วันอังคารที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

ตำนานๆ 009026: จอมพลคู่พระบารมี

ฟังเสียงพร้อมเพลงประกอบ : http://www.4shared.com/mp3/dB01-Y3t/The_Royal_Legend_026_.html
หรือที่ :
http://www.mediafire.com/?dt83ydganj4cpbj


โปรดทราบ : ไฟล์เสียงที่เคยdownloadไม่ได้ บัดนี้ได้แก้ไขแล้ว
โปรดลองเข้าที่
linkใหม่


........


นับตั้งแต่ปี 2503 จอมพลสฤษดิ์ได้ใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพอย่างไม่มีความปราณี เพื่อสำแดงความสูงส่งของสถาบันพระมหากษัตริย์และมักจะพ่วงข้อหาฝักใฝ่คอมมิวนิสต์เข้าไปด้วย นักเขียนที่ตั้งชื่อสุนัขว่าภูมิพลถูกจับขังคุก นักประวัติศาสตร์เรียกสฤษดิ์ว่าเผด็จการพ่อขุน ความโหดและการทุจริตฉ้อฉลของสฤษดิ์ไม่เป็นปัญหาสำหรับพระราชวัง


พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลทรงแสดงความเชื่อมั่นในตัวสฤษดิ์ ชนิดที่รับรู้กันดีในสาธารณะ ทรงประทานของขวัญแก่จอมพลสฤษดิ์ เสด็จไปเยือนฟาร์มของสฤษดิ์ และทรงประกาศว่าประเทศชาติเป็นหนี้บุญคุณสฤษดิ์มาก สฤษดิ์ได้รับพระบรมราชานุญาตให้ปฏิบัติพระราชพิธีแทนพระองค์ ในการทอดกฐินหลวงที่จังหวัดขอนแก่น เป็นต้น

เป็นการแบ่งปันอำนาจและการนำ ระหว่างพระมหากษัตริย์และสฤษดิ์ พระเจ้าอยู่หัวทรงครอบครองความชอบธรรมตามพระประสงค์ ส่วนจอมพลสฤษดิ์ในฐานะนายกรัฐมนตรีก็ได้รับการรับรองความชอบธรรมจากพระเจ้าอยู่หัวเป็นการตอบแทน ได้บริหารประเทศในนามของพระมหากษัตริย์ เป็นการประสานผลประโยชน์ระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์กับกองทัพที่จงรักภักดี ผลประโยชน์ของวัง จะได้รับการปกป้องโดยนายพลสามัญชน

พระยาศรีวิสารวาจา (เทียนเหลียง ฮุนตระกูล) ผู้นิยมเจ้าเข้ากระดูกลาออกจากองคมนตรีในปี 2505 เพื่อมาเป็นที่ปรึกษาให้กับจอมพลสฤษดิ์ ตั้งแต่ความมั่นคงแห่งชาติ การจัดการสภาแห่งชาติ ไปจนถึงงานพัฒนาด้านวัฒนธรรม จนกระทั่งเสียชีวิตในปี 2511 พระยาศรีวิสารวาจายังเป็นเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เชื่อมวังกับศูนย์กลางนโยบายรัฐ


เมื่อจอมพลสฤษดิ์ ถึงแก่อสัญกรรมด้วยโรคตับ ในเดือนธันวาคม 2506 โทรทัศน์ได้แพร่ภาพพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลใช้พระหัตถ์แตะหน้าผากของสฤษดิ์ก่อนอสัญกรรม คล้ายพระพุทธเจ้ากำลังทรงอำนวยพร ภาพนี้ ได้รับการเผยแพร่ราวกับเป็นภาพบูชาทางศาสนาที่พิสูจน์ให้เห็นว่าจอมพลสฤษดิ์ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทเพียงใด

พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลทรงประกาศไว้ทุกข์ ในราชสำนักเป็นเวลา 21 วัน อันไม่เคยปรากฏมาก่อน และศพของจอมพลสฤษดิ์อยู่ภายใต้การเป็นเจ้าภาพของสำนักพระราชวังเป็นเวลา 100 วัน บรรจุในโกศทองคำภายใต้ฉัตรพระราชทานห้าชั้น ทั้งสองพระองค์ทรงเสด็จเป็นประธานในพิธีพระราชทานเพลิงศพในวันที่ 17 มีนาคม 2507 พระยาศรีวิสารวาจาได้กล่าวในภายหลังว่าไม่เคยมีนายกรัฐมนตรีคนใดมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพระมหากษัตริย์มากเท่าจอมพลสฤษดิ์เลย


เพียงไม่กี่สัปดาห์หลังจอมพลสฤษดิ์อสัญกรรม มีการเปิดเผยว่า
สฤษดิ์สะสมทรัพย์สมบัติไว้ถึง 2,800 ล้านบาท กับที่ดินอีก 20,000 ไร่ โดยยักยอกจากรัฐบาลและงบช่วยเหลือจากต่างประเทศ จอมพลสฤษดิ์ได้เลี้ยงผู้หญิงไว้คอยปรนเปรอมากกว่า 100 คน ซึ่งได้ต่อสู้แย่งชิงทรัพย์สินมรดกเป็นข่าวอื้อฉาว



ทำให้รัฐบาลจอมพลถนอมต้องเริ่มสอบสวน เพียงสองวันก่อนการพระราชทานเพลิงศพ แต่เรื่องนี้ก็ไม่ได้แปดเปื้อนถึงพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลเลยแม้แต่น้อย ด้วยการที่ทรงอยู่ยงคงกระพันผ่านนายกรัฐมนตรีมาแล้ว 7 คนและการรัฐประหารที่ประสบความสำเร็จ 5 ครั้งใน 17 ปี ราชบัลลังก์ของพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลแทบไม่มีจุดด่างพร้อย ไม่มีอะไรมากร้ำกรายแผ้วพาน ธรรมราชาได้สถาปนาตนเองเป็นเสาหลักที่ผดุงเสถียรภาพ และความต่อเนื่องของชาติ เป็นอิสระจากโลกีย์ที่แวดล้อมอยู่รอบพระองค์ ความเชื่อมั่นศรัทธาในสถาบันพระมหากษัตริย์ได้หยั่งรากลึก ลงในผู้คนที่คาดหวังให้ทรงปกป้องผลประโยชน์ของพวกตนและนำพาประเทศไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง โดยไม่มีข้อสงสัยใดๆทั้งสิ้น


ประวัติจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์


จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ (16 มิถุนายน 2451 - 8 ธันวาคม 2506) นายกรัฐมนตรีคนที่ 11 เกิดที่บ้านท่าโรงยา ตลาดพาหุรัด กรุงเทพมหานคร เป็นบุตรของพันตรีหลวงเรืองเดชอนันต์ (ทองดี ธนะรัชต์) กับนางจันทิพย์ ธนะรัชต์ เคยดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก ก่อนจะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยการรัฐประหาร เริ่มการศึกษาชั้นต้นที่จังหวัดมุกดาหาร เข้ารับการศึกษาต่อที่โรงเรียนวัดมหรรณพาราม ในปี พ.ศ. 2462 เข้าเรียนโรงเรียนนายร้อยทหารบก อยู่ 10 ปี สำเร็จการศึกษาเมื่อปี 2471 เข้ารับราชการเป็นนักเรียนทำการนายร้อย กองพันที่ 1 กรมทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ เมื่อ 2472


ปี 2476 ขณะที่ติดยศร้อยตรี ได้เกิด
กบฏบวรเดช นำโดยพลเอก พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช ร้อยตรีสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นหนึ่งในผู้บังคับหมวดปราบปรามกบฏของฝ่ายรัฐบาล ที่มี พันเอก หลวงพิบูลสงคราม เป็นผู้บังคับบัญชา หลังจากรัฐบาลได้รับชัยชนะ ได้รับพระราชทานยศ ร้อยโท ในปี 2478 เลื่อนยศเป็น ร้อยเอก




2484 พันตรีสฤษดิ์ เข้าร่วมรบในสงครามมหาเอเชียบูรพา ตำแหน่งผู้บังคับการทหารราบที่ 33 จังหวัดลำปาง 2488 ได้เลื่อนยศเป็นพันเอก ตำแหน่งผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 13 และผู้บังคับการจังหวัดทหารบกลำปาง

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ปี 2487 อำนาจของจอมพล ป. พิบูลสงครามได้เริ่มเสื่อมถอยลง จากการที่พันธมิตรญี่ปุ่นของจอมพล ป. พ่ายแพ้สงคราม หลังจากลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่พันเอกสฤษดิ์ ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 1 รักษาพระองค์ ซึ่งเป็นหน่วยกำลังสำคัญ

2490 คณะนายทหารนำโดยจอมพลผิน ชุณหะวัณ ก่อการรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลพลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ โดยมีพันเอกสฤษดิ์ ธนะรัชต์เข้าร่วมคณะรัฐประหารที่มีจอมพลป. อยู่เบื้องหลัง เป็นการกลับคืนสู่อำนาจอีกครั้งหนึ่งของจอมพล ป. พิบูลสงคราม โดยมีพันเอกสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นขุนพลคู่ใจ ตั้งแต่นั้น ชีวิตราชการของพันเอกสฤษดิ์ได้เติบโตอย่างรวดเร็ว ในปี 2492 ได้ยศ พลตรี ตำแหน่งแม่ทัพกองทัพที่ 1 และรักษาการผู้บัญชาการกองพลที่ 1

ผลงานที่สร้างชื่อคือการเป็นหัวหน้าปราบกบฏวังหลวงคราวที่นายปรีดีแอบกลับไทยยึดวัดพระแก้วเป็นกองบัญชาการแต่ถูกพลตรีสฤษดิ์ยิงปืนจากรถถังทำลายประตูวิเศษไชยศรี จนนายปรีดีต้องหลบหนีออกนอกประเทศอีกครั้งหนึ่ง หลังเสร็จสิ้นภารกิจ ได้รับการเลื่อนยศเป็น พลโท และก้าวขึ้นตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 1 เมื่อปี 2493และในปี 2495 ได้เป็นรองผู้บัญชาการทหารบก ครองยศ พลเอก

ในรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม พลเอกสฤษดิ์ ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม
วันที่ 23 มิถุนายน 2497 ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้บัญชาการทหารบก และได้รับพระราชทานยศ จอมพล
วันที่ 10 สิงหาคม 2500 ได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในรัฐบาลชุดสุดท้ายของจอมพลป.อยู่ในตำแหน่งได้เพียง 10 วัน ก็ลาออก



สาเหตุจากการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 26 กุมภาพันธ์ 2500 ซึ่งมีการกล่าวขานว่าเป็นการเลือกตั้งสกปรก มีการโกงทุกรูปแบบ โดยเฉพาะการใช้อันธพาลที่เรียกโดยสุภาพในขณะนั้นว่า "ผู้กว้างขวาง" ทำให้พรรคเสรีมนังคศิลาของจอมพล ป.ได้เสียงข้างมากจัดตั้งรัฐบาล ท่ามกลางความวุ่นวาย การเดินขบวนประท้วงของนักเรียนนักศึกษาและประชาชนนับหมื่นนับแสนคนเรียกร้องให้จอมพล ป. และพลตำรวจเอกเผ่า อธิบดีกรมตำรวจคู่บารมีผู้สถาปนารัฐตำรวจที่ทรงอำนาจ ลาออกจากตำแหน่ง

ในช่วงสถานการณ์ลุกลามวุ่นวายอย่างหนัก จอมพล ป. ได้แต่งตั้งให้จอมพลสฤษดิ์เป็นผู้บัญชาการ 3 เหล่าทัพ เพื่อควบคุมสถานการณ์ และจอมพลสฤษดิ์ ได้สั่งการไม่ให้ทหารทำอันตรายประชาชนที่เดินขบวน ทำให้กลายเป็นขวัญใจของประชาชนทันที ทำให้รัฐบาลจอมพล ป. ขาดความชอบธรรมที่จะปกครองบ้านเมือง จอมพลสฤษดิ์ ประกาศลาออกจากรัฐมนตรีว่าการกลาโหม คงเหลือแต่ตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก



แต่จอมพล ป. ยังหวงแหนอำนาจอย่างเหนียวแน่น สถานการณ์จึงตรึงเครียดมากขึ้น มีทั้งนายทหารและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งประเภท 1 และประเภท 2 ที่เคยสนับสนุนรัฐบาลบางส่วนลาออก บางส่วนไม่ยอมร่วมสังฆกรรมด้วย
พากันไปร่วมมือกับจอมพลสฤษดิ์ เพื่อให้จอมพล ป. และพลตำรวจเอกเผ่า ลงจากอำนาจ





13 กันยายน 2500
จอมพลสฤษดิ์ และคณะทหารยื่นคำขาดต่อจอมพล ป. ให้ลาออก แต่จอมพล ป. จะให้รัฐมนตรีลาออก แต่ตนขอเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลเอง ยิ่งสร้างความไม่พอใจแก่ประชาชนเป็นอย่างมาก จอมพลสฤษดิ์ ได้พูดผ่านวิทยุยานเกราะถึงผู้ชุมนุม โดยมีประโยคสำคัญว่า "พบกันเมื่อชาติต้องการ"




15 กันยายน 2500 ผู้คนนับแสนพากันลุกฮือเดินขบวนบุกเข้าไปในทำเนียบรัฐบาล เมื่อไม่พบจอมพล ป. จึงพากันไปบ้านจอมพลสฤษดิ์ ขณะที่จอมพล ป. ก็กำลังจะเตรียมจับกุมจอมพลสฤษดิ์ข้อหากบฏสนับสนุนให้ผู้ชุมนุมประท้วงรัฐบาล แต่ไม่ทันดำเนินการใดๆ ในคืนวันที่ 16 กันยายน 2500 จอมพลสฤษดิ์ ก็นำกำลังทหารเข้ายึดอำนาจโค่นล้มจอมพล ป.ในคืนนั้น จอมพล ป. และพลตำรวจเอกเผ่า ลี้ภัยไปต่างประเทศ ท่ามกลางความยินดีของประชาชนชาวไทย

หลังจากการยึดอำนาจรัฐบาลจอมพล ป. แล้ว จอมพลสฤษดิ์ เห็นว่า ไม่เหมาะที่ตนเองจะขึ้นครองอำนาจ ประกอบกับมีปัญหาสุขภาพ จึงตั้งนายพจน์ สารสิน เป็นนายกรัฐมนตรี หลังจากรัฐบาลนายพจน์ สารสินจัดการเลือกตั้งแล้ว พลโทถนอม กิตติขจรก็รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2501 ต่อมาได้เกิดความวุ่นวายจากความขัดแย้งระหว่างสมาชิกพรรคที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกับรัฐมนตรีในรัฐบาลและพลโทถนอม ไม่สามารถคุมสถานการณ์ได้ จอมพลสฤษดิ์จึงเดินทางกลับจากต่างประเทศร่วมกับพลโทถนอมยึดอำนาจรัฐบาลพลโทถนอมเอง โดยจอมพลสฤษดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2502

จอมพลสฤษดิ์ ประกาศยกเลิกสถาบันทางการเมืองต่าง ๆ เช่น พรรคการเมือง โดยกล่าวว่า "ข้าพเจ้าขอรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว" ทั้งยังได้ปรับปรุงการบริหารและการพัฒนาประเทศไว้มาก ได้แก่ การออกกฎหมายเลิกการเสพและจำหน่ายฝิ่นโดยเด็ดขาด กฎหมายปราบปรามนักเลงอันธพาล กฎหมายปรามการค้าประเวณี

สิ่งสำคัญคือ การวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ โดยการสนับสนุนจากต่างประเทศ ศึกษาค้นคว้าวิจัย จัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศฉบับที่ 1(ปี 2504 - 2509) เป็นแม่แบบของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับต่อๆมาจนถึงปัจจุบัน มีการสร้างสาธารณูปโภคสำคัญที่เป็นพื้นฐานของการดำรงชีวิต เช่น ไฟฟ้า, ประปา, ถนน ให้กระจายทั่วทั้งในเมืองและชนบท

จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจนถึงแก่อสัญกรรม เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2506 ที่ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ด้วยโรคไตพิการเรื้อรัง อายุได้ 55 ปี และเป็นนายกรัฐมนตรีคนเดียวที่เสียชีวิตลงในขณะที่ดำรงตำแหน่ง

จอมพลสฤษดิ์ มีฉายาว่าจอมพลผ้าขาวม้าแดง เพราะเวลาไปรับตัวหญิงสาวที่บรรดาแม่เล้าเอาไปประเคนที่กองพลที่ 1 รักษาพระองค์ ที่เรียกว่าวิมานสีชมพู ท่านนิยมนุ่งผ้าขาวม้าสีแดงออกมารับหญิงสาวเหล่านั้น



ว่ากันว่าท่านมีอนุภรรยาหรือนางบำเรอถึงร้อยกว่าคน แม้กระทั่งดาราฮ่องกง ท่านจอมพลก็เอาเงินหลวงไปซื้อมา มีทั้ง ดารา นางแบบ นักร้อง ในสมัยนั้น หรือ พวกนางงามจากการประกวดนางงามวชิราวุธานุสรณ์ (ประกวดนางสาวไทยในสมัยนั้น) ก็ล้วนแล้วแต่เป็นอนุภรรยาหรือนางบำเรอของจอมเผด็จการสฤษดิ์ทั้งสิ้น จอมพลสฤษดิ์สมรสครั้งสุดท้ายกับ นางสาว วิจิตรา ชลทรัพย์ ต่อมาเป็น ท่านผู้หญิงวิจิตรา ธนะรัชต์



การปกครองในสมัยจอมพลสฤษดิ์ มิใช่เป็นการปกครองระบอบรัฐธรรมนูญ แต่
เป็นการปกครองระบอบเผด็จการทหารโดยแท้จริง ระยะเวลาเกือบ 4 ปีเต็มที่เรืองอำนาจกุมชะตากรรมของประเทศไว้ได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ชี้นกเป็นนก ชี้ไม้เป็นไม้






แต่หลังจากที่หมดอำนาจเสียชีวิตไป น้ำลด ตอผุด เผยความจริงให้เห็นว่าท่านจอมพลไม่ใช่นักปฏิวัติที่แท้จริง ช่วงที่เรืองอำนาจมีการคอรัปชั่นเงินของชาติไปเกือบ 2000 ล้านบาท ให้นายทุนต่างชาติเข้ามากอบโกยทรัพยากรจากประเทศไปอย่างมหาศาล เมื่อเสียชีวิต มีการแฉทั้งเบื้องหน้าเบื้องหลังของทรัพย์สิน ทั้งที่มีอยู่ในธนาคารและที่อื่นๆ มีการแจกเงินสด บ้าน ที่ดิน รถยนต์ เครื่องเพชรราคาแพง เงินเดือนประจำแก่ผู้หญิงที่เกี่ยวข้องได้ใช้กันอย่างเต็มที่ จอมพลสฤษดิ์ได้ผลาญเงินของชาติไปเกือบ 2000 ล้านบาท ต่อมายึดคืนได้เพียง 600 ล้านบาทเศษ

จอมพลสฤษดิ์ได้ใช้มาตรการเบ็ดเสร็จเด็ดขาด เพื่อจัดการความสงบเรียบร้อยของประเทศ เช่น ประหารชีวิตเจ้าของบ้านทันที หลังจากบ้านใดเกิดเพลิงไหม้เพราะถือเป็นการก่อความไม่สงบ ใช้มาตรา 17 ปราบปรามการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์

ฟื้นกิจกรรมที่แสดงออกถึงความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ เช่น จัดงานเฉลิมวันพระราชสมภพหรืองานเฉลิมพระชนมพรรษา การสวนสนามของทหารรักษาพระองค์ การประดับไฟบนถนนราชดำเนินในวันเฉลิมพระชนมพรรษา เป็นต้น


จอมพลสฤษดิ์ ได้ประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ.2502 สภาได้มีมติ
ให้จอมพลสฤษดิ์เป็นนายกรัฐมนตรีพร้อมกับการใช้อำนาจเผด็จการเบ็ดเสร็จ คือ ม.17 ตามธรรมนูญการปกครอง ที่ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีอย่างไม่มีขอบเขตจำกัด สามารถสั่งจับกุมคุมขังหรือประหารชีวิตใครก็ได้ที่เห็นว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ
แนวคิดในการบัญญัติ ม.17 จอมพลสฤษดิ์ ได้แบบอย่างจากรัฐธรรมนูญฝรั่งเศสสมัยประธานาธิบดีเดอโกล Charles De Gaulle ที่รวมอำนาจนิติบัญญัติ บริหารและตุลาการไว้ที่นายกรัฐมนตรี ให้เป็นอำนาจพิเศษในสถานการณ์พิเศษ จอมพลสฤษดิ์ปราบปรามผู้มีแนวคิดสังคมนิยมหรือคอมมิวนิสต์อย่างรุนแรง ภายใต้การสนับสนุนจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกา

ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2502
(มีแค่20 มาตรา จะกล่าวถึงพียงบางมาตราที่สำคัญ )

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2502
เป็นปีที่ 14 ในรัชกาลปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราชบรมนาถบพิตร มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ประกาศว่าโดยที่หัวหน้าคณะปฏิวัติซึ่งได้กระทำการยึดอำนาจการ ปกครองแผ่นดินเป็นผลสำเร็จ เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 ได้นำความกราบบังคมทูลว่า การที่คณะปฏิวัติได้ประกาศให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2475 แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2495 เสียนั้น ก็โดยปรารถนา จะให้มีรัฐธรรมนูญที่เหมาะสม และให้การปกครองประเทศเป็นไปโดยเรียบร้อยยิ่งกว่าที่เป็นอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนั้น การที่จะให้มีรัฐธรรมนูญเช่นว่านี้ สมควรจัดให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญประกอบด้วย สมาชิกผู้ทรงคุณวุฒิ จัดร่างขึ้นประกาศใช้ต่อไป

แต่ในระหว่างระยะเวลาก่อนที่จะได้มีและประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ซึ่งร่างขึ้นโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญนั้น สมควรให้มีธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร เพื่อใช้ไปพลางก่อน ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในขณะนี้ ทรงพระราชดำริเห็นชอบด้วย และเพื่อให้การเป็นไปตามที่หัวหน้าคณะปฏิวัตินำความกราบบังคมทูล จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ใช้บทบัญญัติต่อไปนี้เป็นธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร จนกว่าจะได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญซึ่งสภาร่างรัฐธรรมนูญจะได้จัดร่างขึ้น

มาตรา 1 อำนาจอธิปไตยมาจากปวงชนชาวไทย
มาตรา 2 ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียว จะแบ่งแยกมิได้ พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข และ ดำรงตำแหน่งจอมทัพไทย


มาตรา 3 องค์พระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการ ผู้ใดจะละเมิดมิได้





มาตรา 4 ให้มีคณะองคมนตรีคณะหนึ่ง มีจำนวนไม่เกินเก้าคน การแต่งตั้ง และการพ้นจากตำแหน่งองคมนตรี ให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย
มาตรา 6 ให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญมีหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญ และให้มีฐานะเป็นรัฐสภา ทำหน้าที่นิติบัญญัติด้วย
มาตรา 7 สภาร่างรัฐธรรมนูญประกอบด้วยสมาชิกจำนวนสองร้อยสี่สิบคนซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงตั้ง ในกรณีที่ตำแหน่งสมาชิกว่างลง จะได้ทรงตั้งแทนใน ตำแหน่งที่ว่างนั้น
......................
มาตรา 15 พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่จะให้รัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่ง
มาตรา 16 ก่อนตั้งคณะรัฐมนตรี หัวหน้าคณะปฏิวัติปฏิบัติหน้าที่ของคณะรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรี

มาตรา 17 ในระหว่างที่ใช้ธรรมนูญนี้ ในกรณีที่นายกรัฐมนตรีเห็นสมควร เพื่อประโยชน์ในการระงับ หรือปราบปรามการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลายความมั่นคงของราชอาณาจักรหรือราชบัลลังก์ หรือการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลาย ก่อกวนหรือคุกคามความสงบที่เกิดขึ้นภายในหรือมาจากภายนอกราชอาณาจักร ให้นายกรัฐมนตรีโดยมติของคณะรัฐมนตรี มีอำนาจสั่งการ หรือกระทำการใด ๆ ได้ และให้ถือว่าคำสั่งหรือการกระทำเช่นว่านั้นเป็นคำสั่งหรือการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อนายกรัฐมนตรีได้สั่งการหรือกระทำการใดไปตามความ ในวรรคก่อนแล้ว ให้นายกรัฐมนตรีแจ้งให้สภาทราบ

มาตรา 20 ในเมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้วินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตย
ในกรณีมีปัญหาเกี่ยวแก่การวินิจฉัยกรณีใด ตามความใน วรรคก่อนเกิดขึ้นในวงงานของสภา หรือเกิดขึ้นโดยคณะ รัฐมนตรีขอให้สภาวินิจฉัย ให้สภาวินิจฉัยชี้ขาด
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ หัวหน้าคณะปฏิวัติ



มาตรา 17 คือกฎหมายที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ได้ร่างขึ้น มีอำนาจครอบคลุมจักรวาลในการกำจัดศัตรูทางการเมืองได้อย่างสมบูรณ์แบบ กฎหมายนี้ประหารชีวิตได้ แม้กระทั่งนายศุภชัย ศรีสติ วิศวกรหนุ่มที่จบจากญี่ปุ่นวัย 34 ปี ผู้นำขบวนการแรงงานไทย ที่เพียงแค่ออกใบปลิวคัดค้านการจับกุมสามล้อเครื่อง ชื่อนายศิลา วงศ์สิน ชาวบ้านจังหวัดนครราชสีมาที่เพียงสำคัญตนเองอวดว่าเป็นผู้วิเศษผู้ศักดิ์สิทธิ์ และผู้ที่โดนข้อหา วางเพลิง ที่ถูกจอมพลสฤษดิ์ สั่งยิงเป้า โดยไม่มีหลักฐานชัดเจน มาตรา 17 สั่งจบชีวิตใครก็ได้ตามอำเภอใจของผู้ปกครองในสมัยนั้นภายใต้ข้ออ้างว่า “เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประเทศชาติ

ระบบการเมืองและการปกครอง
สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์


การเปลี่ยนแปลง 2475 อำนาจทางการเมืองได้เปลี่ยนจากฝ่ายเจ้าไปสู่คนกลุ่มใหม่ ประกอบด้วยข้าราชการทหารและพลเรือน เป็นการเปลี่ยนจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไปสู่ระบบประชาธิปไตยตามแบบตะวันตก

ผู้ที่มีบทบาทสำคัญได้แก่ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (นายปรีดี พนมยงศ์) และจอมพล ป. พิบูลสงคราม ระยะแรกมีความร่วมมือกันเป็นอย่างดีในการโค่นล้มระบบเก่า แต่ภายหลังได้เกิดความขัดแย้งในแนวความคิดคือ ฝ่ายนายปรีดีเชื่อแนวการปกครองแห่งกฎหมาย ส่วนจอมพล ป.มีความเลื่อมใสในขบวนการฟาสซิสต์แบบเยอรมัน อิตาลี และญี่ปุ่น

โดย จอมพล ป.ยอมให้ญี่ปุ่นใช้ประเทศไทยเป็นทางผ่าน ในขณะที่นายปรีดี หันไปร่วมมือกับฝ่ายสัมพันธมิตรที่มีสหรัฐ อังกฤษและฝรั่งเศสเป็นผู้นำ หลังสงครามโลก กลุ่มทหารบกของจอมพลป.ต้องลงจากอำนาจตามข้อเรียกร้องของรัฐบาลอังกฤษและฝรั่งเศส โดยกลุ่มพลเรือนที่มีนายปรีดีได้เข้าทำหน้าที่ในการบริหารประเทศ

ภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำ ทำให้มีการปลดทหารออกเป็นจำนวนมาก กรณีสวรรคตของรัชกาลที่ 8 กลายเป็นสาเหตุสำคัญที่นำไปสู่การรัฐประหารโดยคณะทหารเมื่อปี 2490 และ 4 ปีต่อมากลุ่มรัฐประหารได้ทำลายอิทธิพลของกลุ่มพลเรือน ที่ประกอบด้วยสมาชิกเสรีไทยและนายทหารกองทัพเรือ ที่สนับสนุนนายปรีดี



ผู้นำในกลุ่มรัฐประหาร 2490 ส่วนมากเป็นนายทหารบก และไม่ได้รับการศึกษาจากต่างประเทศ ไม่รู้เรื่องระบอบประชาธิปไตยตะวันตกแบบผู้นำรุ่น 2475 แต่เน้นอุดมการณ์ทางการเมืองแบบพ่อขุนของจอมพลสฤษดิ์หรือเป็นแค่เพียง ประชาธิปไตยแบบไทยๆ เท่านั้น การรัฐประหาร 20 ตุลาคม 2501 เป็นครั้งที่ 2 ของจอมพลสฤษดิ์ แต่เป็นครั้งสำคัญที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย เพราะทำให้การเมืองการปกครองไทย ต้องเข้าสู่รูปแบบของเผด็จการแบบเบ็ดเสร็จ เป็นเวลานานถึง 15 ปี และทำให้ทหารบก มีบทบาทอย่างสูงต่อการเมืองการปกครองของไทยในระยะเวลาต่อมา
สาเหตุที่จอมพลสฤษดิ์ทำรัฐประหารมี 4 ประการ คือ

1.ความไม่พอใจต่อระบบการเมืองแบบประชาธิปไตยตะวันตก โดยอ้างว่าไม่เหมาะสมกับประเทศไทย เพราะการรัฐประหาร 16 กันยายน 2500 ไม่ได้มีการแก้ไขรูปแบบการปกครองบ้านเมืองใหม่ คือ ยังคงมีรัฐสภา มีพรรคการเมือง ให้เสรีภาพภาพหนังสือพิมพ์วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลได้เต็มที่ มีสหพันธ์และสหบาลกรรมกรที่ชอบหยุดงาน เมื่อไม่พอใจนายจ้าง ผู้แทนราษฎรที่แก่งแย่งชิงกันเป็นรัฐมนตรี และข้าราชการการเมือง โดยขู่รัฐบาลว่า ถ้าไม่แต่งตั้งแล้ว ก็จะถอนตัวออกจากการสนับสนุนรัฐบาล และพากันไปตั้งพรรคฝ่ายค้านขึ้นใหม่ จึงต้องใช้วิธีปฏิวัติเพื่อแก้ปัญหาของประเทศชาติให้ได้



2.
ฐานะการคลังของรัฐบาลพล.ท.ถนอมเผชิญวิกฤตการณ์การคลัง งบประมาณปี 2500 ขาดดุลย์กว่า 2,000 ล้านบาท รัฐบาลเป็นหนี้ธนาคารแห่งชาติ ถึง 1,507 ล้านบาท ต้องขอความช่วยเหลือจากสหรัฐเพื่อสนับสนุนโครงการด้านเศรษฐกิจทั้งหมดใน พ.ศ. 2501 - 2502 เป็นเงินราว1,200 ล้านบาท

3. ภัยคอมมิวนิสต์ จอมพลสฤษดิ์มองว่าคอมมิวนิสต์เป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ การอ้างการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ได้ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการปราบปรามนักการเมืองตลอดจนปัญญาชนที่เป็นฝ่ายตรงข้าม สถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศได้แบ่งออกเป็นสองฝ่ายคือ ฝ่ายคอมมิวนิสต์ที่นำโดยรัสเซียและฝ่ายโลกเสรีนิยมที่นำโดยอเมริกา มีการทำสงครามเย็นอย่างกว้างขวางทั่วไป


4.สภาพการณ์โดยทั่วไปของสังคมไทย เช่น การอพยพเข้าเมืองหลวงของชาวชนบทจากภาคอีสานอันเนื่องมาจากภาวะฝนแล้งอย่างหนัก โดยที่รัฐบาลจอมพล ป. ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ทำให้เกิดปัญหาสังคม เช่น ปัญหายาเสพติด อาชญากรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ชายจากชนบทส่วนมากเข้าเมือง และประกอบอาชีพถีบสามล้อ ซึ่งจอมพลสฤษดิ์มองว่าทำให้เกิดความเสื่อมเสียต่อภาวะเศรษฐกิจ เนื่องจากไม่ทำให้เกิดผลผลิตและสร้างความเสื่อมโทรม ไม่เป็นระเบียบ โดยกล่าวว่า " ปัญหาใหญ่อยู่ที่ว่า ชายฉกรรจ์ชาวหัวเมืองในชนบทของเราเป็นจำนวนหมื่นจะละทิ้งงานผลิต คือ เกษตรกรรม มาทำงานที่ไม่ผลิต เช่น การขับขี่สามล้อนั้น เป็นการเสื่อมเสียทางเศรษฐกิจ กระทรวงมหาดไทยพบว่า ผู้ประกอบอาชีพทางถีบสามล้อนั้นลงท้ายกลายเป็นคนติดฝิ่นไปเป็นจำนวนไม่น้อย "

จอมพลสฤษดิ์สั่งให้ยกเลิกอาชีพสามล้อ และให้กลับคืนสู่ภูมิลำเนาเดิมหรือจัดสรรที่ดินทำกินให้ในรูปของนิคมประชาสงเคราะห์ละนายกรัฐมนตรี ได้อาศัยอำนาจเด็ดขาดตามมาตรา 17 จัดการปัญหาต่างๆ ตลอดจนทำการกวาดล้างผู้ที่จอมพลสฤษดิ์เห็นว่าเป็นภัยต่อความมั่นคง หรือเป็นปฏิปักษ์ทางการเมือง ทั้งปัญญาชน นักคิด นักเขียน จำนวนมาก สร้างความสะพรึงกลัวแก่ประชาชนทั่วไป หลายกรณีมีผู้เป็นเหยื่อหรือแพะรับบาป ซึ่งส่วนมากเป็นคนจีน

อุดมการณ์ทางการเมือง
พ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ


จอมพลสฤษดิ์ไม่ได้รับการศึกษาจากต่างประเทศ ไม่มีแนวคิดประชาธิปไตย และลัทธิเสรีนิยมเท่ากับผู้นำรุ่น 2475 อาชีพทหาร และวิถีชีวิตของทหารเน้นหนักไปในทางการใช้อำนาจแก้ไขปัญหาความขัดแข้งทางการเมือง ความล้มเหลวของคณะราษฎรในการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น ทำให้จอมพลสฤษดิ์เชื่อว่า การเมืองไทยต้องอยู่บนพื้นฐานของเมืองไทย และสภาพแวดล้อมแบบไทย มิใช่แบบตะวันตก ดังคำแถลงทางวิทยุ ว่าคณะปฏิวัติจะยกเลิกระบอบประชาธิปไตยที่นำมาจากต่างประเทศทั้งดุ้น และสร้างประชาธิปไตยที่เหมาะสมกับลักษณะพิเศษและสภาวการณ์ของไทยเป็นประชาธิปไตยแบบไทย

โฆษกคณะปฏิวัติได้พูดในรายการวิทยุ เปรียบเทียบประชาธิปไตยของไทยเป็นเสมือนต้นกัลปพฤกษ์ ที่หยั่งรากลึกจากแผ่นดินไทย งอกงามเติบใหญ่ออกผลเป็นกล้วยน้ำว้า มะม่วง เงาะ มังคุด และทุเรียน มากกว่าที่จะเป็นแอปเปิ้ล องุ่น อินทผลัม บ๊วย หรือเกาลัด จอมพลสฤษดิ์มองว่ารัฐบาลควรมีอำนาจเหนือฝ่ายนิติบัญญัติหรือสภาผู้แทน ระบบพรรคการเมืองไม่เหมาะสมกับสังคมไทย พรรคการเมืองและการเลือกตั้งจากประชาชนโดยตรง มิใช่สิ่งที่มีความจำเป็นต่อระบบการเมืองไทย

แม้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร 2502 จะมีแค่ 20 มาตรา แต่ก็เป็นการปกครองประเทศในระบอบประชาธิปไตย เพียงแต่ว่าไม่มีผู้แทนที่เลือกตั้งโดยตรงมาจากราษฎร แต่จอมพลสฤษดิ์กล้ารับรองว่า สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญของเขาจะรักษาผลประโยชน์ของราษฎร มีความหวังดีต่อราษฎร และมีเจตนาที่จะสร้างสรรค์พัฒนาประเทศชาติไม่น้อยกว่าสมาชิกสภาในสมัยใด ๆ และยังทำงานกันด้วยความสุจริตใจ ด้วยวิชาความรู้ ด้วยดุลพินิจอันเที่ยงธรรม โดยไม่อยู่ภายใต้อิทธิพลบีบบังคับ ไม่ต้องห่วงใยในการที่จะต้องแสดงตนเป็นวีรบุรุษ เพื่อหาเสียงเลือกตั้งคราวหน้า

พวกผู้แทนเป็นพวกไร้สมรรถภาพ ไม่มีวินัย และพวกนักหนังสือพิมพ์ก็มักจะยึดผลประโยชน์ของตน โดยใช้วิธีการและเล่ห์กลที่สกปรก และขายตัว ไม่พิทักษ์ผลประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริง มีแต่จะนำไปสู่ความวุ่นวาย ไร้เสถียรภาพทางการเมือง สรุปคือ ระบบการเลือกตั้งและระบบพรรคการเมืองไม่เหมาะสมกับประเทศไทย เพราะจะทำให้เกิดการแตกแยกความสามัคคีและนำไปสู่ความวุ่นวายไร้ระเบียบ และทางออกของปัญหานี้ก็คือต้องให้อำนาจกับรัฐบาลมากขึ้น ให้รัฐบาลกำหนดว่า อะไรคือเจตนารมณ์ของชาวไทยทั้งประเทศ โดยมีเป้าหมายสำคัญที่ความมั่นคงและเสถียรภาพทางการเมือง

จอมพลสฤษดิ์เชื่อว่า การปกครองเป็นเรื่องของกษัตริย์ ของเจ้านายผู้มีบุญวาสนา ขอเพียงแต่ให้ผู้นำมีความเที่ยงธรรมและสุจริตใจตั้งอยู่ในศีลธรรม คือ ทศพิธราชธรรม ผู้นำคือนายกรัฐมนตรี ต้องมีอำนาจเด็ดขาดที่ตั้งอยู่บนความเป็นธรรม

ในสังคมไทยคือ หน้าที่ของพ่อที่ต้องปกครองลูก ให้ได้รับความสุข ขณะเดียวกันก็ใช้อำนาจเด็ดขาดหากลูกคนใดไม่เคารพเชื่อฟัง การลงโทษนั้นก็เพื่อทำให้ลูกเป็นคนดีต่อไป เป็นการประยุกต์แนวคิดประชาธิปไตย เข้ากับจารีตและวัฒนธรรมไทย และพ่อของคนไทยทุกคนหรือพ่อของชาติ ก็คือ พ่อขุน ผู้ปกครองด้วยความเป็นธรรมและเปี่ยมไปด้วยความเมตตาและใช้อำนาจเด็ดขาดต่อผู้อยู่ใต้ปกครองได้ อย่างที่จอมพลสฤษดิ์ได้กล่าวสุนทรพจน์ต่อที่ประชุมกำนัน เมื่อ 24 ตุลาคม 2503 ว่าประเพณีการปกครองของไทยแต่โบราณมา ได้ถือระบอบพ่อปกครองลูก โดยเรียกพระมหากษัตริย์ว่าพ่อขุน หมายความว่า เป็นพ่อที่สูงสุด ต่อมาก็มี พ่อเมือง คือผู้ว่าราชการจังหวัด ต่อไปถึง พ่อบ้าน คือกำนันผู้ใหญ่บ้าน ในที่สุดก็ถึงพ่อเรือน คือหัวหน้าครอบครัว แม้จะได้มีระบบการปกครองเรียกชื่อเป็นอย่างอื่น ไม่เรียกว่าพ่อเหมือนแต่ก่อน ...

ชาติเป็นเหมือนครอบครัวใหญ่ ผู้ปกครองไม่ใช่อื่นไกล คือหัวหน้าครอบครัวใหญ่นั่นเอง ต้องถือว่าราษฎรทุกคนเป็นลูกเป็นหลาน ต้องมีความอารีไมตรีจิต เอาใจใส่ในทุกข์สุขของราษฎร เท่ากับบุตรหลานในครอบครัวของตนเอง ต้องพยายามไปถึงที่ ดูแลอำนวยการบำบัดทุกข์ภัยด้วยตนเอง พยายามเข้าถึงราษฎรและเอาใจใส่ในความเป็นอยู่ของราษฎร เหมือนหนึ่งว่าเป็นครอบครัวของตนเองเสมอ

แนวความคิดทางการเมืองของจอมพลสฤษดิ์ เน้นหัวใจสำคัญของการปกครองขึ้นอยู่กับตัวผู้ปกครองหรือพ่อขุน ซึ่งมีหน้าที่ดูแลทุกข์สุขของที่อยู่ใต้ปกครอง ข้าราชการและประชาชนมีหน้าที่ดำเนินการตามนโยบายและรับการอนุเคราะห์จากฝ่ายรัฐบาลเท่านั้น องค์ประกอบสำคัญ คือระบบราชการหรือข้าราชการ เป็นตัวแทนและปฏิบัติตามคำบัญชาของผู้ปกครอง ต้องยอมรับนโยบายจากรัฐบาล ข้าราชการจึงไม่ได้หมายถึงผู้รับใช้หรือบริการประชาชน แต่เป็นผู้รับใช้รัฐบาล องค์ประกอบสำคัญภายใต้ระบบการเมืองแบบนี้ก็คือ รัฐบาล และข้าราชการ ประชาชนไม่มีบทบาททางการเมือง หรือมีอย่างจำกัด ภายใต้การควบคุมและยินยอมจากรัฐเท่านั้น

จอมพลสฤษดิ์ในฐานะพ่อขุนช่วยเหลือประชาชน เพื่อแสดงความเมตตากรุณาต่อประชาชนผู้เปรียบเสมือนลูกๆ หลังการปฏิวัติไม่กี่วัน คณะปฏิวัติสั่งให้ลดค่ากระแสไฟฟ้า และออกพระราชกฤษฎีกาให้แต่ละครอบครัวได้รับน้ำฟรีเดือนละ 30 ปี๊บ ลดค่าโทรศัพท์ ค่ารถไฟ และค่าเล่าเรียน สั่งให้กองทัพเรือจัดหามะพร้าวราคาถูกนำมาขายให้ประชาชนในราคาต้นทุน ทำให้เกิดความรู้สึกที่ดีต่อพ่อขุนคนใหม่ เป็นที่ยอมรับในหมู่ประชาชนอย่างกว้างขวางและรวดเร็ว

จอมพลสฤษดิ์ในฐานะพ่อขุน
รักษาความสงบเรียบร้อย


จอมพลสฤษดิ์มีคำสั่งให้จัดการอันธพาล อย่างเฉียบขาดเพื่อความความสงบเรียบร้อย และผาสุกของประชาชน รวมถึงการปฏิเสธวัฒนธรรมตะวันตก เช่น เพลงร้อก การเต้นทวิสต์ ซึ่งนิยมกันในสมัยนั้น กวดขันแหล่งอบายมุขและสถานเริงรมย์ต่างๆ โสเภณีก็อยู่ในข่ายเป็นตัวส่งเสริมอาชญากรรม จึงออกกฎหมายห้ามการค้าประเวณี และให้ยกเลิกอาชีพสามล้อในเขตกรุงเทพมหานคร สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ การจัดการเรื่องเพลิงไหม้อย่างเด็ดขาด ด้วยการยิงเป้าผู้ต้องสงสัย หรือจับได้ว่าวางเพลิง ณ บริเวณเกิดเหตุ สร้างความเกรงกลัวแก่ประชาชนทั่วไป จอมพลสฤษดิ์มักอำนวยการดับเพลิงด้วยตนเองเสมอ ทำให้ประชาชนเชื่อมั่นมากยิ่งขึ้น
จอมพลสฤษดิ์ในฐานะพ่อขุน
ส่งเสริมสุขภาพและศีลธรรม
โดยการการกวดขันและปราบปรามการค้ายาเสพติด ฝิ่นและเฮโรอีน โดยประกาศคณะปฏิวัติ ที่ 37 ตั้งแต่ 1 มกราคม 2502 เป็นต้นไป ให้ถือว่าการเสพฝิ่นเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย โรงยาฝิ่นถูกปิดอย่างถาวร และจัดตั้งศูนย์บำบัดรักษาให้เลิกยาเสพติด

จอมพลสฤษดิ์ ในฐานะพ่อขุน
เยี่ยมเยียนครอบครัว


จอมพลสฤษดิ์ออกเดินทางเยี่ยมเยียนประชาชนในภาคต่าง ๆ มีการร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ และแผนพัฒนาส่วนภูมิภาค โดยจอมพลสฤษดิ์ร่วมเป็นกรรมการพัฒนาภาคอีสาน จอมพลสฤษดิ์ได้ให้ความสนใจปัญหาในชีวิตประจำวันของประชาชน โดยการเดินทางไปตรวจราชการตามภาคต่างๆ ด้วยรถยนต์ และตั้งแค้มป์พักกลางทาง ให้ความสนใจกับสภาพตลาดของชุมชน โดยได้สรุปถึงปัญหาของประชาชนว่า ขึ้นอยู่กับน้ำและถนน

จอมพลสฤษดิ์ในฐานะพ่อขุน
ใช้อำนาจเด็ดขาด


จอมพลสฤษดิ์ใช้อำนาจเผด็จการเฉียบขาด เป็นสิ่งที่พบเห็นได้อยู่เสมอ เช่น การประหารชีวิตชาวจีนผู้ลอบวางเพลิง และกำจัดผู้กระทำการอันเป็นคอมมิวนิสต์ ประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 12 ลงวันที่ 22 ตุลาคม 2501 ให้อำนาจเจ้าหน้าที่สอบสวน กักขังผู้ต้องหาตลอดระยะเวลาสอบสวน ฉบับที่15 ให้โอนคดีที่เกี่ยวกับการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ ไปขึ้นศาลทหารตามกฎอัยการศึก ปัญญาชน นักศึกษา นักหนังสือพิมพ์ นักการเมืองจำนวนมากที่วิพากษ์วิจารณ์จอมพล สฤษดิ์และสังคมไทย ถูกปราบปรามอย่างรุนแรง

การควบคุมระบบราชการ
จอมพลสฤษดิ์ได้รวมศูนย์อำนาจภายใต้การควบคุมของตนโดยตรง ตามประกาศฉบับที่ 57 ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีปรับปรุงสำนักงานนายกรัฐมนตรี เพิ่มจาก 12 หน่วยงานเป็น 24 หน่วยงาน ในปี 2506 รวมศูนย์กำลังไว้แต่เพียงผู้เดียว โดยดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก อธิบดีกรมตำรวจ และยังเป็นรัฐมนตรีกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติ

สร้างความสัมพันธ์ระหว่างข้าราชการระดับสูง ทั้งพลเรือนและทหารโดยอาศัยวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร วปอ.
จอมพลสฤษดิ์ตระหนักดีว่า สถาบันกษัตริย์มีความสำคัญต่อระบบการเมืองการปกครอง ความขัดแย้งกับพระมหากษัตริย์จะทำให้รัฐบาลถูกโจมตี และประชาชนไม่พอใจรัฐบาล ความชอบธรรมในระยะยาว คือ การพึ่งพาสถาบันพระมหากษัตริย์ทั้งทางตรงและทางอ้อม การแสดงความจงรักภักดีต่อกษัตริย์ จะเป็นการส่งเสริมฐานะและอำนาจของรัฐบาล กลุ่มจอมพลสฤษดิ์ไม่ได้มีบทบาทในการล้มอำนาจฝ่ายเจ้าในปี 2475 จึงสามารถหลีกเลี่ยงการถูกกล่าวหาว่าเป็นกลุ่มต่อต้านเจ้า

ที่สำคัญแนวความคิดเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นแนวความคิดที่สอดคล้องกับระบบการเมืองแบบไทย และระบบพ่อขุนเป็นอย่างดี บทบาทหน้าที่และพระเกียรติยศพระเกียรติคุณของสถาบันพระมหากษัตริย์ จึงได้รับการส่งเสริมมากกว่ารัฐบาลก่อนๆ เช่น สนับสนุนให้พระมหากษัตริย์และพระราชินีเสด็จเยือนประเทศต่าง ๆ ได้แสดงพระราชดำรัสต่อประชาชน สนับสนุนนโยบายต่าง ๆ เช่นแผนพัฒนาเศรษฐกิจ สร้างสถาบันพระมหากษัตริย์ให้เป็นสัญลักษณ์แห่งความสามัคคีความเป็นปึกแผ่นของคนในชาติ

การปรับปรุงประเทศ
ไปสู่ภาวะทันสมัย


การตรวจราชการตามต่างจังหวัดหลายครั้ง หลัง 2501 ทำให้จอมพลสฤษดิ์เชื่อว่า ความต้องการของประชาชนในชนบทมี 2 เรื่องหลักๆ คือ น้ำกับถนน นำไปสู่การพัฒนาและความกินดีอยู่ดี ปรับปรุงประเทศให้ทันสมัย มีแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับแรก พ.ศ. 2504 - 2508 จากการวิจัยและข้อเสนอของธนาคารโลกเพื่อยกมาตรฐานการครองชีพของประชาชนไทย ปรับปรุงโครงสร้างทางเศรษฐกิจไทยอย่างขนานใหญ่ โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานอันได้แก่ น้ำ ถนน ไฟฟ้า ขยายการศึกษาอย่างรวดเร็ว ภายใต้คำขวัญ น้ำไหล ไฟสว่าง ทางดี มีงานทำ บำรุงความสะอาด

สนับสนุนการลงทุนจากต่างชาติโดยให้สิทธิพิเศษหลายประการ ปี 2503 ตั้งคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ/Board of Investment) การประท้วง การเรียกร้องของกรรมกร การชุมนุมทางการเมืองใด ๆ ถูกห้ามอย่างเด็ดขาด ได้ดึงดูดทุนจากต่างประเทศเข้ามามาก เศรษฐกิจไทยขยายตัว ทั้งภาคอุตสา หกรรมและการเงินอิทธิ พลของ อเมริกาที่สัมพันธ์กับไทยอย่างใกล้ชิด และกระชับแนบแน่นขึ้นเมื่อสหรัฐได้สนับสนุนการยึดอำนาจของจอมพลสฤษดิ์ เมื่อ 20 ตุลาคม 2501 การพัฒนาประเทศตามแผนพัฒนาทำให้ต้องพึ่งความช่วยเหลือจากสหรัฐเป็นหลักทั้งด้านเงินทุนและบุคลากร จอมพลสฤษดิ์ต้องดำเนินนโยบายสอดคล้องกับอเมริกา ต่อต้านอิทธิพลของฝ่ายคอมมิวนิสต์ นำไปสู่แถลงการณ์ร่วมรัสค์ –ถนัด (นายดีน รัสค์ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐและนายถนัด คอมันตร์รัฐมนตรีต่างประเทศของไทย) ว่า ความมั่นคงของไทยเป็นสิ่งสำคัญ และสหรัฐพร้อมต่อต้านการรุกรานบ่อนทำลายของคอมมิวนิสต์รวมถึงการช่วยเหลือไทยต่อต้านการก่อการร้ายภายในประเทศ

นโยบายพัฒนาประเทศต้องเกี่ยวพันกับความมั่นคง เช่น การสร้างถนนมิตรภาพยาว 720 ก.ม. จากกรุงเทพฯ ถึงหนองคาย มีเป้าหมายยุทธศาสตร์ทางทหารและได้นำมาซึ่งความเจริญทางเศรษฐกิจในภาคบริการ ทำให้สังคมไทยเปลี่ยนไปมากความคิดและระบบการเมืองของจอมพลสฤษดิ์ ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปมากนัก

ในยุคที่จอมพลถนอมเป็นนายกรัฐมนตรีสืบต่อมา แม้ในปัจจุบันก็ยังมีคนเลื่อมใสระบบการเมืองแบบพ่อขุนผู้มีความเด็ดขาดของจอมพลสฤษดิ์ในการแก้ไขปัญหาอยู่อีกมาก
การปฏิรูปประเทศไปสู่ความทันสมัยได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างมาก แต่ระบบพ่อขุนของสฤษดิ์มุ่งใช้อำนาจเผด็จการโดยไม่สนใจแก้ไขปัญหาทางการเมือง ไม่สนใจสร้างสถาบันทางการเมืองมารองรับกับการเปลี่ยนแปลง การปฏิรูปได้กระตุ้นให้คนเกิดความหวังความต้องการเรียกร้องสิทธิของตน

การเข้าไปพัวพันอย่างลึกซึ้งกับนโยบายต่างประเทศของสหรัฐ และยอมให้ไทยเป็นฐานทัพของทหารอเมริกันทำสงครามเวียตนามทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเฟื่องฟูทางเศรษฐกิจสังคมอย่างมาก เศรษฐีใหม่จำนวนมากเกิดขึ้นจากการทำธุรกิจกับอเมริกัน ทั้งโสเภณี เมียเช่า อาวุธ ยาเสพติด สินค้าหนีภาษี และอื่นๆ ผลักดันประชาชนออกจากภาคเกษตรไปสู่อาชีพอื่น

ระบบการเมืองและลักษณะผู้นำของจอมพลสฤษดิ์ก็คือ ระบบผู้นำแบบจารีตนิยมโบราณ เน้นความเด็ดขาดและอำนาจ ขณะเดียวกันก็มีความตั้งใจทำประโยชน์ให้เกิดแก่ประชาชนโดยตรง เช่น การมีนโยบายลดค่าอุปโภคบริโภค การปราบฝิ่น การปราบอันธพาล และการปราบคอมมิวนิสต์

พร้อมกันนั้นก็ใช้นักวิชาการ และการเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจและการศึกษา นักวิชาการที่มีบทบาทมากในสมัยจอมพลสฤษดิ์ คือ นักเศรษฐศาสตร์และนักบริหารรัฐกิจ นักเทคนิคมีการตั้งหน่วยงานใหม่ๆ เช่น กระทรวงพัฒนาการแห่งชาติ คณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ สภาวิจัยแห่งชาติ สำนักงานสถิติแห่งชาติ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ พัฒนาการศึกษา ขยายมหาวิทยาลัยออกต่างจังหวัดทุกภาค เน้นอยู่ที่การปฏิบัติงานโดยไม่สนใจระบบการเมืองการปกครองว่ามีความถูกต้องชอบธรรมเพียงใด ใช้วิธีการแช่เย็นการเมือง ถือว่าการเมืองเป็นเรื่องวุ่นวายยุ่งยาก เน้นการบริหารและการพัฒนาคือมีรัฐบาลและระบบราชการทำหน้าที่บำบัดทุกข์บำรุงสุขให้กับประชาชนก็เพียงพอแล้ว

ปัญหาที่จอมพลสฤษดิ์ไม่ได้คาดการณ์ไว้ คือ การสืบทอดอำนาจระบบผู้นำเด็ดขาดแบบพ่อขุนนั้น เน้นที่ตัวบุคคล คือ กิจกรรม และนโยบาย อยู่ที่คนๆเดียวหรือกลุ่มเดียว เมื่อบุคคลนั้นหมดอำนาจลง ก็จะเกิดปัญหาเรื่องการสืบทอดอำนาจรวมทั้งการสืบทอดนโยบาย ระบบการเมืองแบบสฤษดิ์ ซึ่งถนอมได้รับสืบทอดมาเป็นระบบตรงข้ามกับระบบประชาธิปไตย หรือระบบการเมืองแบบเปิด เป็นระบบที่เป็นการแบ่งแยกระหว่างผู้ปกครองและประชาชน เน้นการปกครองและบริหารแทนการต่อรอง และการใช้เสียงข้างมากตัดสินนโยบายในระบบประชาธิปไตย

แม้ว่าความเด็ดขาดของจอมพลสฤษดิ์ และการปฏิบัติอย่างรวดเร็วเป็นที่นิยมของคนบางกลุ่ม แต่มันตรงกันข้ามกับกระบวนการของระบบประชาธิปไตย ซึ่งเน้นการเคารพสิทธิเสรีภาพของบุคคล และกระบวนการต่อรอง ออมชอมอันยืดยาว ผู้นำแบบจอมพลสฤษดิ์ ยังไม่เคยปรากฏซ้ำสอง แม้จะมีผู้พยายามเลียนแบบ เพราะสภาวะแวดล้อมทางการเมือง สังคม และเศรษฐกิจ ได้พัฒนาซับซ้อนและใหญ่โตเกินกว่าความสามารถของคน ๆ เดียวที่จะรวบอำนาจไว้ในมือ ในลักษณะ "ข้าพเจ้ารับผิดชอบแต่ผู้เดียว"

จอมพลสฤษด์มีความคิดความเชื่อและความสามารถในแนวเดียวกับพระเจ้าอยู่หัวภูมิพล แม้ว่าในหลวงภูมิพลจะมีความแนบเนียนที่ไม่มีผู้ใดเทียบได้ แต่ก็คงมีอนาคตไม่ต่างกันนัก คือ คงหาผู้รับช่วงต่อได้ยาก เพราะยุคสมัยได้เปลี่ยนไปแล้ว ประชาชนมีการศึกษามากขึ้น ในขณะที่พวกนิยมเผด็จการและรัชทายาทของเขา ไม่ได้เป็นคนดีหรือคนเก่งอย่างที่ได้ทรงสร้างภาพ มาตลอดรัชกาล
.......


ไม่มีความคิดเห็น: