วันอังคารที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

ตำนานๆ 009028 : วีรชนที่ไม่ต้องพระประสงค์ ตอนที่ 1

ฟังเสียงพร้อมเพลงประกอบ : http://www.4shared.com/mp3/ngPgFMAm/The_Royal_Legend_028_.html
หรือที่ :
 
http://www.mediafire.com/?74ht4m93947tc5d    

...............

...............

กบฎวังหลวง และ
คดีสังหาร 4 อดีตรัฐมนตรี
กบฏวังหลวง เกิดขึ้นในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2492 โดยนายปรีดี พนมยงค์นำกองกำลังส่วนหนึ่งจากประเทศจีนร่วมกับคณะนายทหารเรือ และอดีตเสรีไทยกลุ่มหนึ่ง ไม่ต่ำ กว่า 50 นายเรียกตัวเองว่า ขบวนการประชาธิปไตย 26 กุมภาพันธ์ นำกำลังยึดพระบรมมหาราชวัง หรือวัดพระแก้ว และลำเลียงอาวุธสมัยเสรีไทยมาไว้ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นกองบัญชาการ เมื่อเวลา 16.00 น.

เวลา 21.00 น.นายปรีดีกับพวกได้บุกเข้ายึดสถานีวิทยุพญาไทของกรมโฆษณาการ โดยพ.ต.โผน อินทรทัต (อดีตเสรีไทยสายสหรัฐอเมริกา)และออกประกาศประกาศถอดถอน รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม และนายทหารชั้นผู้ใหญ่หลายนาย และได้ประกาศแต่งตั้ง นายดิเรก ชัยนาม ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีแทน พร้อมรัฐมนตรี โดยที่นายดิเรกมิได้รู้เห็นด้วย

นายปรีดีที่หลบหนีออกจากประเทศไปตั้งแต่การรัฐประหาร 8 พฤศจิ กายน พ.ศ. 2490 ได้แอบเดินทางกลับมาโดยปลอมตัวเป็นทหารเรือและติดหนวดปลอมปะปนเข้ามาพร้อมกับกลุ่มกบฏ แต่มีผู้พบเห็นและจำได้ ฝ่ายรัฐบาลรู้ตัวก่อนแล้ว เพราะจอมพล ป. พูดทิ้งท้ายก่อนหน้าทางวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยว่า เลือดไทยเท่านั้นที่จะล้างเมืองไทยให้สะอาดได้และออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินล่วงหน้า 3 วันก่อนเกิดเหตุ

นายปรีดี ให้ยึดบริเวณวัดพระเชตุพนตรงข้ามกับ ร. พัน. 1 เพื่อตรึงกำลัง ร. พัน. 1 ไว้ เมื่อเข้ายึดสถานที่สำคัญๆ เพื่อตรึงกำลังไว้แล้ว กลุ่มเสรีไทยที่เคยร่วมมือกับนายปรีดีต้านญี่ปุ่น ก็จะเคลื่อนกำลังเข้าสมทบ โดย นายชาญ บุนนาค ผู้จัดการป่าไม้สัมปทานหัวหิน จะนำกำลังเสรีไทยเข้าสู่พระนคร นายชวน เข็มเพชร นำเสรีไทยภาคตะวันออกเข้ามาทางอรัญประเทศ นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ นายจำลอง ดาวเรือง นายถวิล อุดล และนายเตียง ศิริขันธ์ จะนำพวกเสรีไทยยึดภาคอิสาน และเข้ามาสมทบในพระนคร ดร.ทองเปลว ชลภูมิ จะนำเสรีไทยจากเมืองกาญจนบุรี เข้าสมทบ พล.ร.ต. สังวร สุวรรณชีพ พล. ร.ต. ทหาร ขำหิรัญ จะนำกำลังทหารเรือบางส่วนจากสัตหีบ ชลบุรี ระยอง มารวมกำลังที่ชลบุรี มุ่งสู่กรุงเทพฯ

ตอนแรก ฝ่ายกบฏดูจะเป็นฝ่ายได้เปรียบ สามารถยึดสถานที่สำคัญ และจุดยุทธศาสตร์ไว้ได้หลายจุด แต่ทว่าตกค่ำคืนวันนั้น ทหารฝ่ายรัฐบาลก็ตั้งตัวติด และสามารถยึดจุดยุทธศาสตร์กลับคืนมาได้ กองกำลังทหารเรือฝ่ายสนับสนุนกบฏจากฐานทัพเรือสัตหีบก็ติดอยู่ที่ท่าน้ำบางปะกง เพราะน้ำลดขอดเกินกว่าปกติ แพขนานยนต์ไม่สามารถลำเลียงอาวุธ และกำลังคนข้ามฟากไปได้ เมื่อน้ำขึ้นก็เป็นเวลาล่วงเข้ากลางคืน กองกำลังทั้งหมดมาถึงพระนครในเวลา 2 ยาม ถึงตอนนั้นฝ่ายกบฏก็เพลี่ยงพล้ำต่อรัฐบาลแล้ว
จุดที่มีการปะทะกันระหว่างทหารบกฝ่ายรัฐบาล และทหารเรือฝ่ายกบฏ เช่น ถนนวิทยุ ถนนพระราม 4 สาทร มีการยิงปืนโต้ตอบกัน
พล.ต.สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการปราบปราม ได้ยิงปืนจากรถถัง ทำลายประตูวิเศษไชยศรีของพระบรมมหาราชวังพังทลายลง ตอนเย็นของวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2492 ทั้ง2 ฝ่ายหยุดยิง รัฐบาลคุมสถานการณ์ได้ และปราบกบฏสำเร็จ นายปรีดีต้องหลบหนีออกนอกประเทศอีกครั้ง

ฝ่ายกบฏยอมแพ้และแยกย้ายกันหลบหนี แต่รัฐบาลยังส่งตำรวจติดตาม และสังหารอย่างต่อเนื่อง จากนั้นไม่กี่วัน ได้มีการสังหารบุคคลสำคัญทางการเมืองหลายคน เช่น พันตรีโผน อินทรทัต ถูกตำรวจจับกุมและยิงเสียชีวิตระหว่างถูกควบคุมตัวไปสอบสวน ที่วังปารุสกวัน ตำรวจรายงานว่า พบศพที่อำเภอดุสิต เมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2492 และนำศพส่งโรงพยาบาล เป็นชายไทยไม่ทราบชื่อ ที่ท้ายทอยและหน้าผากมีรอยถูกยิง (พี่ชาย คือทองทศ อินทรทัต ได้นำชื่อโผนมาตั้งเป็นชื่อนักมวยในค่าย ต่อมาได้เป็นแชมป์เปียนโลกคนแรก คือ โผน กิ่งเพชร)

ขณะนั้นหม่อมหลวงกันยกา [นามสกุลเดิม สุทัศน์ ธิดาของ พล.ท. พระยาวิชิตวงศ์วุฒิไกร (ม.ร.ว. สิทธิ์ สุทัศน์) อดีตแม่ทัพภาคที่ 1 ภรรยาของ พ.ต.โผน กำลังตั้งครรภ์บุตรชายคนสุดท้อง (พล.อ.ไตรรงค์ อินทรทัต หรือ เสธไอซ์) ได้ประมาณ 2 เดือนเศษ โดยไม่มีการเปิดเผยหรือให้คำอธิบายที่ชัดเจนจากทางการแต่อย่างใด

ถัดมาอีกวันหนึ่งในเวลาเช้าตรู่อีกเช่นกัน ขณะที่มีการเข้าตรวจค้นจับกุม พ.ต.อ.บรรจงศักดิ์ ชีพเป็นสุข ผู้บังคับการตำรวจสันติบาล ภายในบ้านพัก ก็เกิดเสียงปืนดังหลายนัด ผู้เข้าจับกุมให้การว่า พ.ต.อ.บรรจงศักดิ์ ขัดขืนและกลายเป็นศพ เหมือนหลายๆคดี ที่ตำรวจมักกล่าวว่าผู้ต้องหาต่อสู้เจ้าหน้าที่พนักงาน สุดท้ายเรื่องก็เงียบหายไป

1 มีนาคม 2492 หนังสือพิมพ์ทุกฉบับลงพาดหัวแถลงการณ์ของจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ว่าได้มีกลุ่มบุคคลก่อการ หวังจะยึดอำนาจการปกครองกลับคืนหลังจากการรัฐประหาร 2490 กลุ่มบุคคลดังกล่าวได้ทำการยึดพระบรมมหาราชวังที่ประดิษฐานพระแก้วมรกตพระศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองเป็นการกระทำที่ไม่สมควรอย่างยิ่ง โดยเปิดเผยชื่อหัวหน้าขบวนการ คือนายปรีดี พนมยงค์ อดีตนายกรัฐมนตรี

ทางการออกประกาศให้สินบนนำจับ นายปรีดี หัวหน้าขบวนการรางวัลนำจับ 50,000 บาท พลเรือตรีสังวรณ์ สุวรรณชีพ รองหัวหน้า รางวัลนำจับ 30,000 บาท



สำหรับ
อดีตรัฐมนตรีทั้ง 4 ประกอบไปด้วย :

นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ อดีต ส.ส. อุบลราชธานี พรรคสหชีพ อดีตรัฐมนตรี 6 สมัย ต่อมาเป็นรัฐมนตรีอุตสาหกรรม ในรัฐบาลปรีดี มีคู่สมรสคือ เจ้าศิริบังอร ณ จำปาศักดิ์ ประเทศลาว เป็นหัวหน้าขบวนการเสรีไทยเขตอุบลราชธานี ได้รับเลือกเป็นสส.อุบลราชธานีทุกสมัยที่ลงสมัคร ปฏิบัติหน้าที่อย่างกล้าหาญโดยเฉพาะแนวคิดการพัฒนา แม่น้ำโขง ชี และมูล

ผลงานเด่นคือ การเสนอร่าง พรบ. คุ้มครองค่าใช้จ่ายประชาชนในภาวะคับขัน ที่เรียกว่า พระราช บัญญัติปักป้ายข้าวเหนียว เพื่อป้องกันพ่อค้าเอาเปรียบผู้บริโภค ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ฝ่ายรัฐบาลนายควง อภัยวงศ์ไม่เห็นด้วย อ้างว่าไม่มีมาตรการควบคุมราคา ในที่สุดรัฐบาลแพ้โหวตในสภาฯ ที่รับหลักการด้วยคะแนน 65 ต่อ 63 เสียง ทำให้รัฐมนตรีลาออกทั้งคณะ นายปรีดีจึงได้เป็นนายกรัฐมนตรีแทน


นายถวิล อุดล
ส.ส. ร้อยเอ็ด 2 สมัย พรรคสหชีพ อดีตรัฐมนตรีในสมัยรัฐบาลนายทวี บุณยเกตุ เป็นหัวหน้าเสรีไทย จังหวัดร้อยเอ็ด เคยเดินทางติดต่อขอความร่วมมือจากประเทศจีน มีแนวคิดที่สำคัญ คือภาษีที่เก็บต้องเป็นประโยชน์กลับคืนสู่ประชาชนทั้งหมด





นายจำลอง ดาวเรือง ส.ส. มหาสารคาม 3 สมัย ปี 2480 - 2490 ต้องการให้มีการกระจายอำนาจลงสู่ชนบท มีแนวคิดเสรีนิยมต่อต้านเผด็จการทหาร โดยรวมกลุ่มกับนายปรีดี พนมยงค์ นายเลียง ไชยกาล พระสารคามคณาภิบาล นายทองม้วน อัตถากร นายทองดี ณ กาฬสินธุ์ ร่วมกันตั้งพรรคสหชีพ ยึดถือเค้าโครงเศรษฐกิจของนายปรีดี ออกหนังสือพิมพ์ราย 10 วัน ชื่อสยามอุโฆษในปี 2480 นายเตียง ศิริขันธ์เป็นบรรณาธิการ เป็นรัฐมนตรีติดต่อกัน 4 สมัย ตั้งแต่ปี 2480 - 2490 จนกระทั่งเกิดรัฐประหาร ในปี 2490 เป็นผลให้บทบาททางการเมืองของนายจำลอง ดาวเรือง ยุติลง โดยถูกจับกุมในข้อหากบฎ


ดร.ทองเปลว ชลภูมิ ส.ส.พระนคร เลขาธิการพรรคแนวร่วมรัฐธรรมนูญ มีร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ เป็นหัวหน้าพรรค





นักการเมืองฝ่ายของนายปรีดีถูกจับกุมตัวพร้อมกัน ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ในสถานที่ที่ต่างกันออกไป เช่น นายถวิลถูกจับที่สโมสรราชนาวี ดร.ทองเปลว ชลภูมิ ถูกจับ 1 มีนาคมโดย ร.ต.อ.ต่อศักดิ์ ยมนาค ( พล.ต.ท.ต่อศักดิ์ ยมนาค ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล บิดาดร.ต่อตระกูล ยมนาค ) กับตำรวจสันติบาลไปรอรับถึงเชิงบันไดเครื่องบิน ที่สนามบินดอนเมือง โดยตำรวจส่งโทรเลขเป็นรหัส ไปลวงว่าการปฏิวัติสำเร็จแล้วให้รีบกลับ เพราะดร.ทองเปลวได้หลบหนีไปอยู่ที่ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งบุคคลทั้ง 4 นี้ ล้วนแต่เป็นนักการเมืองสายของนายปรีดี และ พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ทั้งสิ้น และไม่มีชื่อในประกาศจับ มีการเปิดเผยภายหลังว่า บุคคลเหล่านี้ไม่ได้เป็นฝ่ายก่อการแต่ถูกวางตัวให้เป็นผู้ร่างกฎหมาย และประกาศฉบับต่างๆ หากการปฏิวัติสำเร็จ

บรรดาญาติของผู้ต้องหาไม่ได้ระแวงว่าจะเกิดเหตุร้าย เนื่องจากบุคคลทั้ง 4 ได้เข้าๆออกๆ เรือนจำเป็นประจำในข้อหาทางการเมือง ค่ำวันที่ 3 มีนาคม 2492 ตำรวจได้เคลื่อนย้ายผู้ต้องหาทั้งหมด ไปไว้ที่สถานีตำรวจนครบาลบางเขน โดยอ้างเหตุความปลอดภัย ด้วยรถของตำรวจหมายเลขทะเบียน กท. 10371


โดยมี พ.ต.อ.หลวงพิชิตธุรการ เป็นผู้ควบคุม โดยรับ ดร.ทองเปลว ที่สถานีตำรวจนครบาลปทุมวัน นายจำลองที่สถานีตำรวจนครบาลยานนาวา นายถวิลที่สถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้ง และนายทองอินทร์ที่สถานีตำรวจนครบาลสามเสน เมื่อวิ่งมาถึงหลักกิโลเมตรที่ 12 ถนนพหลโยธิน เวลาประมาณ 3.00 น.(ตีสาม) วันที่ 4 มีนาคม 2492 ใกล้มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ บางเขน

ผู้ต้องหาทั้งหมดถูกยิงเสียชีวิตด้วยกระสุน ร่างละไม่ต่ำกว่า 10 นัด ในสภาพที่ทุกคนยังสวมกุญแจมืออยู่ โดยได้ส่งศพไปชันสูตรที่โรงพยาบาลกลาง ตำรวจแถลงว่า กลุ่มโจรมลายูพร้อมอาวุธครบมือได้ดักซุ่มยิงเพื่อชิงตัวผู้ต้องหา และได้มีการปะทะกับตำรวจ

แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า ตำรวจทั้งหมดราว 20 นายไม่มีใครได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตเลย
ญาติของผู้ต้องหา กว่าจะทราบเรื่องการเสียชีวิต ก็เมื่อได้ไปเยี่ยมที่สถานีตำรวจเดิมที่คุมขังแล้วไม่พบตัว ต้องไปตามหาตามที่ต่าง ๆ เช่น วังปารุสกวันขณะนั้นเป็นกองบัญชาการตำรวจนครบาล ได้รับการบอกกล่าวให้ไปดูที่โรงพยาบาลกลาง จึงได้ทราบเรื่อง

ศพของทั้งหมดอยู่ตั้งบำเพ็ญกุศล ที่วัดมกุฏกษัตริยาราม ในงานศพยังมีตำรวจสายสืบเฝ้าดูความเคลื่อนไหวของผู้ที่เข้าร่วมงานศพ สังคมทั่วไปเชื่อว่า เป็นการกระทำของตำรวจภายใต้การบัญชาการของ พลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ ซึ่งมีบทบาทอย่างมากในการปราบกบฏและเป็นรองอธิบดีกรมตำรวจในเวลานั้น

คดีสังหาร 4 อดีตรัฐมนตรีได้ถูกรื้อฟื้น และตัดสินหลังการรัฐประหาร ในปี พ.ศ. 2500 โดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ศาลดำเนินคดีในปี 2502 มีผู้ต้องหา 5 ราย แต่เชื่อว่าไม่ได้เป็นผู้ต้องหาตัวจริง อีกทั้งยังมีการช่วยเหลือและไม่จริงใจในการดำเนินคดี เพราะมีผู้ต้องหาหลายคนเคยอยู่ในสังกัดของจอมพล ป. ซึ่งจอมพลสฤษดิ์ก็ต้องการให้คนพวกนี้มาช่วยค้ำจุนอำนาจของตน จากนั้นไม่นาน ก็ได้มีการฆาตกรรมนักการเมืองและบุคคลฝ่ายที่รัฐบาลเชื่อว่าเป็นผู้ที่อยู่ตรงข้าม คือ เพียงแค่สงสัยว่าเป็นพวกนายปรีดี หรือมีความคิดเอียงซ้ายก็ชะตาขาดแล้ว เช่น นายเตียง ศิริขันธ์ นายหะยีสุหรง อับดุลกาเดร์ นายอารีย์ ลีวีระ




นายหะยีสุหรง อับดุลกาเดร์ หรือ หะยีสุหรง โต๊ะมีนา
(บิดาของนายเด่น โต๊ะมีนา) ประธานกรรมการอิสลามจังหวัดปัตตานี ความขัดแย้งเรื่องศาสนาเริ่มปะทุขึ้นอีกตั้งแต่ 16 ธันวาคม 2481




เมื่อพันเอกหลวงพิบูลสงครามนายกรัฐมนตรี ประกาศใช้รัฐนิยมในปี 2482 ให้ชาวไทยร่วมกันสร้างชาติเป็นมหาอำนาจ ให้ใช้ภาษาเดียวกัน ขนบธรรมเนียมประเพณีเดียวกัน แม้แต่ศาสนาก็ควรจะเป็นศาสนาเดียวกัน ปี 2486 จอมพล ป. ยกเลิกการใช้กฎหมายอิสลามใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก่อนหน้านั้น ได้สั่งห้ามแต่งกายตามหลักศาสนาอิสลามและประเพณีนิยม


ปี 2488 รัฐบาลได้ประกาศพระราชกฤษฎีกา การศาสนูปถัมถ์ฝ่ายอิสลาม มีจุฬาราชมนตรี ฮัจยีสุหลงได้เรียกร้องรัฐบาล ให้อำนาจคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด ให้ตั้งศาลศาสนาให้มีการเลือกตั้งผู้นำใน 4 จังหวัดภาคใต้ที่นับถือศาสนาอิสลามให้มีการสอนภาษามลายูในโรงเรียนรัฐบาล ภาษีรายได้ใน 4 จังหวัดให้ใช้เฉพาะใน 4 จังหวัดเท่านั้น ข้าราชการใน 4 จังหวัด ขอให้เป็นมุสลิมไม่น้อยกว่า 80% ให้ใช้ภาษามลายูเป็นภาษาราชการด้วย ให้คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดมีอำนาจดำเนินการกิจการศาสนาอิสลาม

16 มกราคม 2491 นาย หะยีสุหลงกับพวก ถูกผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี จับกุมในข้อหากบฎแบ่งแยกดินแดน ปีต่อมาศาลนครศรีธรรมราช ตัดสินจำคุกหะยีสุหลง 3 ปี ฐานหมิ่นประมาทรัฐบาลไทย ถูกส่งตัวอยู่เรือนจำบางขวาง นนทบุรี ปี 2495 หะยีสุหลงได้รับอภัยโทษ ให้พ้นโทษก่อนกำหนด

13 สิงหาคม 2497 หะยีสุหลงกับเพื่อนอีก 2 คน และนายอาห์มัด โต๊ะมีนา ลูกชายคนโต เดินทางไปพบตำรวจสันติบาลที่จังหวัดสงขลาตามคำสั่ง ลูกชายช่วยเป็นล่ามเท่านั้น แต่ได้หายสาบสูญไปทั้งหมด รัฐบาลแถลงว่า ตำรวจสันติบาลได้ปล่อยตัวแล้วตามบันทึกปล่อยตัวที่เซ็นไว้

ต่อมาจึงได้ทราบจาก คณะกรรมการสะสางคดีที่แต่งตั้งโดย จอมพลสฤษดิ์ นายกรัฐมนตรีว่า นาย หะยีสุหลง กับพวก 2 คน และลูกชาย ได้ถูกตำรวจฆ่าตายในวันนั้น โดยรัดคอตาย แล้วผ่าศพผูกเสาซีเมนต์ ไปทิ้งทะเลสาบสงขลา” อดีตรองผู้การสันติบาลได้เขียน บันทึกเปิดเผยว่า ได้มีคำสั่งฆ่านาย ฮัจยีสุหลง จริง ( หนังสือ "บุรุษเหล็กแห่งเอเซีย" โดย พ.ต.อ.พุฒ บูรณสมภพ )

นายอารีย์ ลีวีระ นักหนังสือพิมพ์ที่กล้าหาญ ซื่อสัตย์ต่อวิชาชีพและอุดมการณ์ เกิดเดือนมิถุนายน 2456 ที่ตำบลวังใหม่ ปทุมวัน พระนคร มีพี่น้อง 8 คน ใช้นามสกุล ลีวีระ เพียงคนเดียว เหตุผลว่า คนหนังสือพิมพ์ต้องใช้ชีวิตต่อสู้และเสี่ยงภัยที่มองไม่เห็น จบชั้นมัธยมปลายเมืองซัวเถาประเทศจีน และมหาวิทยาลัยเอ้หมิงปริญญาอักษรศาสตร์บัณฑิต จึงกลับไทย ปี 2475 อายุ19 ปี

เข้าสู่วงการหนังสือพิมพ์ หลังจากเป็นครูสอนหนังสือ เมื่อปี 2477 เป็นผู้สื่อข่าวของหนังสือพิมพ์จีนที่ตลาดน้อย เปิดหน้าภาษาไทยในหนังสือพิมพ์จีน ต่อมาก่อตั้งหนังสือพิมพ์ เสียงจงสีเป้า เมื่อปี 2481 และออกหนังสือพิมพ์สยามสมัยรายสัปดาห์ เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 นายอารีย์ได้เข้าร่วมขบวนการเสรีไทย และออกหนังสือพิมพ์ภาษาจีนไทยฮั้วเซี่ยงป่อ ส่งเสริมสัมพันธภาพไทย-จีน ทำให้กองทัพญี่ปุ่นส่งกองทหารเข้าบุกจับถึงโรงพิมพ์ ต้องปีนกำแพงด้านหลังหนีตาย ใช้ชีวิตหลบซ่อนจนสงครามโลกสงบ

ปี 2489 นายอารีย์ ลีวีระ รวบรวมทุนซื้อกิจการโรงพิมพ์ไทยพาณิชยการ ของพระยาปรีชานุสาสน์ ออกหนังสือพิมพ์ไทย วางตลาดเช้าตรู่เป็นฉบับแรกของไทย ให้นักข่าวใช้ชวเลขจดข่าว ตั้งผู้สื่อข่าวต่างจังหวัด เกิดมีนักข่าวภูมิภาคที่มีฝีมือเป็นนักการเมืองหลายคน คืนวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2496 ศาลได้สั่งปล่อยนายอารีย์ ผู้อำนวยการโรงพิมพ์ไทยพาณิชย์การ มีหนังสือพิมพ์สยามนิกรและพิมพ์ไทยในสังกัด วันที่ 23 กุมภาพันธ์ ปีเดียวกัน นายอารีย์วัย 40 ปีได้เข้าสู่พิธีสมรสกับนางสาวกานดา พงษ์ธนานนท์ และไปหัวหินเพื่อดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์

เช้าวันที่ 9 มีนาคม 2496 เวลา 08.50 น. มีรถจี๊ปสีเขียวเข้าไปในเรือนพักของหนุ่มสาวคู่นี้ แล้วมีเสียงปืนดังขึ้น 2-3 นัดแล้วรถดังกล่าวออกไปเมื่อตำรวจหัวหินวิทยุสกัดรถคันนี้ได้ พบมีตำรวจยศสิบโท และพลตำรวจอีก 4 นาย เป็นตำรวจกองกำกับการจังหวัดกาญจนบุรี ให้การว่า พ.ต.ท.ศิริชัย กระจ่างวงศ์ ให้มาดักจับคนร้าย

นายตำรวจดังกล่าวเป็นนายตำรวจอัศวินแหวนเพชรของ พล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ นั่นเอง สาเหตุที่นายอารีย์ถูกสังหาร คงเนื่องจากไม่ยอมก้มหัวให้แก่ผู้มีอำนาจในขณะนั้น หนังสือพิมพ์ของเขามักเสนอข่าวที่ตรงกันข้ามกับนโยบายรัฐบาลเสมอ เคยถูกขอร้องและใช้วิธีขอซื้อหุ้น แต่นายอารีย์ไม่ยอมจนถูกจับกุมคุมขังในข้อหาคอมมิวนิสต์


เตียง ศิริขันธ์ ขุนพลภูพาน

นายเตียง ศิริขันธ์ เกิดที่บ้านตลาด อำเภอเมืองสกลนคร เมื่อ 5 ธันวาคม 2452 เป็นบุตรขุนนิเทศพาณิชย์ (บุดดี)กับนางอ้อน จบโรงเรียนฝึกหัดครูวัดบวรนิเวศ สมรสกับนางนิวาศน์ พิชิตรณการ จบการศึกษาสูงสุดระดับประกาศนียบัตรครูมัธยม (ป.ม.) จากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี 2473 ขณะอายุ 22 ปี เป็นนิสิตจุฬาฯรุ่นเดียวกันกับอาจารย์เปลื้อง ณ นคร เป็นครูโรงเรียนหอวัง แล้วย้ายกลับอีสานมาเป็นผู้ช่วยครูใหญ่ที่โรงเรียนอุดรพิทยานุกูล มีลูกศิษย์เป็นนักการเมืองคุณภาพ เช่น นายแคล้ว นรปติ (สว.ขอนแก่น) และพ.อ สมคิด ศรีสังคม ( สว. อุดรธานี )


นายเตียงลาออกจากครูเมื่ออายุ 25 ปี ลงสมัครเป็นผู้แทนราษฎรทางตรงครั้งแรกของประเทศไทย ด้วยความคับแค้นใจในความไม่เป็นธรรมโดยเฉพาะการถูกกล่าวหาเป็นคอมมิวนิสต์ ต้องขึ้นศาลในวัยเบญจเพศ เพราะมีการเผยแพร่ลัทธิคอมมิวนิสต์ และมีคนแอบชักธงรูปฆ้อนเคียวขึ้นสู่ยอดเสาของโรงเรียน แม้แต่ตนที่เป็นถึงผู้ช่วยครูใหญ่ยังถูกยัดข้อหา จึงหวังเป็นผู้แทนไปร่วมออกกฎหมายและผลักดันนโยบายสร้างความเท่าเทียมกันในสังคม โดยเฉพาะอีสาน


ครูเตียง
ได้เป็นส.ส.สกลนคร ครั้งแรกเมื่อปี 2480 ด้วยวัย 27 ปี และได้ร่วมทำงานกับส.ส.อีสานที่มีอุดมการณ์หลายคน เช่น นายถวิล อุดล นายจำลอง ดาวเรือง นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ ในนามของ
สี่รัฐมนตรีอีสานหรือ ขุนพลอีสาน เป็นส.ส.ภูมิภาคที่โดดเด่น ที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยให้คนทุกข์ยาก เคียงบ่าเคียงไหล่นายปรีดี ผู้ก่อตั้งคณะราษฎร




นายเตียงและพวกได้ร่วมกันก่อตั้งพรรคการเมืองชื่อ พรรคสหชีพ มีนโยบายเพื่อเกษตรกรและคนจน ขจัดความเหลื่อมล้ำในสังคม กระจายอำนาจและรายได้สู่ประชาชนระดับล่างให้มากที่สุด โดยเฉพาะภาคอีสาน มีแนวทางใกล้เคียงและทำงานร่วมกับ พรรคแนวรัฐธรรมนูญ ที่มีนายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส เป็นแกนนำ

โดยนายเตียงให้ความเคารพนับถือนายปรีดีเป็นอาจารย์ แสดงบทบาทในสภา นำเสนอแนวคิดกระจายความเจริญ และการพัฒนาไปสู่ส่วนภูมิภาค โดยเฉพาะผู้อยู่ห่างไกลในชนบ อภิปรายโจมตีนโยบายของผู้นำทหาร ที่จัดสรรงบประมาณให้กองทัพมากเกินไป แทนที่จะกระจายไปสู่การศึกษาและงานพัฒนาในชนบท สร้างความไม่พอใจให้กับกลุ่มผู้นำทหารตลอดเวลา



เมื่อปิดสมัยประชุม นายเตียงเดินทางกลับสกลนคร
ร่วมกับชาวบ้านทำถนน ทำฝาย บ่อน้ำ จนชาวสกลนครยุคนั้นพูดกันติดปากว่า ถนนนายเตียง ฝายนายเตียง




หลังจากทหารญี่ปุ่นบุกยึดประเทศไทย ในปี 2484 นายปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ของพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ได้จัดตั้งขบวนการเสรีไทยขึ้นเพื่อต่อต้านญี่ปุ่นอย่างลับๆ ซึ่งนายเตียง ศิริขันธ์ ทราบแผนการแต่แรก เขาและกลุ่มเพื่อน ส.ส.อีสาน ในฐานะเป็นผู้นำประชาชนระดับล่างในภาคอีสานได้รับผิดชอบการจัดตั้งขบวนการเสรีไทยในภาคอีสานขึ้น ซึ่งนับว่าเป็นขบวนการเสรีไทยที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศมีกองกำลังติดอาวุธ ลักษณะกองโจร โดยเฉพาะในแถบเทือกเขาภูพาน จังหวัดสกลนครเป็นจุดแรก

เนื่องจากแถบเทือกเขาภูพาน มีภูมิประเทศเหมาะสม เป็นป่า มีเงื้อมผาและซอกถ้ำไว้หลบซ่อนและเก็บเสบียงอาวุธ เคลื่อนไหวต่อต้านกองทัพญี่ปุ่น โดยมีเตียง ศิริขันธ์ เป็นแม่ทัพ (กองทัพพลเรือน ท.พ.ร.) มีกองกำลังพลเรือนกว่าหมื่นคน ส่วนใหญ่เป็นครูประชาบาลและชาวนา รวมทั้งข้าราชการ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ที่เคารพศรัทธานายเตียง ที่ยินดีมาร่วมภารกิจกู้ชาติ โดยที่มิได้ค่าจ้างตอบแทน หรือเหรียญกล้าหาญ เป็นชาวนาจนๆพากันมาร่วมฝึกเป็นทหารเสรีไทยลับๆอยู่ปลายนา ชายป่า ภายใต้การนำของนายเตียง ศิริขันธ์ นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ นายจำลอง ดาวเรือง นายถวิล อุดล นายแพทย์อ้วน นาครทรรพ นายครอง จันดาวงศ์ และทหารฝ่ายสัมพันธมิตร
มีค่ายเสรีไทยกระจายไปตามพื้นที่ต่างๆในเขตป่าและบริเวณเทือกเขาภูพานจังหวัดสกลนคร นายเตียง ยังจัดให้มีค่ายเสรีไทยอื่นๆ ตามจังหวัดต่างๆ ทั่วภาคอีสาน เช่น นครพนม มหาสารคาม หนองคาย อุดรธานี อุบลราชธานี และเป็นผู้นำในการสร้างสนามบินเสรีไทยลับๆ ในเขตสกลนครและกาฬสินธุ์ เพื่อขนอาวุธสัมพันธมิตร ไว้สำหรับการฝึกและเตรียมรบกับญี่ปุ่น

นายเตียง ศิริขันธ์ มีชื่อลับ พลูโต ได้กล่าวต้อนรับมิตรสหายที่เดินทางเข้าร่วมขบวนการเสรีไทย ที่ค่ายลับแห่งหนึ่งแถบดงพระเจ้า อำเภอสว่างแดนดินว่า



"ยินดีต้อนรับพวกเธอทุกคนเข้าสู่ขบวนการ เราทุกคนคงทราบกันดีแล้วว่าขณะนี้โลกของเรากำลังทำสงครามกันเป็นสองฝ่าย คือฝ่ายอักษะกับฝ่ายพันธมิตร ฝ่ายอักษะนั้นมีเยอรมันนี อิตาลี และญี่ปุ่น ฝ่ายสัมพันธมิตร มีอังกฤษ ฝรั่งเศส อเมริกา รัสเซีย และจีน ขณะนี้ฝ่ายอักษะกำลังจะแพ้สงคราม อิตาลียอมแพ้ฝ่ายสัมพันธมิตรไปเรียบร้อยแล้ว...

ไทยเราเป็นประเทศหนึ่งที่ร่วมกับญี่ปุ่นประกาศสงครามกับอังกฤษและอเมริกา เมื่อญี่ปุ่นแพ้สงคราม ไทยเราก็ไม่พ้นถูกยึดครอง ท่าน รู้ธ(นายปรีดี) หัวหน้าใหญ่ของขบวนการของเราท่านเล็งเห็นการณ์ไกล จึงได้จัดตั้งขบวนการเสรีไทยขึ้นเพื่อร่วมมือกับอังกฤษและอเมริกา เพื่อขับไล่ญี่ปุ่นเพื่อไม่ให้ญี่ปุ่นใช้เมืองไทยเป็นฐานทัพสู้กับฝ่ายพันธมิตร

ฉันได้รับบัญชาจากท่านรู้ธ หัวหน้าของขบวนการเสรีไทยที่รักชาติ ให้มารวบรวมพลพรรคเสรีไทยที่รักชาติ ทำการฝึกอาวุธเตรียมไว้สำหรับการขับไล่ญี่ปุ่นไปให้พ้นประเทศไทย ...บัดนี้พวกเธอทั้งหลายคงรู้แล้วสิว่า เรามาที่นี่เพื่ออะไร ขบวนการของเราต้องการผู้รักชาติมาร่วมกันทำงาน เพื่อกอบกู้ชาติบ้านเมืองให้พ้นภัย"

นายเตียง ศิริขันธ์ ได้ฝึกนักรบเสรีไทยแบบกองโจร เพื่อพร้อมรบในวันดีเดย์ หรือวันยกพลขึ้นบกของฝ่ายสัมพันธมิตร นายเตียงเดินทางไปรับอาวุธของฝ่ายสัมพันธมิตรอย่างลับๆ เพื่อเตรียมพร้อมรบ ที่ประจวบคีรีขันธ์ ทหารฝ่ายสัมพันธมิตรส่งอาวุธและเวชภัณฑ์ ให้กับเสรีไทยอีสาน ตามป่าบนเทือกเขาภูพานหลายครั้ง

แต่การรบยังมิได้เกิดขึ้นอย่างเป็นทางการ เพราะญี่ปุ่นได้ยอมแพ้สงคราม ก่อนที่จะถึงวันดีเดย์ เมื่อสหรัฐอเมริกาทิ้งระเบิดที่ฮิโรชิมา (Hiroshima) เมื่อ 6 สิงหาคม และนางาซากิ (Nagasaki) เมื่อ 9 สิงหาคม ในปี 2488 ระเบิดสูงจากพื้นราว 500 เมตร กระจายกัมมันตภาพรังสีความรังสี 4,000 องศาเซลเซียส ทำให้มีผู้เสียชีวิต กว่า 200,000 คน และ 73,884 คนทั้งสองเมืองตามลำดับ

พลพรรคเสรีไทยจากภูพาน ได้เดินทางปลดอาวุธทหารญี่ปุ่นที่นครพนม และได้ร่วมเดินทางไปเข้าร่วมงานพิธีสวนสนามที่กรุงเทพฯจากท้องสนามหลวง ผ่านอนุสารีย์ประชาธิปไตย เพื่อแสดงแสนยานุภาพของพลพรรคเสรีไทย ที่ร่วมรบกับทางฝ่ายสัมพันธมิตร
ทำให้มีหลักฐานที่อ้างได้ทำให้ประเทศไทยไม่เป็นประเทศผู้แพ้สงคราม ที่จะต้องจ่ายค่าเสียหายมหาศาลในฐานะผู้แพ้สงคราม รวมไปถึงอาจถูกแบ่งเป็นไทยเหนือ-ไทยใต้ อย่างเกาหลี แม้ทางรัฐบาลทหารของจอมพล ป. จะประกาศสงครามกับประเทศสัมพันธมิตร หรืออยู่ฝ่ายเดียวกับญี่ปุ่นก็ตาม


นายปรีดี ในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
ได้ประกาศสันติภาพ และถือว่าการประกาศสงครามต่อสหรัฐอเมริกาและอังกฤษในวันที่ 25 มกราคม 2485 เป็นการกระทำอันผิดไปจากเจตจำนงของประชาชนชาวไทย และฝ่าฝืนขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและกฏหมายบ้านเมือง ถือว่าเป็นโมฆะไม่ผูกพันต่อประชาชนชาวไทย
นายเตียง ศิริขันธ์ และผู้นำอีสานล้วนมีส่วนสำคัญยิ่งในภารกิจกู้ชาติ ตั้งแต่คราวแรกๆ ที่เป็นผู้นำสำคัญในการต่อต้านญี่ปุ่น ที่เรียกว่า องค์การต่อต้านญี่ปุ่น ก่อนที่จะมีการตั้งขบวนการเสรีไทย แม้ปฏิบัติการของพลพรรคเสรีไทยแห่งเทือกเขาภูพาน จะไม่ได้อะไรตอบแทน แต่สิ่งที่ที่ยิ่งใหญ่ คือ ความภาคภูมิใจที่ได้ตอบแทนคุณของแผ่นดินไทย


ภายหลังประกาศสันติภาพซึ่งนายปรีดีฯได้กระทำในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เมื่อวันที่16 สิงหาคม 2488 และต้อง
ใช้เวลาอีกสี่เดือนกว่า ที่รัฐบาลอังกฤษจะลงนามในข้อตกลงยกเลิกสถานะสงครามระหว่างกัน



ที่ทำให้รัฐบาลไทย ต้องแบกภาระ ค่าใช้จ่ายสำหรับ ทหารอังกฤษ และเครือจักรภพจำนวน 17,000 นายที่เข้ามาปลดอาวุธทหารญี่ปุ่นจำนวน 120,000 นายในประเทศไทย ซึ่งได้ทำให้ไทยไม่สามารถเข้าเป็นสมาชิกองค์กรสหประชาชาติ ขาดโอกาสได้รับความเชื่อเหลือในการบูรณะฟื้นฟูประเทศ ไม่สามารถใช้เงิน 23 ล้านปอนด์ที่ฝากไว้ในอังกฤษ



นายเตียงยังทำหน้าที่ส.ส.พร้อมแกนนำของพรรคสหชีพ กลุ่มอดีตรัฐมนตรีอิสาน ทั้งในและนอกสภาฯ ได้เป็นรัฐมนตรีอยู่ 3 สมัย 3 รัฐบาล คือรัฐบาลนายทวี บุณยเกตุ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมชและหลวงธำรงค์นาวาสวัสดิ์






แม้ขบวนการเสรีไทยจะจบลงเมื่อญี่ปุ่นพ่ายแพ้สงคราม แต่การล่าเมืองขึ้น ยังไม่ได้หมดไปจากดินแดนอินโดจีน และอาจมากขึ้นกว่าเดิม โดยเฉพาะในลาว และเวียดนาม ภายหลังที่ฝรั่งเศส กลับเข้ารุกราน และแสดงตนเป็นเจ้าอาณานิคมอีก ทั้งๆที่เคยหนีหายไปตอนที่ญี่ปุ่นยกพลขึ้นบก

ดังนั้นอาวุธของเสรีไทย จึงได้ถูกลำเลียงไปสนับสนุนพี่น้องลาว ภายใต้การนำของเจ้าสุภานุวงศ์ และพี่น้องเวียดนาม ภายใต้การนำของโฮจิมินห์ เพื่อภารกิจการสนับสนุนการต่อสู้เพื่อเอกราชให้กับพี่น้องสองฝั่งโขง นายปรีดี ได้มอบหมายภารกิจสำคัญให้นายเตียงสนับสนุนและริเริ่มขบวนการเสรีลาว บริเวณเทือกเขาภูพาน รับคนลาวมาฝึกอาวุธในค่ายเสรีไทย เทือกเขาภูพานภายใต้การดูแลของครูครอง จันดาวงศ์ ส.ส.สกลนคร

รวมไปถึงบนดอนสวรรค์หนองหาร มีทหารขบวนการเวียดมินห์ของโฮจิมินห์มาร่วมฝึก เพื่อไปรบกับฝรั่งเศสด้วย อดีตเสรีไทยอีสานบางส่วน ยังข้ามโขงไปช่วยลาวและเวียดนามในการรบ



ราวกันยายน 2490 มีการตั้ง ขบวนการ สันนิบาตเอเชียอาคเนย์ ( South East Asian League ) ที่กรุงเทพ โดยมีจุดประสงค์ที่แท้จริง เพื่อต่อต้านการกลับมาและร่วมต่อสู้เพื่อเอกราชต่อฝรั่งเศส ให้อินโดจีน มีนายเตียง ศิริขันธ์ เป็นประธาน เจ้าสุภานุวงศ์เป็นเลขาธิการ นายถวิล อุดลเป็นประชาสัมพันธ์ นายเลอฮาย เป็นเหรัญญิก อาจารย์ปรีดีเป็นต้นคิด รับการสนับสนุนจากโฮจิมินห์ และเจ้าเพ็ดชะราช สร้างความไม่พอใจให้ฝรั่งเศสและอเมริกาเป็นอย่างยิ่ง

นายเตียง ได้ให้การช่วยเหลือขบวนการกอบกู้เอกราชของพี่น้องลาว ลาวอิสระ และพี่น้องเวียดนาม เวียดมินห์ ปีละ 5 ล้านบาท มีส่วนสำคัญในการกอบกู้เอกราช ให้พี่น้องอินโดจีน แม้ท่านจะไม่มีโอกาสได้อยู่เห็นวันแห่งชัยชนะของลุงโฮและเจ้าสุภานุวงศ์ ในวันที่สองประเทศเป็นเอกราชในปัจจุบัน ก็ตาม

8 พฤศจิกายน 2490 รัฐบาลสหรัฐฯ และหน่วยข่าวกรองกลาง หรือซีไอเอ ได้สนับสนุนนายทหารกองทัพบกทั้งในและนอกประจำการ เช่น พ.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ พ.อ. สฤษดิ์ ธนะรัชต์ พ.อ. ถนอม กิตติขจร พ.ท. ประภาส จารุเสถียร และ ร.อ. สมบูรณ์ (ชาติชาย) ชุณหะวัณ ภายใต้การนำของจอมพล ป.พิบูลสงคราม และพลโทผิน ชุนหะวัน ทำรัฐประหาร ยึดอำนาจรัฐบาลพลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ที่มีนายปรีดีเป็นรัฐมนตรีการคลัง คณะรัฐประหารเป็นกลุ่มอำนาจเก่าที่สูญเสียอำนาจภายหลังการภายแพ้สงครามของญี่ปุ่น เพื่อกวาดล้างกลุ่มของนายปรีดี รวมไปถึงสมาชิกเสรีไทย

มีการจัดทหารไปจับกุมบุคคลสำคัญของรัฐบาล 3 สาย สายแรกคือทำเนียบท่าช้าง สถานที่พำนักของนายปรีดี อยู่ริมถนนพระอาทิตย์ แขวงชนะสงคราม ( ปัจจุบันเป็นศูนย์ฝึกอบรมของสำนักงานทรัพย์สินสาวนพระมหากษัตริย์ ) โดยพันโท ก้าน จำนงภูมิเวทให้ทหารยิงปืนประจำรถถังใส่ทำเนียบท่าช้างให้รถวิ่งเข้าทำลายประตู ทว่านายปรีดีได้หนีลงเรือไปก่อนแล้ว สายที่สองไปที่บ้านของพลเรือตรีหลวงธำรงที่ถนนราชวิถี ข้างสวนจิตรลดาแต่ไม่พบตัว สายที่สามคือบ้านของพลเรือตรีสังวร สุวรรณชีพ อธิบดีกรมตำรวจ ทว่าได้หลบหนีไปอยู่ในอารักขาของทหารเรือที่บางนา



ฝ่ายทหารออกแถลงการณ์โจมมีรัฐบาลหลวงธำรงค์ ว่า
ไม่สามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจและมีการทุจริตคอรัปชั่น จอมพล ป.ผู้นำคณะรัฐประหารได้เปิดเจรจากับนายควง และม.ร.ว.เสนีย์ โดยให้นายควง อภัยวงศ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เป็นนายกรัฐมนตรี

มีคำสั่งยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับ 9 พฤษภาคม 2489 ที่ประกาศใช้ในสมัยรัฐบาลปรีดี แล้วบังคับใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราว ที่เรียกว่ารัฐธรรมนูญฉบับใต้ตุ่มหรือฉบับตุ่มแดงซึ่งพลโท หลวงกาจ กาจสงคราม ( เทียน เก่งระดมยิง ) อดีตเสรีไทยที่หันมาโจมตีนายปรีดี เป็นผู้ร่างขึ้นแทน


นายเตียงได้หลบหนีการจับกุมไปอยู่ภูพาน ฐานที่มั่นเก่าของเสรีไทยเตรียมกำลังเสรีไทยเก่าลงจากเขาภูพานเพื่อตอบโต้และยึดอำนาจจากกลุ่มเผด็จการทหารให้กับนายปรีดีและคณะ แต่ได้รับการขอร้องจากนายปรีดี เพราะไม่อยากให้คนไทยต้องฆ่ากันเอง

นายเตียงเคารพนายปรีดี จึงไม่จับอาวุธขึ้นสู้ หลบอยู่บนเทือกเขาภูพานโดยได้รับการช่วยเหลือจากชาวบ้านในสกลนคร ต่อมารัฐบาลได้กล่าวหานายเตียง ว่าเป็นกบฏแบ่งแยกดินแดนอีสาน โดยอ้างการก่อตั้งองค์การสันติบาตอาเชียอาคเนย์ ทั้งๆที่แนวคิดของนายปรีดีต้องการสร้างความเข้มแข็งให้กับกลุ่มประเทศอินโดจีนเพื่อต่อรองกับประเทศตะวันตก นายปรีดีเดินทางไปลี้ภัยที่จีน และฝรั่งเศส

4 มีนาคม 2492 เพื่อนรัฐมนตรีนักต่อสู้จากอีสาน ถูกตำรวจลูกน้องของ พล.ต.อ เผ่า สังหารโหดที่ถนนพหลโยธิน นายเตียง ศิริขันธ์ ลงจากภูพานมอบตัวต่อสู้คดี เพราะทางการใช้วิธีบีบบังคับเพื่อนและผู้เกี่ยวข้องกับท่านก็ถูกจับ ต่อมานายเตียงได้ถูกอุ้มหายสาบสูญไป และถูกฆ่ารัดคอที่เขตพระโขนง โดยศพถูกนำไปเผาและฝัง เมื่อ กลางเดือนธันวาคม 2495 ที่ป่า ต.แก่งเสี้ยน อ.เมือง กาญจนบุรี ขณะมีอายุ 43 ปี พร้อมกับข้อกล่าวหา เป็นกบฎแบ่งแยกดินแดน และ เป็นคอมมิวนิสต์

นี่คือชะตากรรมที่เจ็บปวดของสามัญชน ที่ทำงานเพื่อประเทศชาติและประชาชนได้รับ ของผู้ที่มีคุณูปการแก่สังคมไทยอย่างใหญ่หลวง ทั้งทางด้านการปกครองระบอบประชาธิปไตย การกอบกู้ประเทศชาติในฐานะหัวหน้าขบวนการเสรีไทย เป็นผู้วางแนวคิดการกระจายอำนาจไปสู่ประชาชนระดับล่าง ที่ต้องการให้ทุกๆคนบนพื้นอันเป็นสยามประเทศนี้ เป็นราษฎรเสมอหน้ากันหมด ปราศจากความเหลื่อมล้ำต่ำสูง แต่สุดท้ายก็ถูกป้ายสีให้กลายเป็นผู้ร้ายของสังคม

แม้นายเตียง ศิริขันธ์ และพลพรรคเสรีไทย จะมีคุณูปการต่อประเทศชาติ ต่อสังคมพี่น้องลุ่มแม่น้ำโขง และต่อสกลนคร แต่กลับมิได้มีสิ่งใดๆ ไว้เป็นอนุสรณ์เป็นที่รำลึกถึง แม้กระทั่งประวัติศาสตร์เสรีไทยแห่งเทือกเขาภูพานอันยิ่งใหญ่ ยังเป็นเรื่องที่ต้องปกปิด หลบๆซ่อนๆอย่างกับเป็นเรื่องที่น่ารังเกียจ น่าเสียใจที่ลูกหลานชาวสกลนคร-อีสานทุกวันนี้ไม่รู้ว่าเตียง ศิริขันธ์ คือใคร ชีวิตนายเตียงลำบากเพื่อคนไทยมามาก ต่อสู้กับเผด็จการต้องพเนจรอยู่ตามป่าเขา อยู่อย่างหลบๆซ่อนๆ เพื่อคนไทยจะไม่ต้องเป็นเมืองขึ้นของต่างชาติในการต่อต้านญี่ปุ่น

เอาใจใส่ และดูแลพี่น้องร่วมสายโลหิตแห่งอินโดจีน ในยามที่พวกเขาทุกข์ยากเมื่อถูกมหาอำนาจกดขี่ ต้องอดอยากบางคราวไม่มีข้าวจะกิน เดินฝ่าสายฝนและสายลมหนาวอันยะเยือก กลางภูพานเพียงลำพัง เพราะโดนข้อกล่าวหา เพื่อกำจัดนักการเมืองที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย และคนยากไร้ในแผ่นดิน ต้องซมซานหนีไปตามซอกภูพาน

บั้นปลายสุดท้ายแทนที่คนเหนื่อยยากเพื่อคนไทย และสันติภาพแห่งมนุษยชาติ อย่างนายเตียง ศิริขันธ์ จะได้มีความสุขกับชีวิตและครอบครัวบ้าง กลับถูกอุ้มฆ่ารัดคอ นำไปเผา-ฝัง อย่างโหดเหี้ยมที่สุด และแทนที่วีรกรรมของวีรชนแห่งอีสาน-เทือกเขาภูพาน จะได้รับเกียรติ กลับถูกปิดเงียบและบิดเบือนไปอย่างน่าเสียใจที่สุด



ครูครอง จันดาวงศ์
วีรบุรุษสว่างแดนดิน

เกิดเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2451 ในครอบครัวชาวนามีฐานะ คุ้มวัดศรีษะเกษ ตำบลชาติเชิงชุม อำเภอธาตุเชิงชุม สกลนคร บิดาชื่อนายกี ได้บรรดาศักดิ์เป็นหมื่นศรีภักดี มารดาชื่อ เชียงวัน
ปี 2480 เป็นครูใหญ่ที่โรงเรียนวัดบ้านทรายมูล ตำบลพันนา อำเภอสว่างแดนดิน ร่วมกับกลุ่มครูในจังหวัดสกลนครในปี 2481

ช่วยคุณเตียง ศิริขันธ์ หาเสียงเลือกตั้งได้ชัยชนะ ร่วมกันตั้งโรงเรียนราษฎรมัธยม ตั้งโรงเรียนมัธยมศิริขันธ์ 1 และโรงเรียน มัธยมศิริขันธ์ 2 คุณครองรับเป็นผู้จัดการโรงเรียนศิริขันธ์ 2 โดยไม่คิดค่าตอบแทนใด ๆ

เมื่อเกิดสงครามมหาเอเชียบูรพา ญี่ปุ่นเข้ายึดครองประเทศไทย กลุ่มผู้รักชาติได้จัดตั้งเป็นขบวนการเสรีไทยเพื่อต่อต้านญี่ปุ่น คุณเตียง ศิริขันธ์ ได้เป็นหัวหน้าใหญ่เสรีไทยสายอิสาน
คุณครองได้ร่วมขบวนการอย่างแข็งขัน ลาออกจากราชการครู มาทำการค้าขายใช้การค้าบังหน้า ประสานงานให้ขบวนการเสรีไทย ขยายพลพรรค จัดตั้งกองกำลังเสรีไทย ตั้งค่ายฝึกและสร้างสนามบินลับที่สกลนคร จัดหน่วยลำเลียงอาวุธ ช่วยหาข่าวส่งข่าวให้กองบัญชาการเสรีไทยที่ภูพาน จนสงครามโลกยุติลง และขบวนการเสรีไทยยุบตัวลง

คุณครองก็หันมาประกอบอาชีพอิสระเพื่อให้ฐานะทางเศรษฐกิจดีขึ้น แต่เกิดการรัฐประหารเดือนพฤศจิกายน 2490 นำโดยพลโทผิน ชุณหะวัณ (บิดาพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ) และรัฐบาลใหม่ มุ่งที่จะจับกุมคุณเตียง ศิริขันธ์ ฐานที่เป็นศัตรูกับรัฐบาล คุณเตียงได้หลบหนีไปอยู่บนภูพาน จนล้มป่วย ในปี 2491 คุณครองไปดูอาการและพาหมอไปรักษา คุณครองพร้อมพวกอีก 15 คน ถูกจับกุมในเดือนมีนาคม 2491 เพื่อบีบให้คุณเตียงมอบตัว คุณเตียงจึงยอมมอบตัว และทั้งหมดก็ถูกดำเนินคดีในข้อหากบฏแบ่งแยกดินแดนอิสาน

คดีถูกฟ้องร้องที่ศาลอาญากรุงเทพฯ โดยอ้างว่าจำเลยเป็นผู้มีอิทธิพล ทำให้ผู้ต้องหาทุกคนลำบากมาก ต้องเดินทางขึ้นลงเพื่อไปขึ้นศาลอาญา จนถึงปี 2494 ศาลก็ยกฟ้อง หลังจากพ้นข้อหาไม่นานคุณครองได้ลงสมัครเป็นสมาชิกสภาจังหวัดเขตสว่างแดนดิน และได้รับการเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น ในปี 2495 สมัยเดียวกันคุณทองพันธ์ สุทธิมาศ ก็ชนะการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาจังหวัดเขตอำเภอวานรนิวาสเช่นกัน


คุณครองได้ต่อสู้เพื่อสิทธิประโยชน์ของชาวนาชาวไร่ และการเคลื่อนไหวสันติภาพ
คัดค้านจักรพรรดินิยมอเมริกา ที่ก่อสงครามในเกาหลี คัดค้านรัฐบาลไทยที่ส่งทหารไทยไปสู้รบร่วมกับสหรัฐในเกาหลี เป็นตัวแทนชาวนาชาวไร่จากสกลนคร เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการสันติภาพ ในเดือนสิงหาคม 2495 ที่กรุงเทพ

เดือนพฤศจิกายน 2495 รัฐบาลกวาดล้างจับกุมคณะสันติภาพทั้งหมด คุณครองจึงถูกจับเป็นครั้งที่สอง ในข้อหากบฏสันติภาพ และต่อมารัฐบาลก็ได้ออกกฏหมาย ว่าด้วยการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ และฟ้องคณะกบฏสันติภาพในข้อหาคอมมิวนิสต์ ศาลตัดสินจำคุกจำเลย 38 คนคนละ 13 ปี 8 เดือน ทั้งหมดได้รับการนิรโทษกรรมในปี 2500 ในงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษของรัฐบาล
รัฐบาลจอมพล ป. ถูกโค่นโดยจอมพลสฤษดิ์ ในเดือนกันยายน 2500 มีการยุบสภา และเลือกตั้งใหม่ในเดือนธันวาคม2500 คุณครอง จันดาวงศ์ ชนะการเลือกตั้งเป็นสส.สกลนคร พรรคแนวร่วมเศรษฐกร

สภาชุดนี้อยู่ได้เพียง 10 เดือน จอมพลสฤษดิ์ ก็ก่อการรัฐประหารครั้งที่สอง ในวันที่ 20 ตุลาคม 2501 คราวนี้จอมพลสฤษดิ์ขึ้นครองอำนาจเอง สถาปนาระบอบเผด็จการเต็มรูปแบบ ยกเลิกระบอบรัฐสภาและการเลือกตั้ง ใช้ธรรมนูญปกครอง เพียง20 มาตรา จากนั้นได้กวาดล้างปราบปรามนักหนังสือพิมพ์และนักการเมืองฝ่ายค้าน คุณครองต้องกลับมาประกอบอาชีพเกษตรกรและค้าขายที่สกลนคร และทำงานร่วมกับประชาชนโดยมีจุดมุ่งหมายจัดตั้งให้ชาวนาชาวไร่รวมตัวกันเพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

ปลายปี 2503 รัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำการปราบปรามอย่างหนัก จนครูครองและเพื่อนครูถูกล่าหนีหัวซุกหัวซุน ไปลี้ภัยอยู่ที่ภูพานชั่วคราว ก่อนจะแอบกลับมาบ้านในวันที่ 4 พฤษภาคม 2504 เพื่อเตรียมสัมภาระไปอยู่บนภู ระหว่างรอเพื่อน ครูครองก็ถูกจับกุมอีกครั้ง ในข้อหากบฏต่อความมั่นคง มีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ พร้อมกับผู้ถูกจับกุมคนอื่นๆรวม 108 คน ถูกนำตัวมาสอบสวนที่กรุงเทพฯกว่า 20 วัน และถูกตัดสินประหารชีวิต ด้วยมาตรา 17 โดยไม่มีการไต่สวนพิจารณาคดีแต่อย่างใด คุณครองถูกประหารชีวิต พร้อมกับคุณทองพันธุ์ สุทธิมาศ ในวันที่ 31 พฤษภาคม 2504

ที่ อ.สว่างแดนดิน ตำรวจนำตัว นายครอง จันดาวงศ์ กับพรรคพวกที่ถูกจับกุมในข้อหาเดียวกัน ไปยังสนามบิน อำเภอสว่างแดนดิน ซึ่งใช้เป็นแดนประหาร เขาไม่มีกิริยาสะทกสะท้าน กลับเดินเข้าสู่แดนประหารอย่างองอาจ ยิ้มเยาะและไม่แยแสต่อคำสั่งเผด็จการ แม้กระทั่งหนังสือพิมพ์ซึ่งเป็นกระบอกเสียงของรัฐบาลฉบับหนึ่ง ก็ยังยอมรับว่า "เมื่อเจ้าหน้าที่นำตัวนายครองและนายทองพันธ์เข้าสู่ที่ประหารนั้น ปรากฏว่าเดินไปอย่างทรนง ไม่หวาดหวั่นแต่อย่างใด โดยเฉพาะนายครองนั้น ยังคงยิ้มอยู่เช่นเดิม"

ในการประหารนายครองที่สนามบินนั้นทางการสฤษดิ์ได้ปกปิดข่าวอย่างมิดชิด แม้แต่ภรรยา ครอบครัวของครูครองก็ไม่รู้ข่าวว่าเสาหลักของครอบครัวกำลังจะถูกประหาร และยังห้ามประชาชนเข้ามาในบริเวณสนามบิน รัฐบาลได้ระดมกำลังทหารกว่า 200 คน กับตำรวจอีกไม่น้อย ยืนล้อมรอบสนามบินราวกับจะเตรียมรับศึกใหญ่

คุณครองได้กล่าวต่อหน้าจอมเผด็จการสฤษดิ์ อย่างอาจหาญชาญชัยว่า "ผมรู้ดีว่าท่านต้องยิงเป้าผมแน่ แต่อย่าคิดว่าผมกลัวนะ ยิงเดี๋ยวนี้เลยก็ได้ ที่ผมกลัวน่ะ ไม่ใช่กลัวจะถูกยิงเป้า แต่กลัวว่าท่านจะหนีไปได้ เมื่อประชาชนลุกขึ้นมา ผมภาวนาขออย่าให้ท่านหนีไปได้ ขอให้ประชาชนเอาเลือดของท่านล้างตีนให้ได้"

11.30 น. ณ ลานประหาร หลังจากกินข้าวและดื่มน้ำมื้อสุดท้ายด้วยอาการสงบ ครูครอง จันดาวงศ์ และทองพันธ์ สุทธิมาศ ก็ถูกนำตัวเข้าหลักประหาร ใช้ผ้าปิดตาเรียบร้อย มีการอ่านคำตัดสินตามมาตรา 17 ของรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ครูครองได้เปล่งคำขวัญ เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ จบประโยคเสียงปืนกลยิงรัว 90 นัด เวลา 12.13 น. ครูครอง จันดาวงศ์ ก็เสียชีวิตด้วยอายุ 54 ปี ในขณะที่เวทีประหารดำเนินไป คุณแตงอ่อนคู่ชีวิตครูครองกำลังทำนาอยู่ เธอไม่ได้รู้ตัวล่วงหน้ามาก่อน เมื่อมีคนไปแจ้งให้ทราบจึงรีบวิ่งมายังหลักประหาร พบเพียงร่างที่แหลกเละด้วยคมกระสุนปืน เลือดไหลนองพื้นดิน ท่ามกลางผู้คนที่ยืนมุงดูอยู่ห่างๆ ท่าทางหวาดผวาระคนตื่นกลัว ไม่มีใครกล้าเข้าไปช่วยจัดการกับร่างไร้วิญญาณที่ทอดร่างอยู่ ณ ลานกว้างนั้น เพราะกลัวจะถูกดึงเข้าไปพัวพันนำภัยมาถึงตัว แม้กระทั่งพ่อค้าโลงศพหลายรายยังปฏิเสธที่จะขายโลงให้

ปลายปี 2504 จิตร ภูมิศักดิ์ ซึ่งขณะนั้นอยู่ในคุก ได้อาศัยความรู้สึกประทับใจในการต่อสู้ของคุณครอง จันดาวงศ์ แต่งเพลงวีรชนปฏิวัติ เพื่อรำลึกถึงบทบาทของคุณครองโดยตรง
ครูครอง เป็น ครู นักการเมือง และนักต่อสู้ของประชาชน ผู้ยืนหยัดคัดค้านเผด็จการ คัดค้านการขายชาติให้จักรพรรดินิยม แม้กระทั่งวาระสุดท้ายของชีวิต โดยที่มือยังอยู่ในกุญแจและขายังอยู่ในตรวน ก็มิได้หวั่นไหว

ประเทศไทยได้มีวีรชนนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยหลายคนที่ต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาคและผลประโยชน์ของชาติและประชาชนอย่างเด็ดเดี่ยวกล้าหาญ แต่พวกเขาก็ถูกพวกเผด็จการขุนศึกที่สนับสนุนโดยรัฐบาลสหรัฐในยุคสงครามเย็น พร้อมทั้งสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่รวมกันเป็นพันธมิตรที่เหนียวแน่น ในการกำจัด และประหัตประหารนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของประชาชนมาโดยตลอด

.........
.........

ไม่มีความคิดเห็น: