์และวิทยุอย่างเต็มที่ วันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระเจ้าอยู่หัวและของพระราชินี ถูกยกให้เป็นวันพ่อและวันแม่แห่งชาติ

เมื่อสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระมเหสีในรัชกาลที่ 7 สิ้นพระชนม์ในเดือนพฤษภาคม 2527 พลเอกเปรมได้ขยายเวลาไว้อาลัยจากปกติ 100 วันเป็น 11 เดือน (หรือราว 330 วัน) และรัฐบาลเปรมได้จัดพระราชพิธีพระราชทานเพลิงศพอันยิ่งใหญ่สุดอลังการในเดือนเมษายน 2528 ใช้เงินหลายร้อยล้านบาท ท่ามกลางภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจในขณะนั้น มีเมรุประดับทองสูง 29 เมตร ขบวนแห่ยาวสามกิโลเมตร ประกอบด้วยราชรถสีแดงและสีทองนำพระบรมศพที่บรรจุในโกศประดับอัญมณี พร้อมด้วยทหารมือกลอง และพลเป่าแตรหนึ่งพันนายแต่งชุดจักรีโบราณ โทรทัศน์ทุกช่องถ่ายทอดสด พระราชสกุลมหิดลทรงนำขบวนแห่ของเชื้อพระวงศ์นับร้อย ท่ามกลางเสียงปืนใหญ่ที่ยิงสลุดดังอื้ออึง

ผลงานที่สำคัญที่สุดของพลเอกเปรม คือการขยายกิจการโครงการหลวงอย่างขนานใหญ่ ทำให้โครงการพระราชดำริ กลายมาเป็นสัญญลักษณ์หรือเครื่องหมายทางการค้าของพระเจ้าอยู่หัว ทั้งภาพถ่ายและภาพยนต์ทางโทรทัศน์ ที่โหมประโคมแสดงภาพในหลวงภูมิพลเสด็จพระดำเนินลุยป่าฝ่าดงในชนบท มีกล้องแคนน้อนห้อยพระศอ ทรงถือแผนที่กับสมุดจด ทรงสอบถามชาวบ้านและเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับปริมาณน้ำตามฤดูกาลและการทำเกษตร ผู้ตามเสด็จมักจะถวายคำอธิบายด้วยความประหลาดใจ ว่าในหลวงทรงดูแผนที่แล้วก็ทรงสามารถเข้าใจสภาพภูมิประเทศกับแหล่งน้ำได้อย่างรวดเร็ว นับว่าทรงพระอัจฉริยะโดยแท้

พลเอกเปรมรีบสนองพระราชประสงค์ ด้วยการทุ่มเททั้งงบประมาณ และกำลังคนของรัฐบาล โดยเฉพาะกำลังทหารสนับสนุนโครงการพระราชดำริ เป็นความสำคัญเร่งด่วนลำดับแรกเหนืองานประจำของแต่ละหน่วยงาน พลเอกเปรมนั่งเป็นประธาน คณะกรรมการประสานงานโครงการในพระราชดำริ หรือ กปร. ทำหน้าที่เร่งรัดการดำเนินงานโครงการส่วนพระองค์ ทรงกลายเป็นหัวหน้างานพัฒนาคนใหม่ของระบบราชการ ที่มีทรัพยากรและสรรพกำลังทั้งหมดของรัฐบาลไว้ให้ใช้ โดยทรงรับเอาความดีความชอบแต่เพียงผู้เดียว

ผู้ดูแลโครงการพระราชดำริ เป็นนักเศรษฐศาสตร์และสมาชิกสภาความมั่นคงแห่งชาติ ชื่อนายสุเมธ ตันติเวชกุล ที่ปรึกษาคนสนิทของในหลวงภูมิพล ทำงานที่สภาพัฒน์ฯ ตั้งแต่ทศวรรษ 2500 เมื่อมีคณะกรรมการพัฒนาโครงการในพระราชดำริ ได้ใช้งบประมาณเพิ่มจากเดิมเป็นสิบเท่า โดยส่วนใหญ่หักเงินเอาจากงบประมาณปกติของกระทรวงทบวงกรมต่าง ๆ โครงการพระราชดำริส่วนใหญ่ก็เป็นเหมือนเดิมที่เคยเป็นมา คือ การวิจัยพันธุ์พืช โครงการแหล่งน้ำทั้งใหญ่และเล็ก การฝึกอบรมแพทย์และอาสาสมัคร การสาธารณสุข เป็นต้น

พลเอกเปรมได้ก่อตั้งศูนย์โครงการหลวงหกแห่งทั่วประเทศ แต่ละแห่งมีเนื้อที่หลายพันไร่ ปกติอยู่ในบริเวณตำหนักประจำภาคต่าง ๆ มีเจ้าหน้าที่ทำการทดลองการเกษตรและเลี้ยงสัตว์ เหมือนงานวิจัยตามกระทรวงและมหาวิทยาลัยต่างๆนั่นเอง

กองทัพได้กลายมาเป็นกองงานส่วนพระองค์ของพระเจ้าอยู่หัว กองทัพสร้างศูนย์การพัฒนามูลค่าหลายสิบล้านบาทบนเนื้อที่ 13,000 ไร่ ที่ตำหนักภูพานราชนิเวศน์ สกลนคร และอีกหลายล้านไร่ สำหรับพระตำหนัก และศูนย์การพัฒนาใกล้เขาค้อ เพิ่มงบประมาณให้กองทัพเพื่อนำไปใช้ในโครงการหลวง โครงการหลวงได้รับการโหมโฆษณาพร้อมงบประมาณมหาศาลของรัฐบาล ทำให้ประชาชนมองข้ามรัฐบาลและหวังพึ่งแต่พระเจ้าอยู่หัว

พลเอกเปรมยังทำหน้าที่ควบคุมปราบปรามการวิพากษ์วิจารณ์วังด้วยการใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพโดยใช้ปกป้องราชวงศ์จักรีทุกพระองค์และพระมหากษัตริย์ไทยทั้งหมด การดูหมิ่นกษัตริย์องค์ก่อนๆ ก็ถือเป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ พลเอกเปรมถือว่าเรื่องของเจ้าไม่ใช่เรื่องของไพร่ และห้ามวิจารณ์โดยเด็ดขาด มีการข่มขู่สื่อว่าจะโดนปิด

คนที่ถูกจับได้ว่า ตีพิมพ์เอกสารวิพากษ์วิจารณ์วัง จะถูกลงโทษรุนแรง ถูกตามล่าและถูกจับขังคุก นิตยสารนิวส์วีค Newsweek ฉบับที่หน้าปกลงรูปพลเอกเปรมอยู่สูงกว่าในหลวงภูมิพล ในเดือนมกราคม 2525 ก็ถูกสั่งห้ามขาย เอเชี่ยนวอลล์สตรีทเจอร์นัล Asian Wall Street Journal ที่ลงบทความว่า พระเจ้าอยู่หัวไม่ได้ทรงเป็นที่นิยมมาก อย่างที่ดูเหมือนว่าจะเป็น ก็ถูกห้ามขายเช่นกัน

พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์เนชั่น แก้ตัวแทนในหลวงและราชินีที่มักตื่นสายถึงเที่ยงทุกวัน โดนอ้างว่าทุกคืนทั้งสองพระองค์ทรงหอบกองเอกสารเข้าไปในห้อง ทรงใช้เวลาอ่านทั้งคืน เพื่อทำการตัดสินพระทัย ทำให้ทั้งสองพระองค์เสด็จออกห้องพระบรรทมเมื่อปาเข้าไปเที่ยงวันแล้วในแต่ละวัน แต่ยังต้องปฏิบัติพระราชกรณียกิจตามกำหนดต่างๆที่แน่นไปหมด ซึ่งเป็นเรื่องโกหกทั้งสิ้น


การโฆษณาชวนเชื่อเทิดทูนสถาบันกษัตริย์ได้ถอยหลังไปสู่ยุคโบราณที่ถือว่า
พระมหากษัตริย์ คือเจ้าชีวิต ผู้เป็นเจ้าของทุกสิ่งทุกอย่าง และประทับอยู่บนหัวของราษฎร โดยไม่ให้ความสำคัญกับสถาบันตามระบอบประชาธิปไตย เช่น รัฐธรรมนูญ รัฐสภาและหลักกฎหมายโดยถือว่าเป็นของนำเข้าจากตะวันตก

คณะกรรมการเอกลักษณ์แห่งชาติ กลับหันไปเน้นความสำคัญ ของศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงหลักที่หนึ่ง ที่ราชวงศ์จักรีทำขึ้นเองสมัยรัชกาลที่สี่ ว่าเป็นเหมือนสัญญาประชาธิปไตย แบบเดียวกับรัฐธรรมนูญระหว่างผู้นำ คือกษัตริย์กับประชาชน





โดยย้ำว่าประชาชนไม่ใช่รัฐบาล
ถ้าต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเพื่อกำหนดเป็นนโยบาย ก็เท่ากับว่าให้ประชาชนเป็นรัฐบาล ซึ่งจะนำไปสู่วิกฤตทางการเมืองเพราะกษัตริย์ไทยได้รับฉันทานุมัติจากประชาชนโดยเอกฉันท์ ประชาชนเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวภายใต้การปกครองของพระมหากษัตริย์ ที่ทรงปกป้องคุ้มครองราษฎรให้พ้นจากภัยคุกคามของจักรวรรดินิยมตะวันตกและทรงดูแลทุกข์สุขให้พวกเขา นักการเมืองในประเทศไทยมีความเห็นแก่เงินและบ้าอำนาจ เกินกว่าที่จะปกป้องประโยชน์ของส่วนรวม สื่อมวลชนก็พึ่งพาไม่ได้ เป็นแค่ความบันเทิงอีกแขนงหนึ่ง มีแต่พระมหากษัตริย์เท่านั้นที่ทรงมีภูมิรู้ทางประวัติศาสตร์ ประสบการณ์ ความรอบรู้และความเสียสละที่จะครองความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของคนทั้งชาติได้

คนไทยเข้าใจเรื่องนี้ดี เพราะเมื่อในหลวงภูมิพลประชวร ทุกคนพากันตระหนกตกใจกัน แต่เวลารัฐบาลล้มหรือทหารยึดอำนาจ ไม่สู้มีใครใส่ใจ เพราะรัฐบาลก็เป็นแค่สิ่งบันเทิง ในการพระราชทานสัมภาษณ์ปี 2525 ทรงเผยพระประสงค์ว่าพระองค์ควรจะเป็นผู้เลือกนายกรัฐมนตรี เพราะพระองค์ทรงฉลาดกว่าใคร และประชาชนศรัทธาเชื่อมั่นให้พระองค์เป็นผู้แต่งตั้งนายกรัฐมนตรี สำหรับการรัฐประหารที่เกิดขึ้นบ่อยๆ ก็เพราะทหารก็ต้องการประชาธิปไตยเหมือนกับประชาชนนั่นเอง


 


พระราชินีสิริกิติ์ก็ทรงแสดงบทบทบาทช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส ผ่านมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ที่ช่วยผู้หญิงฝึกอาชีพหัตถกรรม



ทรงระดมทุนด้วยงานการกุศลและอื่นๆ ได้หลายร้อยล้านบาทต่อปีเป็นประจำ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับทีมงานส่วนพระองค์กว่า 50 คน และยังมีเจ้าหน้าที่อีกหลายคนในมูลนิธิฯ ทรงเสด็จต่างจังหวัดเป็นขบวนเอิกเกริกอยู่เป็นประจำ ท่ามกลางทหารคุ้มกันหนาแน่น

ปรากฏพระองค์อย่างเจิดจรัสในชุดแฟชั่นนำสมัย ระย้าพร่างพรายด้วยเพชร พลอย มรกตและไข่มุก ทรงชอบสวมกางเกงแบบฮาเร็ม หมวกแบบผ้าโพก ที่ชาวบ้านมองดูด้วยความตะลึงงัน ทรงพบปะผู้หญิงและเด็กในหมู่บ้านที่เจ็บป่วยที่ผ่านการคัดเลือกมาแล้ว ทรงแจกจ่ายยา และบอกให้พวกเขาดูแลรักษาตัวเอง ด้วยสุ้มเสียงเนิบช้า เหมือนแม่พูดแนะนำลูกเล็กอันเป็นท่วงท่าที่พระนางใช้พูดกับทุกคนนอกวัง แล้วแจกจ่ายข้าวของ หยูกยา ให้การรักษาพยาบาล จ่ายเงินแก่สมาชิกศูนย์ศิลปาชีพเป็นค่างานฝีมือผลิตภัณฑ์ของพวกเขา ซึ่งจะถูกขนกลับไปขายต่อไป

ผลงานหลักของรัฐบาลเปรมคือ การเทิดทูนและปกป้องภาพลักษณ์พระราชวงศ์ แต่ไม่มีการแก้ไขปัญหาการบริหารงาน และยิ่งแย่ลงกว่าเดิมอีก กองทัพแตกแยกกันหนักขึ้น กองทัพและวงราชการเต็มไปด้วยการทุจริตคอรัปชั่น โดยเฉพาะนักการเมืองที่สนับสนุนพลเอกเปรมที่ได้ผลประโยชน์ตอบแทนด้วยสัญญาและสัมปทานโครงการต่างๆ อาชญากรรมความรุนแรงเกิดขึ้นทั่วไป โดยบรรดาเจ้าพ่อในพื้นที่ต่างๆ ที่ร่วมงานใกล้ชิดกับกองทัพ ในวิกฤติการณ์แต่ละครั้ง พลเอกเปรมจะต้องเอาหลังพิงวังอยู่เสมอ

ในปี 2527 เศรษฐกิจตกต่ำทั้งภูมิภาค และมีเรื่องอื้อฉาวทางการเงินที่ธนาคารหลายแห่งล้มละลาย เกิดความตื่นตระหนกไปทั่ว ในเดือนสิงหาคม นายกเปรมล้มป่วยอย่างหนัก พระราชินีเสด็จเยี่ยมนายกเปรมถึงข้างเตียงที่บ้านของเขาสองครั้ง เป็นข่าวเผยแพร่ครึกโครม
พลเอกเปรมกลับมาเจอกับเศรษฐกิจที่กำลังซวนเซ ต้องประกาศลดค่าเงินบาท 15 เปอร์เซ็นต์ ในวันที่ 5 พฤศจิกายน 2527 จาก 23 บาท เป็น 27 บาท ต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐอเมริกา แต่พลเอกอาทิตย์ กำลังเอก ผู้บัญชาการทหารสูงสุดและผู้บัญชาการทหารบกทำหนังสือขอให้รัฐบาลทบทวนการประกาศลดค่าเงินบาทและขอให้ปรับปรุงคณะรัฐมนตรี

คราวนี้ พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลทรงออกโรงช่วยพลเอกเปรมด้วยพระองค์เอง โดยทรงโปรดฯให้พลเอกเปรมไปพักที่ตำหนักภูพานราชนิเวศน์เป็นเวลาเก้าวัน ทุกๆวันสื่อมีการเผยแพร่ภาพพลเอกเปรมอยู่กับพระเจ้าอยู่หัว พระราชินี และฟ้าชายวชิราลงกรณ์ พลเอกเปรมกลับมาพร้อมฟ้าชายวชิราลงกรณ์และนาวาอากาศเอกวีระยุทธ พระสวามีของฟ้าหญิงจุฬาภรณ์ เมื่อพลเอกอาทิตย์บินไปเข้าเฝ้าฯที่พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ พลเอกเปรมก็ตามไป พวกเขาได้เข้าเฝ้าพระเจ้าอยู่หัว จบลงด้วยการที่พลเอกเปรมยังอยู่บนเก้าอี้นายกรัฐมนตรี การลดค่าเงินบาทไม่ถูกยกเลิก พลเอกอาทิตย์ได้รับการต่ออายุราชการและควบทั้งสองตำแหน่งไปจนถึงเดือนกันยายน 2529

เดือนกันยายน 2528 พลเอกเปรมเดินทางไปเยือนอินโดนีเซีย พลเอกอาทิตย์อยู่ยุโรป พระราชวงศ์ประทับอยู่ต่างจังหวัด พวกยังเติร์กพยายามยึดอำนาจอีก โดยอ้างความจงรักภักดี รถถังกับรถบรรทุกของพวกเขาประดับพระบรมฉายาลักษณ์ในหลวง พระราชินี และฟ้าชาย แต่การรัฐประหารล้มเหลวเมื่อทหารราบหลายหน่วยที่นัดกันไว้กลับไม่มา พลเอกเปรมรีบกลับจากจาการ์ตา และใช้เวลาเจรจาจนเรียบร้อย กลายเป็นว่ายังเติร์กถูกหลอกให้ออกมาเพื่อหาเรื่องเล่นงานใครบางคน

ในปี 2529 พลเอกเปรมเผชิญศึกหนักในสภา พลเอกเปรมรับมือด้วยการก่อตั้งกลุ่มการเมืองของตนเอง โดยให้ พลอ.อ. สิทธิ เศวตศิลา ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของตนเข้ายึดพรรคกิจสังคมหลังจากมรว.คึกฤทธิ์ วางมือไป และให้ พล.อ.เทียนชัย สิริสัมพันธ์ ตั้งพรรคราษฎรขึ้นมา สภาก็เล่นงานพลเอกเปรมอีก พลเอกอาทิตย์ขู่จะก่อรัฐประหาร วังก็ให้ฟ้าชายวชิราลงกรณ์เสด็จเยี่ยมพลเอกเปรมที่บ้านอย่างเปิดเผย ในหลวงภูมิพลก็พระราชทานยศ พล.อ.อ.กับ พล ร.อ. ให้พลเอกเปรม ซึ่งปกติแล้วจะสงวนไว้สำหรับพระราชวงศ์เท่านั้น ขณะที่พลเอกเปรมอยู่ในฐานที่มั่นที่นครราชสีมาก็ได้ประกาศพระบรมราชโองการฯ ปลดพลเอกอาทิตย์ ออกจากตำแหน่งผบ.ทบ.ซึ่งถือเป็นจุดจบทางการเมืองของพลเอกอาทิตย์

การรณรงค์หาเสียงของนักการเมืองได้พุ่งเป้าโจมตีพลเอกเปรมที่ไม่ยอมลงสมัครรับเลือกตั้ง รวมทั้งกองทัพที่มีการทุจริตอย่างกว้างขวางและเป็นทหารการเมือง แต่พลเอกเปรมก็ไม่สะทกสะท้าน เพราะเขาได้ยึดเอาพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลเป็นแบบอย่าง คืออ้างว่าเขามีความเป็นกลางและอยู่เหนือการเมือง ทั้งๆที่บริวารของพลเอกเปรมจะจัดการดูแลพรรคการเมืองอยู่ก็ตาม มีการปล่อยข่าวว่าพระเจ้าอยู่หัวทรงต้องการให้พลเอกเปรมเป็นนายก อย่างน้อยจนกว่าจะผ่านงานวันเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 60 ในปี 2530 ก่อน และจากนั้นก็เป็นการเฉลิมฉลองวาระการขึ้นครองราชย์ที่ยาวนานกว่ากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ในปี 2531 ( รัชกาลที่ 5 ครองราชย์ 42 ปี 22 วัน รัชกาลที่ 9 ครองราชย์ 9 มิถุนายน 2489 และจะครองราชย์นานเท่ากับรัชกาลที่ 5 ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2531 )

ผลการเลือกตั้ง 27 กรกฎาคม 2529 พรรคที่ได้ที่นั่งมากที่สุด 100 จาก 347 เสียง คือประชาธิปัตย์ แต่นายพิชัย รัตตกุลหัวหน้าพรรค ยอมให้พลเอกเปรมเป็นนายก ทำให้คนในพรรคโกรธแค้นมาก พรรคร่วมรัฐบาลประกอบด้วยประชาธิปัตย์ ชาติไทย และพรรคของพลเอกเปรม คือกิจสังคมกับราษฎร พลเอกเปรมตั้งคนของตนเข้ามาในคณะรัฐมนตรี กระทรวงมหาดไทยถูกยกให้อดีตผู้นำกระทิงแดงพล.ต.อ.ประจวบ สุนทรางกูร ที่ส่งตำรวจรับมือนักศึกษาที่ออกมาประท้วง กระทรวงคมนาคมและการสื่อสารที่ให้ผลประโยชน์มากที่สุด ตกเป็นของนายบรรหาร ศิลปอาชา ผู้รับเหมาที่ไม่ชอบการอดอยากปากแห้งที่มีอิทธิพลในพื้นที่ภาคกลาง

พลเอกเปรมทุ่มงบประมาณแผ่นดินจัดงานฉลองพระชนมพรรษา 60 ปี ถวายพระเจ้าอยู่หัวภูมิพล ทั้งโปสเตอร์และป้ายโฆษณาผุดขึ้นทั่วประเทศและไม่ว่าใครจะขยับตัวทำอะไรในปีก่อนหน้าและหลังจากนี้ล้วนแต่เป็นการเฉลิมพระเกียรติไปเกือบหมด

หน่วยราชการผลิตหนังสือ และสารคดีโทรทัศน์ยืดยาวเชิดชูพระอัจฉริยภาพ ทศพิธราชธรรมของพระเจ้าอยู่หัว ตลอดจนความยิ่งใหญ่ไร้ที่ติของกษัตริย์ราชวงศ์จักรี มหาวิทยาลัยต่างๆ จัดสัมมนาอภิปราย ออกบทวิเคราะห์ทางวิชาการสดุดีพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลกับพระราชวงศ์ทุกพระองค์ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาเขียนเรื่องเจ้านายในปี 2539 เกี่ยวกับชีวิตวัยเยาว์ของในหลวงอานันท์กับในหลวงภูมิพล และกองทัพก็เอาไปตีพิมพ์ออกมาเป็นหนังสือหนา 400 หน้าเต็มไปด้วยเรื่องราวความฉลาดปราดเปรื่องของพระเจ้าแผ่นดินทั้งสองพระองค์ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยกับการบินไทยร่วมมือกันจัดโครงการณ์สนับสนุนการท่องเที่ยวประเทศไทย (Visit Thailand Year) เน้นวาระครบรอบ 60 ชันษาของพระเจ้าอยู่หัว โดยจัดพระราชพิธีเห่เรือในเดือนตุลาคม

ในเดือนมีนาคม 2530 พระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานธงชัยเฉลิมพล แก่ทหารกรมกองต่างๆ ด้ามธงบรรจุด้วยเส้นพระเกศาของในหลวงภูมิพล กองทัพถางป่าสงวนบนยอดดอยอินทนนท์เพื่อสร้างพระเจดีย์ถวายในหลวงและพระราชินีพระองค์ละหนึ่งแห่ง ปลายปี 2529 พลเอกเปรมประกาศอย่างเป็นทางการถวายพระเกียรติยศให้ในหลวงภูมิพลเป็น อัครศิลปิน

ก่อนถวายพระเกียรติเป็นมหาราชในเดือนธันวาคม 2530 ทั้งๆที่ยังไม่ทันสิ้นพระชนม์ โดยทำเหมือนว่าประชาชนไทยทั้ง 41 ล้านคนพร้อมใจกันถวายตำแหน่งมหาราชเพื่อยกระดับพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลให้เป็นพระมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ ไม่กี่เดือนต่อมา ฟ้าหญิงสิรินธรก็ทรงได้รับขนานพระนามเป็น อัครอุปถัมภ์แห่งมรดกวัฒนธรรมไทย

กรมการศาสนาเตรียมสังคายนาพระไตรปิฎกเนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษาของพระเจ้าอยู่หัว การสังคายนาพระไตรปิฎกถือเป็นงานใหญ่และไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยครั้ง




พระราชวังและพลเอกเปรมพยายามสร้างระบอบวังร่วมกับกองทัพ ให้กองทัพมีบทบาทครอบงำการเมืองอย่างเป็นทางการ โดยผ่านผบ.ทบ.คนใหม่พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ผู้ร่างคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523 เมื่อ 23 เมษายน 2523 เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์ คือ การใช้หลักการเมืองนำการทหาร พลเอกชวลิตได้ช่วยพลเอกเปรมปราบปรามการรัฐประหารหลายครั้ง เมื่อพลเอกอาทิตย์กระเด็นไปแล้ว พลเอกชวลิตก็มองว่าตนเป็นผู้สืบทอดอำนาจต่อจากพลเอกเปรม

พลเอกชวลิตย้ำว่าพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์ให้กองทัพเป็นพลังหลักในการพัฒนาและการบรรเทาความยากจน ภายใต้การชี้แนะของพระเจ้าอยู่หัว มีที่ดิน แหล่งน้ำ แรงงานที่มีวินัยและอุปกรณ์เครื่องมือมหาศาล ที่ใหญ่โตที่สุดคือโครงการอีสานเขียว ที่จะพลิกแผ่นดินแห้งแล้งของอีสานให้เขียวชอุ่มอุดมสมบูรณ์ขึ้นมาให้ได้ ใช้งบประมาณกว่า 13,500 ล้านบาท แต่กองทัพกลับถูกโจมตีว่าแย่งบทบาทการทำงานของรัฐบาลโดยใช้โครงการพระราชดำริเป็นข้ออ้างและผลาญเงินงบประมาณไปกว่าหนึ่งในสี่ ซึ่งมากกว่างบสาธารณสุขและการศึกษามากนัก บรรดานายพลเศรษฐีนับสิบรายที่ใช้ชีวิตหรูหราฟุ่มเฟือยเป็นหลักฐานแสดงถึงการทุจริตคอรัปชั่นกันอย่างมโหฬาร

ฝ่ายค้านในสภาได้เตรียมยื่นญัตติ ขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจพลเอกเปรมในเดือนเมษายน 2530 แต่พลเอกเปรมใช้เล่ห์กลตัดแข้งตัดขา และซื้อตัวสส.อย่างโจ่งแจ้ง ทำให้ญัตติตกไปเพราะคะแนนเสียงไม่พอ เดือนตุลาคม 2530 พลเอกเปรมเป็นประธานประชุมกอรมน.แก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเพิ่มอำนาจแก่ฝ่ายบริหารและกองทัพอ้างว่าการปฏิรูปประชาธิปไตยเพื่อความอยู่รอดของประเทศชาติ แต่บารมีของพลเอกเปรมก็เสื่อมลงจากการคอรัปชั่นสามเรื่องต่อเนื่องกัน



กรณีแรก
นายจิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา รัฐมนตรีของวังถูกกล่าวหาว่าทุจริต จนต้องลาออกแต่ได้ไปรับตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์








กรณีที่สอง รัฐมนตรีคมนาคม
นายบรรหาร ศิลปอาชา ถูกกล่าวหาว่าโกงกินอย่างมโหฬารและซื้อเสียง เชื่อกันว่าพลเอกเปรมปล่อยให้บรรหารทุจริตเพราะต้องอาศัยเสียงสส.สนับสนุน


กรณีที่สามเป็นเรื่องการทุจริตในการซื้ออาวุธของกองทัพ ที่เกี่ยวพันกับพลเอกชวลิตและภรรยาในการจัดซื้อรถถังสติงเรย์ของอเมริกา ซึ่งเป็นรุ่นที่กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯก็ยังปฏิเสธเนื่องจากราคาแพงและคุณภาพต่ำ ปรากฏว่าไทยเป็นประเทศเดียวที่ซื้อรถถังสติงเรย์ ทำให้ต้องยกเลิกการแก้ไขรัฐธรรมนูญไปก่อน
พลเอกชวลิต ก็พึมพำว่าประชาชนกำลังร้องขอให้เขาก่อการรัฐประหารเพื่อพลเอกเปรม ในช่วงต้นเดือนธันวาคมก่อนวันเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 60 ปี พลเอกเปรมก็กราบบังคมทูลถวายพระราชสมัญนามพระมหาราชแด่พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอย่างเป็นทางการ พลเอกเปรมชิงยุบสภาและกำหนดวันเลือกตั้ง 24 กรกฎาคม 2531 อย่างน้อยก็ทำให้เขายังได้เป็นประธานในงานเฉลิมฉลองการครองราชย์ยาวนานที่สุดกว่าพระมหากษัตริย์ไทยพระองค์ใด ในวันที่ 2 กรกฎาคม 2531 และได้แสดงเจตนาจะเป็นนายกรัฐต่อไปโดยไม่ลงเลือกตั้งโดยทึกทักว่าการจัดงานเฉลิมเป็นเหตุผลเพียงพอแล้ว

แต่ในเดือนมิถุนายน นักวิชาการชั้นนำ 99 คนได้ลงชื่อถวายฎีกา ร้องเรียนไปยังพระเจ้าอยู่หัว กล่าวหาพลเอกเปรมว่าแอบอ้างวังและใช้กองทัพข่มขู่เพื่อรักษาอำนาจของตน พวกเขากล้าเรียกร้องให้พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลหยุดแทรกแซงระบอบประชาธิปไตย และเลิกสนับสนุนพลเอกเปรม ผู้ประท้วงราวหนึ่งพันคนเดินขบวนไปที่หน้าบ้านพลเอกเปรม ผู้นำพรรคการเมืองและคนอื่นๆ ก็เรียกร้องอย่างเปิดเผยให้นายกฯ มาจากสส.ที่ได้รับการเลือกตั้ง ขณะที่ทั้งประเทศกำลังจดจ่อรอดูว่าในหลวงภูมิพลจะเสด็จลงมาอุ้มพลเอกเปรมอีกหรือไม่ ในที่สุดพลเอกเปรมก็ตัดสินใจถอนตัว ทำให้ในหลวงภูมิพลไม่ต้องเปลืองตัวในการเลือกระหว่างประชาชนกับผู้นำกองทัพ

พลตรีชาติชาย ชุณหะวัณ หัวหน้าพรรคชาติไทยที่ได้ที่นั่งมากที่สุดจึงได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป ประชาชนไม่ได้เห็นคุณค่าของรัฐบาลทหารพระราชทานของพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอีกต่อไปแล้ว เพราะพลเอกเปรมนั้นแทบไม่ทำอะไรเลยตลอดแปดปี นอกจากปกป้องเก้าอี้ของตนและราชบัลลังก์ของพระเจ้าอยู่หัวภูมิพล รัฐบาลพลเอกเปรมได้พิสูจน์แล้วว่า ไม่ได้เลวน้อยไปกว่ารัฐบาลพลเรือนเลย ในเรื่องการทุจริตคอรัปชั่น การใช้อำนาจบาตรใหญ่และเช้าชามเย็นชาม ปัญหาสังคมเลวร้ายยิ่งกว่าเดิม ความยากจนยังปรากฏอยู่ทั่วไปในชนบท อาชญากรรมเพิ่มมากขึ้น มีการค้ายาเสพติดกว่า 30,000 ล้านบาทต่อปี

ทั้งๆที่ มีการโฆษณาชวนเชื่อว่าพลเอกเปรมเป็นคนมือสะอาด แต่ก็ต้องเลี้ยงสมุนและบริวาร ที่เอาแต่ทุจริตคอรัปชั่นเพื่อความอยู่รอดของตนเอง มีรัฐมนตรีจอมทุจริตอย่างนายบรรหาร ยังให้พล.อ.อ.สิทธิ เศวตศิลามือขวาด้านความมั่นคงของเขา เข้ายึดครองพรรคกิจสังคม โดยไปเป็นพวกกับเจ้าพ่อชั้นนำของประเทศสองคนคือ กำนั้นเป๊าะแห่งชลบุรีกับ ชัช เตาปูนเจ้าของบ่อนเตาปูน ซึ่งมีตำแหน่งในพรรคทั้งคู่ 
 
มีการแตกแยกและทุจริตในกองทัพ แทนที่กองทัพจะเล็กลงและเป็นมืออาชีพมากขึ้น กลับเต็มไปด้วย บรรดานายทหารที่เอาแต่ทุจริตคอรัปชั่นจนพากันอิ่มหมีพีมัน และย่อหย่อนความสามารถในการทหารสมัยใหม่ ทหารเข้าแทรกแซงการเมือง วงการธุรกิจ และแม้แต่วงการอาชญากรรมมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ไม่มีใครกล้าตั้งคำถาม หรือแย้งพระเจ้าอยู่หัว ส่วนใหญ่หมอบกราบแซ่ซร้องสดุดีอย่างเดียว บริวารใกล้ชิดกราบทูลพระองค์ว่า พลังประชาธิปไตยเป็นเหมือนพคท. เป็นภัยคุกคามต่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ซึ่งพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลก็ทรงเชื่อและยังคงให้ท้ายกองทัพในการอ้างอำนาจครอบงำเหนือการเมืองต่อไป

คนไทยโชคดีที่มีในหลวง คือ มีในหลวงอย่างเดียวก็พอเพราะทรงเป็นแก้วสารพัดนึก ไม่ต้องมีอย่างอื่น และห้ามมีอย่างอื่นโดยเด็ดขาด ไม่ต้องมีระบอบประชาธิไตยที่วุ่นวาย หรือ การเลือกตั้งที่สกปรก และ นักการเมืองที่ทุจริต เพราะ ไม่มีอะไรดีเท่าในหลวง แม้แต่เป๊ปซี่ ที่โฆษณาว่า ดีที่สุด...แล้วก็ตาม



..................

ไม่มีความคิดเห็น: