วันอังคารที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

ตำนานๆ 009023 : ขุนศึกเขย่าวัง

ฟังเสียงพร้อมเพลงประกอบ : http://www.4shared.com/mp3/YQCwW6hq/The_Royal_Legend_023_.html         
หรือที่ :  http://www.mediafire.com/?4ehppmo0a5c6hcj




5 เมษายน 2494 ก่อนวันจักรีหนึ่งวัน พระโอรสองค์แรกก็ประสูติ เป็นหญิงได้ชื่อว่า อุบลรัตน์ นับว่าเป็นความผิดหวังอยู่ไม่น้อย แต่ในหลวงภูมิพลก็ทรงยังมีความหวังมากกว่าสามรัชกาลก่อน ที่กรุงเทพฯ ศึกระหว่างฝ่ายเจ้ากับฝ่ายจอมพลป.พิบูลสงครามก็ยังคงดำเนินต่อไป ทั้งสองฝ่ายพยายามสร้างความเข้มแข็งทางการเงินให้กับตนเอง



หม่อมทวีวงศ์ ถวัลย์ศักดิ์ ผู้จัดการการเงินของวัง เริ่มโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ใหม่ๆ หนึ่งในนั้นกลายมาเป็นโรงแรมสยามอินเตอร์คอนติเนนตัล บนที่ดินของครอบครัวใกล้วังสระปทุม ( ปัจจุบันถูกรื้อและให้กลุ่มเดอะมอลล์นำไปพัฒนา เป็นศูนย์การค้าสยามพาราก้อนที่นับว่าใหญ่และหรูหราที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ )

สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ของในหลวงภูมิพล ได้ตั้งบริษัทเมืองไทยประกันชีวิตร่วมกับตระกูลล่ำซำ ( บัญชา ล่ำซำแต่งงานกับมรว.สำอางวรรณ เทวกุล มีลูกชายชื่อ บัณฑูร ลำซ่ำ เจ้าของธนาคารกสิกรไทย ) และสำนักงานทรัพย์สินฯ ยังได้ขับไล่รัฐสภาออกจากพระที่นั่งอนันตสมาคม

ขณะเดียวกัน พลโท ผิน พล.ต.อ. เผ่า และ พลโท สฤษดิ์ ที่ทะเยอทะยาน และละโมบตะกละตะกราม ก็ต่างฝ่ายต่างแข่งกันกอบโกยความมั่งคั่ง และสร้างอิทธิพลจากความสัมพันธ์ทางทหารระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ที่เข้มข้นกระชับแน่นมากขึ้นเรื่อยๆ

ในเดือนมิถุนายน 2493 รัฐบาลไทยตกลงจัดส่งทหารไทย 4,000 นาย และข้าว 40,000 ตันไปช่วยสหรัฐในสงครามเกาหลีที่เพิ่งเกิดขึ้น




คณะที่ปรึกษาทางทหารจากสหรัฐฯ เดินทางมาไทยพร้อมเงิน อาวุธและทำการฝึกให้กองทัพไทย โดยเฉพาะตำรวจตระเวนชายแดนของพล.ต.อ.เผ่า เป็นจุดเริ่มต้นการปรากฏตัวของกำลังทหารสหรัฐฯอย่างเปิดเผย ซึ่งเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆในตลอด 25 ปีต่อมา


ขุนศึกและวัง
ทะเลาะกันเรื่องเงินเดือนของกษัตริย์และราชวงศ์ และการที่ทั้งสองพระองค์ปฏิเสธที่จะกลับมาประสูติ (คลอด)ที่ประเทศไทย ฝ่ายวังในสภาเสนอให้รื้อฟื้นพระราชพิธีโบราณ สองอย่าง คือ พิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาสำหรับข้าราชการทุกคน และการฟื้นคืนบรรดาศักดิ์ เช่น คุณหลวงและเจ้าพระยาเป็นรางวัลแก่ผู้สนับสนุนวัง

จอมพลป.ผู้ยกเลิกประเพณีทั้งสองนี้เอง เมื่อครั้งเป็นนายกรัฐมนตรีในช่วงทศวรรษที่ 2483 ก็ทำการขัดขวางแต่แล้วก็โดนตอบโต้เอาคืน โดยในเดือนธันวาคม 2493 จอมพลป.เสนอต่อพระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ผู้สำเร็จราชการ ให้เขาได้เข้าเฝ้าในหลวงภูมิพลสัปดาห์ละหนึ่งครั้ง และขอเข้าร่วมการประชุมองคมนตรีด้วย

ซึ่งข้อเสนอของจอมพลป.ก็ดูสมเหตุสมผล เพราะในอังกฤษ ราชินีและนายกรัฐมนตรีจะพบปะกันเป็นประจำ และรัฐบาลก็สัมพันธ์โดยตรงกับคณะรัฐมนตรี แต่พระองค์เจ้ารังสิตก็ปฏิเสธทั้งสองเรื่อง ไม่ยอมให้จอมพลป.เข้ามามีอิทธิพลในราชสำนัก

ที่จริง จอมพลป. ก็ไม่ได้เป็นปรปักษ์ต่อสถาบันกษัตริย์โดยสิ้นเชิงอีกต่อไปแล้ว เขาได้ปฏิบัติตามขนบธรรมเนียมของราชสำนัก เป็นผู้นำการถวายความเคารพต่อองค์พระมหากษัตริย์ในวาระสำคัญต่างๆ ไม่ได้ขาด เขาได้ประกาศให้วันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลเป็นวันหยุดสามวันในเดือนธันวาคมปี 2493 และในวันรัฐธรรมนูญหลังจากนั้นไม่กี่วันก็ดูจะ ยอมรับการยกความดีความชอบเรื่องประชาธิปไตยให้กับรัชกาลที่ 7

อาจเป็นได้ว่า จอมพล ป.กำลังแสวงหาไมตรีจากวัง เพราะการคานอำนาจระหว่างพล.ต.อ.เผ่า พลเอกผิน และพลโทสฤษดิ์ นั้นกระทำได้ยากยิ่งขึ้นทุกที เพราะตอนที่ทหารเรือจับกุมจอมพลป.เพื่อก่อการรัฐประหารในเดือนมิถุนายน 2494 นั้น เหล่าขุนทหารได้ทิ้งระเบิดโจมตีเรือที่จอมพลป.ถูกจับเป็นตัวประกันอยู่ โดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยของจอมพล ป. แต่โชคดีที่จอมพลป.หนีรอดด้วยการโดดลงน้ำและว่ายเข้าฝั่งได้อย่างหวุดหวิด

จอมพลป.น่าจะมีโอกาสมากขึ้นในช่วงต้นปี 2494 เมื่ออุปสรรคสำคัญ คือ พระองค์เจ้ารังสิตสิ้นพระชนม์ เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2494 ซึ่งถือได้ว่าเป็นการสูญเสียครั้งใหญ่ของพระราชวงศ์ พระองค์เจ้ารังสิตเป็นพระโอรสองค์สุดท้ายของรัชกาลที่ 5 ที่ยังเหลืออยู่ ทั้งฉลาดและกล้าแข็งที่สุดในหมู่เจ้า และเป็นเสมือนพระราชบิดาของในหลวงอานันท์และในหลวงภูมิพล เป็นผู้รับหน้าที่เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
ผู้ที่รับช่วงเป็นหัวหอกฝ่ายเจ้าต่อจากพระองค์เจ้ารังสิตคือ พระองค์เจ้าธานีนิวัติ (กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร) ที่น่าเกรงขาม ถึงแม้จะไม่เชี่ยวชาญการเมืองเท่าพระองค์เจ้ารังสิต แต่พระองค์เจ้าธานีก็พิสูจน์ตัวเอง ว่าเข้มแข็งเกือบเท่าพระองค์เจ้ารังสิต ราวกลางปี เหล่าขุนทหารต้องการอำนาจเพิ่มขึ้นเพื่อรับมือภัยคุกคามความมั่นคงที่เติบโตขึ้นเรื่อยๆ


พล.ต.อ.เผ่า เดินทางไปสวิตเซอร์แลนด์สองครั้ง เพื่อโน้มน้าวพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อเพิ่มอำนาจฝ่ายบริหารในยามฉุกเฉิน ตอนกลับมาในคราวแรกพล.ต.อ.เผ่า เชื่อว่าในหลวงภูมิพลจะทรงยินยอมตกลงแล้ว แต่ในหลวงก็ยังไม่ทรงยอม อาจจะด้วยคำแนะนำของพระองค์เจ้าธานี โดยหวังว่าเรื่องนี้จะถูกล้มเลิกไป แต่พล.ต.อ.เผ่าได้เดินทางไปเป็นครั้งที่สองในเดือนตุลาคม คราวนี้ได้รับการปฏิเสธตรงๆ จนทำให้เหล่าขุนทหารเกรี้ยวโกรธ พวกเขากำลังหมดความอดทนกับวังมากขึ้นเรื่อยๆ

ที่ยิ่งซ้ำเติมบรรยากาศในกรุงเทพฯ ให้ย่ำแย่ลงไปอีกคือ คดีสวรรคตของรัชกาลที่ 8 ที่หักมุมไปมา ศาลตัดสินครั้งแรกในวันที่ 27 กันยายน 2494 โดยยกฟ้องนายเฉลียว ปทุมรสราชเลขาธิการ และนายบุศย์ ปัทมศรินทร์ มหาดเล็ก แต่พิพากษานายชิต สิงหเสนีมหาดเล็กว่ามีความผิด คำพิพากษานี้เท่ากับว่าลบล้างข้อกล่าวหาต่อนายปรีดี แม้ว่าการลงโทษนายชิตเพียงคนเดียวนั้นจะอธิบายอะไรไม่ได้ก็ตาม

ทั้งรัฐบาล และฝ่ายเจ้าต่างโกรธและขุ่นเคืองคำพิพากษา รัฐบาลจึงสั่งให้มีการไต่สวนใหม่ ซึ่งทำให้สถานการณ์ยังไม่เหมาะที่ในหลวงภูมิพลจะเสด็จกลับ มาประทับเมืองไทยอย่างเป็นการถาวร ซึ่งได้วางแผนเอาไว้สำหรับต้นเดือนธันวาคม เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก บ่งบอกแนวโน้มว่าพระองค์จะเผชิญความปันป่วนแค่ไหนถ้าเสด็จกลับประเทศไทย




ในเดือนกรกฎาคม 2494 กษัตริย์อับดุลลาห์ (King Abdullah) แห่งจอร์แดนถูกลอบสังหาร











ในสเปน
เผด็จการนายพลฟรานซิสโก ฟรังโก (Francisco Franco) พยายามเชิดดอนฮวน ลูกชายของกษัตริย์อัลฟองโซที่ถูกเนรเทศเพื่อหาความชอบธรรมให้กับตนเอง






ในญี่ปุ่นเกิดการเดินขบวน ประท้วงต่อต้านพระจักรพรรดิ อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนของนักศึกษาฝ่ายซ้าย 3,000 คน จนทำให้
จักรพรรดิ ฮิโรฮิโต ต้องถูกกักอยู่ในอาคารมหาวิทยาลัย




เหตุการณ์ต่างๆ เหล่านี้ควรค่าแก่พระราชวงศ์จักรีที่ต้องตระหนักอย่างระมัดระวัง และในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2494 ทันทีที่เรือพระที่นั่งของในหลวงภูมิพลแล่นเข้าน่านน้ำไทย พลเอกผิน พล.ต.อ.เผ่า และพลโทสฤษดิ์ ก็ก่อการรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลของตนเอง และยึดอำนาจที่วังได้มาจากรัฐธรรมนูญ 2492 สร้างความสั่นสะเทือนแก่ฝ่ายเจ้าไม่น้อยไปกว่าการล้มล้างระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ในปี 2475 เป็นการปฏิบัติการที่เฉียบขาด และมีการข่มขู่พระเจ้าอยู่หัวและเชื้อพระวงศ์อย่างน่าเกลียด ในช่วงจังหวะที่ราชสำนักกำลังเตรียมเฉลิมฉลองจุดสูงสุดของการกอบกู้อำนาจของฝ่ายเจ้าอยู่พอดี
ตั้งแต่พิธีส่งเสด็จที่เมืองโลซานน์ ( Lau sanne ) ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ที่จัดอย่างยิ่งใหญ่ และท่าเทียบเรือเมืองเจนัว ประเทศอิตาลี วิทยุและหนังสือพิมพ์รายงานความคืบหน้าของการเสด็จอย่างต่อเนื่องทุกวัน

มีการกระจายเสียงพระราชสาส์นจากในหลวงภูมิพลระหว่างการเสด็จ เพื่อสร้างความตื่นเต้นในกรุงเทพฯ พิธีการรับเสด็จถูกจัดวางเหมือนเป็นพระราชพิธีราชาภิเษกครั้งที่สอง มีการยิงปืนใหญ่สลุตบนฝั่งแม่น้ำ ตามด้วยพิธีการทางศาสนาหลายแห่งในพระบรมมหาราชวัง จากนั้นก็เป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษาครบสองรอบ หรือ24ชันษา ต่อด้วยวันเฉลิมฉลองการพระราชทานรัฐธรรมนูญ


สามวันก่อนการเสด็จถึงกรุงเทพ ขุนทหารหลายนายตบเท้าไปบ้านของพระองค์เจ้าธานีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เพื่อให้ท่านยุบสภา ปลดคณะรัฐมนตรี ยกเลิกรัฐธรรมนูญ และประกาศตั้งรัฐบาลใหม่ที่ประกอบด้วยพวกของขุนศึกเอง


เมื่อพระองค์เจ้าธานีแย้งว่าน่าจะรอปรึกษาพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลก่อน แต่ขุนทหารก็จัดการยึดอำนาจเอง ยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2492 และริบอำนาจจากพระมหากษัตริย์ โดยปิดกั้นการสื่อสารกับเรือพระที่นั่ง เพื่อไม่ให้หันกลับลำไปยุโรป จอมพลป.ได้ทำหยามพระเกียรติหนักขึ้นไปอีก ด้วยการตั้งตนเป็นผู้สำเร็จราชการฯ แทนพระองค์เจ้าธานี



 
เหล่าขุนทหารสร้างภาพว่ายังมีความจงรักภักดี ต่อหน้าสาธารณชน เมื่อในหลวงภูมิพล พระราชินีสิริกิติ์และฟ้าหญิงอุบลรัตน์ที่ยังเป็นทารกเสด็จขึ้นฝั่งเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2494 โดยมีพระองค์เจ้าจุมภฏพงษ์บริพัตร และจอมพลป.พิบูลย์สงครามรอรับเสด็จ ขณะเดียวกันก็สั่งห้ามพรรคการเมืองเคลื่อนไหว และปลดฝ่ายเจ้าที่ครอบงำสภาและรัฐบาลมาเป็นเวลาสี่ปีออกไป


คณะรัฐประหารนำรัฐธรรมนูญ 2475 กลับมาประกาศใช้ และจอมพลป.ก็แต่งตั้งสมาชิกสภาแห่งชาติ 123 คน ซึ่ง 103 คนมาจากตำรวจและทหาร วันที่ 4 ธันวาคม 2494 จอมพลป. ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี พลเอกผิน ชุณหะวันเป็นรองนายกฯ พลโทสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และพล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ เป็นรัฐมนตรีดูแลกองทัพและตำรวจตามลำดับ พระเจ้าอยู่หัวไม่มีส่วนร่วมในเรื่องนี้



เหล่าขุนทหารถือว่า
พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอยู่นอกประเทศ ขณะเกิดการรัฐประหาร และผู้สำเร็จราชการให้ความเห็นชอบ ซึ่งก็คือจอมพล ป. ส่วนข้ออ้างในการทำรัฐประหารก็คือ รัฐสภามีความฉ้อฉลและหย่อนยาน ประเทศชาติเผชิญภัยจากคอมมิวนิสต์ ซึ่งจอมพลป. อธิบายว่าเป็นการคุกคามชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ของไทย



สงครามเย็นระหว่างค่ายโลกเสรีทุนนิยมและค่ายสังคมนิยมทำให้สหรัฐฯ และอังกฤษต้องรีบให้การยอมรับรัฐบาลใหม่ โดยอ้างว่าเนื่องจากไม่มีการเปลี่ยนแปลงประมุขของประเทศคือ ยังคงเป็นพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลพระองค์เดิม





วันที่ 6 ธันวา คม 2494 พลเอกผินได้ถวายกระบี่จอมทัพแด่พระเจ้าอยู่หัวภูมิพล ราชสำนักพยายามรักษาอาการให้ดูเป็นปกติ ทั้งในหลวงและพระราชินีทรงร่วมงานพิธีถวายการต้อนรับอย่างแกนๆ และสำนักพระราชวังประกาศการฉลองวันเฉลิมพระชนมพรรษาเป็นเวลาสี่วัน
ขณะเดียวกัน พระองค์เจ้าธานีและพระองค์เจ้าภานุพันธ์ยุคลก็เตรียมสู้ ด้วยการถวายคำแนะนำให้ทรงเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญแต่เนิ่นๆ เพื่อควบคุมผลที่จะออกมา แต่หลังจากที่จอมพลป.และขุนทหารเข้าวังไปในวันที่ 6 - 7 ธันวาคมแล้ว ในหลวงภูมิพลทรงยอมลงพระปรมาภิไธยโดยไม่มีการแก้ไข ดูเหมือนว่าในหลวงภูมิพลทรงได้รับคำขู่ว่าจะหลุดจากราชบัลลังก์หากไม่ให้ความร่วมมือ และทรงเห็นตัวอย่างที่เกิดกับรัชกาลที่ 7 เมื่อปี 2475 พระองค์จึงต้องยอมและทรงประกาศให้รัฐธรรมนูญเป็นฉบับชั่วคราว
จากนั้น ในหลวงทรงแสดงความขุ่นเคืองพระทัยอย่างเปิดเผยด้วยการไม่ทรงไปเปิดงานรัฐธรรมนูญที่สวนดุสิต และทรงยกเลิกงานพระราชทานเลี้ยงวันรัฐธรรมนูญที่วังเป็นเจ้าภาพ ในวันที่ 10 ธันวาคม 2494 ทรงประกอบพระราชพิธีที่เน้นย้ำเรื่องราวที่ว่ารัชกาลที่ 7 ทรงพระราชทานรัฐธรรมนูญให้แก่ประเทศ
และพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลก็ทรงเริ่มปฏิบัติพระราชภารกิจ ที่กลายมาเป็นพระราชจิริยวัตรสำคัญตลอดพระชนมชีพของพระองค์ ในหลายสิบปีต่อมา นั่นคือ การทรงพบปะบุคคลสำคัญๆ ทรงเป็นประธานในงานพิธีต่างๆ และทรงออกงานสังคม ทรงให้รองผู้อำนวยการยูเนสโกเข้าเฝ้าฯ ทั้งสองพระองค์เสด็จร่วมงานเลี้ยงวันพระราชสมภพอันยิ่งใหญ่ของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี วันที่ 26 ธันวาคม 2494 ทรงรับการถวายเสื้อครุยเนติบัณฑิตไทยที่กระทรวงยุติธรรม ในวันส่งท้ายปีเก่า

ทั้งสองพระองค์ทรงร่วมงานสังคมชนชั้นสูงของกรุงเทพฯ ที่สโมสรราชตฤณมัยสมาคม (สนามม้านางเลิ้ง) โดยทรงพระราชทานรางวัลเดอร์บีคัพ ในคืนนั้นทรงมีพระราชดำรัสผ่านวิทยุกระจายเสียง เรียกร้องให้ประชาชนยึดมั่นในศีลธรรมเพื่อต่อสู้กับความชั่วร้าย และนึกถึงประเทศชาติก่อนตนเอง วันถัดมาทรงปฏิบัติพิธีกรรมทางศาสนาในวัง และทรงร่วมงานเลี้ยงสำหรับเจ้าหน้าที่ราชสำนักและครอบครัว



เบื้องหลังท่าทีเยือกเย็นมั่นอกมั่นใจของพระเจ้าอยู่หัวในครั้งนี้ ทำให้ราชสำนักหนักใจ พระองค์เจ้าธานีบอกบรรดานักการทูตว่าหากรัฐธรรมนูญไม่เป็นที่พอพระทัย
ในหลวงภูมิพลก็จะเสด็จกลับไปสวิตเซอร์แลนด์ หรือกระทั่งอาจจะสละราชสมบัติ แต่คำขู่ของพระองค์เจ้าธานีไร้ผล


วันที่ 3 มกราคม 2495 คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญที่นำโดย
พลเอกผิน เริ่มส่งร่างแก้ไขไปให้วัง วังแทบไม่กล้าโต้แย้งอะไรเลย ฝ่ายนิยมกษัตริย์ตอบโต้อย่างเปิดเผยบนหน้าหนังสือพิมพ์ว่า กองทัพได้ควบคุมการเคลื่อนไหวของพระราชวงศ์อย่างแน่นหนา พรรคประชาธิปัตย์ประกาศคว่ำบาตรการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในเดือนมีนาคม 2495
เมื่อเหล่าขุนทหารจัดสรรงบ 5 ล้านบาท เพื่อสร้างวังแห่งใหม่สำหรับทั้งสองพระองค์ ที่ท่าวาสุกรี แต่ในหลวงภูมิพลก็ตรัสว่ามันฟุ่มเฟือยโดยใช่เหตุ รัฐบาลควรจะใช้งบประมาณสำหรับสิ่งจำเป็นเท่านั้น โดยทรงสำทับว่าการสร้างวังแห่งใหม่จะต้องขับไล่ประชาชนหลายสิบครอบครัวที่ยังไม่มีที่ไป.. บางกอกโพสต์หนังสือพิมพ์นิยมเจ้ารายงานว่า พระราชปฏิภาณตอบโต้ของในหลวงครั้งนี้เป็น บทเรียนความมัธยัสถ์ที่เหมาะแก่เวลา แต่เหล่าขุนทหารไม่สะดุ้งสะเทือน คณะกรรมการของพลเอกผินยังได้ส่งร่างรัฐธรรมนูญที่หนักข้อกว่าเดิมและปฏิเสธการแก้ไขของวัง วันที่ 17 มกราคม 2495 ในหลวงภูมิพลทรงเปลี่ยนท่าทีใหม่ ทรงเสนอให้ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งหมดเนื่องจากมันจะเป็นฉบับแรกที่ประกาศใช้โดยพระองค์เอง แต่เรื่องนี้ถูกพวกขุนศึกปฏิเสธเช่นเคย
วันที่ 24 มกราคม 2495 สภาที่คุมโดยกองทัพ ได้ให้ความเห็นชอบต่อรัฐธรรมนูญ 2475 ฉบับแก้ไขอย่างเป็นเอกฉันท์ในวาระแรก หนึ่งเดือนจากนั้นรัฐธรรมนูญร่างสุดท้ายก็ผ่านสภา โดยยังคงรักษาสถานะอันล่วงละเมิดมิได้ของพระมหากษัตริย์อยู่เช่นเดิม พระมหากษัตริย์มีอำนาจเต็มในเรื่องข้าราชบริพารและคณะองคมนตรี 9 คน นอกนั้นแทบไม่มีอะไรต่างจากรัฐธรรมนูญฉบับที่นำไปสู่การสละราชย์ของรัชกาลที่ 7 เลย อำนาจของพระมหากษัตริย์จะถูกควบคุมโดยต้องมีผู้นำทางการเมืองลงนามสนองพระบรมราชโองการ รัฐสภามาจากการเลือกตั้งและแต่งตั้งโดยนายกรัฐมนตรี อำนาจยับยั้งของกษัตริย์ถูกตีตกไปด้วยเสียงส่วนใหญ่ในสภา

ในหลวงภูมิพล ดูจะทรงไม่สะทกสะท้านด้วยการที่ทรงปฏิบัติพระราชภารกิจต่อไปตามปกติ ทั้งสองพระองค์ทรงเสด็จไปผักผ่อนพระราชอิริยาบทที่วังไกลกังวลหัวหิน และทรงเสด็จกลับมากรุงเทพฯ ช่วงสั้นๆ


พวกเจ้าใช้วิธีเสี่ยงแบบเดียวกับรัชกาลที่ 7 ด้วยการขู่อย่างเปิดเผยว่า พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลจะเสด็จกลับสวิตเซอร์แลนด์และจะทรงสละราชบัลลังก์ แต่จอมพลป .และเหล่าขุนทหารก็ตอบโต้อย่างสงบนิ่งว่าพวกเขาสามารถหากษัตริย์องค์ใหม่ได้ โดยเอ่ยถึงพระองค์เจ้าจุมภฏพงษ์ บริพัตร

เมื่อรัฐบาลทูลถามถึงวันเวลาที่ในหลวงจะทรงประกาศใช้รัฐธรรมนูญ แต่พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลไม่ทรงตอบ และขณะที่ในหลวงเสด็จกลับหัวหิน คณะรัฐมนตรีก็ได้กำหนด ให้เป็นเช้าวันที่ 8 มีนาคม พอถึงวันที่ 7 มีนาคม 2495 เป็นที่ชัดเจนว่าในหลวงภูมิพลจะไม่เสด็จกลับกรุงเทพ พิธีการก็คงต้องถูกยกเลิก วิทยุของรัฐประกาศแต่เพียงว่า พระเจ้าอยู่หัวทรงรู้สึกว่าไม่ควรจะรีบร้อนประกาศใช้รัฐธรรมนูญ

แต่พอบ่ายวันนั้น พล.ต.อ.เผ่าได้นำกำลังเจ้าหน้าที่จำนวนหนึ่งไปหัวหิน เพื่อเข้าเฝ้าพระเจ้าอยู่หัว หลายชั่วโมงหลังจากนั้น พวกเขาก็กลับกรุงเทพฯ โดยนำในหลวงภูมิพลกลับมาด้วย


และในเวลา 11นาฬิกาของเช้าวันถัดมา ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม ท่ามกลางเสียงมโหรีปี่พาทย์ พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ก็ทรงประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ที่แทบจะเป็นฉบับเดียวกับที่รัชกาลที่ 7 ได้ลงพระปรมาภิไธยเมื่อสามสิบปีก่อน โดยมีจอมพลป.เป็นผู้ลงนามสนองพระบรมราชโองการในฐานะนายกรัฐมนตรี

มันเป็นเหตุการณ์ที่ไม่ธรรมดา ที่ได้ทรงประลองกำลังทางการเมืองเป็นครั้งแรก แต่ทรงล้มเหลวอย่างจัง จอมโหดอย่างพล.ต.อ.เผ่าจะไปข่มขู่พระเจ้าอยู่หัวว่าอย่างไรนั้นยังคงเป็นความลับ แต่เชื่อกันว่า ถ้าพล.ต.อ.เผ่าไม่ได้ข่มขู่เอาชีวิตของในหลวงภูมิพล เขาก็คงข่มขู่ ที่จะเปิดโปงว่าในหลวงภูมิพลเป็นผู้ปลงพระชนม์พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 8 และจะบีบให้พระองค์ต้องหลุดจากราชบัลลังก์
ในหลวงภูมิพลได้ทรงเสด็จประกอบพระราชพิธีประกาศใช้รัฐธรรมนูญอย่างสง่าผ่าเผย สีพระพักต์ไร้รอยยิ้มตามแบบฉบับของพระองค์ ทรงมีพระราชดำรัสอย่างสั้นๆแล้วก็เสด็จกลับไปหัวหินอย่างรวดเร็ว โดยมิได้เสด็จกลับกรุงเทพ และทรงโปรดเกล้าให้ผู้แทนพระองค์ ไปทำพิธีเปลี่ยนเครื่องทรงตามฤดูของพระแก้วมรกตในวันที่ 12 มีนาคม 2495
ในการเลือกตั้งปลายเดือนมีนาคม 2495 ทหารประสบความสำเร็จไม่มากนัก แต่สมาชิกสภาแต่งตั้งก็เป็นคนของพวกทหารทั้งหมด พระราชพิธีสำคัญถัดไปคือการเปิดสภา เมื่อทางวังยังไม่ให้ความร่วมมืออีก จอมพลป.ก็จัดการเปิดสภาโดยไม่มีกษัตริย์ และทำการจัดตั้งรัฐบาล ในที่สุดวันที่ 25 มีนาคม 2495 ในหลวงภูมิพลก็ทรงยอมรับความพ่ายแพ้ โดยทรงยอมลงพระปรมาภิไธยให้จอมพลป.เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นการตัดสินพระทัยที่ฉลาดที่ไม่แตกหักกับพวกขุนศึก เพราะช่วงนั้นมีสัญญาณที่แสดงถึงชะตากรรมของสถาบันกษัตริย์ในหลายประเทศที่ปะทะกับกองทัพ

วันที่ 28 กรกฎาคม 2495 กษัตริย์ฟารุค (King Farouk 1) ผู้เสเพลแห่งอียิปต์ถูกโค่นล้มโดยกองทัพและลี้ภัยไปอิตาลี พระราชโอรสวัยหกเดือนของพระองค์ถูกเชิดขึ้นเป็นกษัตริย์ ปีถัดมากองทัพอียิปต์ประกาศเปลี่ยนระบอบการปกครองเป็นสาธารณรัฐ
ที่จอร์แดนในเดือนสิงหาคม 2495 กษัตริย์ทาลาล (King Talal) องค์ใหม่ (ยืนซ้ายมือ) ถูกขับไล่หลังจากขึ้นครองราชย์สืบต่อจากกษัตริย์อับดุลเลาะห์ (Abdullah) (ยืนขวามือ) พระราชบิดาที่ถูกยิงสิ้นพระชนม์ ณ นครเยรูซาเลมได้เพียงปีเดียวด้วยข้อหาทรงมีสติวิปลาส



และถูกแทนที่โดยพระราชโอรส คือ กษัตริย์ฮุสเซน (King Hussein) ที่อยู่ในวัย 17 ปี ที่ต่อมาได้ทรงเป็นกษัตริย์ยุคใหม่ที่นำจอร์แดนสู่ความทันสมัยโดยครองราชย์ถึง 47 ปี


.





และพระเจ้าชาห์จอมฉ้อฉลแห่งอิหร่าน ( Mohammad Reza Shah Pahlavi ) ถูกบีบให้ลี้ภัยเป็นการชั่วคราวในช่วงการลุกฮือที่เกือบจะโค่นล้มพระองค์ได้สำเร็จ










พระเจ้านโรดมสีหนุ แห่งกัมพูชา ( Narodom Sihanouk
) ก็ง่อนแง่นในกลางปี 2495 ทรงปลดรัฐบาลและเป็นนายกรัฐมนตรีเองและอีกสองสามปีก็ทรงถูกบีบให้สละราชบัลลังก์









ในเวียตนาม
จักรพรรติเบ๋าได๋ (Bao Dai) หุ่นเชิดของฝรั่งเศสก็พ่ายแพ้ต่อระบอบสาธารณรัฐ







เหล่าขุนทหารไทยยังคงสั่งสมความแข็งแกร่งของตนต่อไปโดยอาศัยการเป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯ ในสงครามเย็น ขณะที่การจับอาวุธยึดอำนาจรัฐในประเทศใกล้เคียงเริ่มตีวงโอบล้อมประเทศไทย ทั้งในพม่า มาเลเซีย กัมพูชา เวียตนาม และลาว เดือนมกราคม 2495 เวียตมินห์ระเบิดถล่มไซ่ง่อนเพื่อต่อสู้กับฝรั่งเศส

และในวันกรรมกร 1 พฤษภาคม 2495 เกิดจลาจลนองเลือดของกลุ่มคอมมิวนิสต์ ทั้งกรรมกรและนักศึกษาที่โตเกียว โดยตำรวจเข้าปราบปรามอย่างรุนแรงทำให้มีผู้เสียชีวิตไม่ต่ำกว่า 20 คนและบาดเจ็บอีกหลายร้อยคน


ในกรุงเทพฯ เริ่มมีฝ่ายซ้ายกลุ่มเล็กๆ วอชิงตันมอบหมายให้ไทยเป็นแนวต้านทานคอมมิวนิสต์ โดยมีพวกนายพลเป็นนายหน้า ซีไอเอเร่งฝึกตำรวจและทหารในการทำสงครามและควบคุมสังคม


การสนับสนุนจากซีไอเอ ทำให้พล.ต.อ.เผ่า และตำรวจตระเวนชายแดนของเขาทรงอำนาจมาก พล.ต.อ.เผ่าใช้วิธีการต่อต้านคอมมิวนิสต์แบบอเมริกัน และมีแนวโน้มเป็นทายาทของจอมพลป. โดยฉวยโอกาสใช้สถานการณ์ในการผูกขาดธุรกิจการค้าและการเงินที่สำคัญจำนวนมาก รวมถึงการส่งออกฝิ่นจากพม่า และยักยอกเงินช่วยเหลือจากสหรัฐฯ ไว้เป็นจำนวนมหาศาล

ตำรวจและทหารไทย สถาปนาอำนาจของพวกตน ด้วยการผ่านกฎหมายการกระทำอันไม่เป็นไทยหรือกฎหมายต่อต้านคอมมิวนิสต์ ในเดือนพฤศจิกายน 2495 กฎหมายฉบับนี้ได้สนับสนุนความโหดร้ายและความฉ้อฉลในอีกสี่สิบปีถัดมา โดยถูกเข็นผ่านสภาสามวาระรวดในวันเดียว อเมริกาแสดงความชื่นชมกฎหมายฉบับนี้ ซึ่งเท่ากับว่า การเป็นคอมมิวนิสต์ หมายถึงการกระทำใดๆ ก็ตามที่บ่อนทำลายชาติ ศาสนาและพระมหากษัตริย์ ศัตรูทางการเมืองถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์และมีโทษจำคุกสิบปี ถ้าหากไม่โดนพล.ต.อ.เผ่าจัดการฆ่าทิ้งไปเสียก่อน

ทางวังได้ปรับกระบวนใหม่ ค่อยๆถอย จากการต่อสู้อย่างเปิดเผย และหันกลับไปสร้างฐานอำนาจทางประเพณีแทน กล่าวคือ หันไปเน้นการสร้างภาพของพระเจ้าอยู่หัวในฐานะพ่อปกครองลูก ทรงสูงส่งใกล้เคียงพระโพธิสัตว์ ทรงดูแลทุกข์สุขของอาณาประชาราษฎร และเป็นศูนย์รวมวัฒนธรรมและประเพณีของชาติ เมื่อเวลาผ่านไป กลยุทธนี้จะทำงานได้ผลอย่างยอดเยี่ยม เพราะไม่ถูกมองว่าเป็นการแสวงหาอำนาจทางการเมือง หรือเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวสำหรับเหล่าขุนทหาร

ในหลวงภูมิพลสามารถวางแผนยุทธศาสตร์นี้ โดยมีทีมงานเจ้าและขุนนางที่มีประสบการณ์เป็นผู้จัดการผ่านเครือข่ายที่กว้างขวาง ตัวหลักๆ ก็คือ คณะองคมนตรี ข้าราชบริพารใกล้ชิดและเจ้าอาวาสอีกจำนวนหนึ่ง ล้วนมีความเชื่อมโยงไปถึงสมัยรัชกาลที่ 7และรัชกาลที่ 5 ตั้งแต่พระองค์เจ้ารังสิตสิ้นพระชนม์ไป พระองค์เจ้าธานีนิวัติได้เป็นประธานองคมนตรี เป็นนักจารีตนิยมที่เฉลียวฉลาด มีขุนนางลายครามอย่าง



เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ (จิตร ณ สงขลา ประธานศาลฎีกา,เสนาบดียุติธรรม,ประธานรัฐสภา,องคมนตรี)





พระยามานวราชเสวี (ปลอด วิเชียร ณ สงขลา,อธิบดีกรมอัยการ ,ประธานสภาผู้แทนราษฎร,องคมนตรี,ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์)




พระยาศรีวิสารวาจา (พันเอกหุ่น ฮุนตระกูล ,รัฐมนตรีต่างประเทศ,การคลัง และองคมนตรี)







และอีกคนชื่อ
พระองค์เจ้าอลงกฎ (พลเอกพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอลงกฎ คณะผู้สำเร็จราชการ ประธานองคมนตรี)








หม่อมเจ้านักขัตรมงคล
พ่อของพระราชินีก็ได้เป็นองคมนตรี






เช่นเดียวกับหม่อมเจ้าวิวัฒนไชย ไชยันต์ ( รัฐมนตรีคลัง ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย บิดาของมรว.กิติวัฒนา ไชยันต์ ปกมนตรี )
หม่อมเจ้าอลงกฎและหม่อมเจ้านักขัตสิ้นชีพในปี 2495 และ 2496ตามลำดับ






หม่อมหลวงเดช สนิทวงศ์ (ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย รัฐมนตรีเกษตร พานิชย์)







กับ
หลวงสุรณรงค์ (พลเอกหลวงเสนาณรงค์) เข้ามาเป็นองคมนตรีแทน




นับเป็นเป็นทีมงานที่เข้มแข็ง หม่อมเจ้าวิวัฒนไชย ไชยันต์เป็นนักการทูตและผู้เชี่ยวชาญการเงินชั้นนำของประเทศ มล.เดช สนิทวงศ์ก็เป็นนักการทูตและนักการเงินเช่นกัน เป็นญาติกับพระมารดาของพระราชินีสิริกิติ์คือ หม่อมหลวงบัว กิติยากร (สนิทวงศ์) ถือเป็นตัวแทนฝั่งพระราชินี และใกล้ชิดในหลวงภูมิพล หลวงสุรณรงค์ (พลเอกหลวงเสนาณรงค์) เป็นราชองครักษ์มาตั้งแต่ 2475 เป็นคนที่พระราชวงศ์ไว้ใจและเป็นตัวเชื่อมกับกองทัพ

ยังมีหม่อมเจ้านิกรเทวัญ เทวกุล (ลูกกรมพระยาเทววงศ์วโรปการ) เลขานุการคณะองคมนตรีและภายหลังเป็นเลขานุการส่วนพระองค์อีกด้วย หม่อมทวีวงศ์ ถวัลยศักดิ์ พ่อมดการเงินของวังเป็นผู้ดูแลกิจการทั้งหมดของวังและพระองค์เจ้าภานุพันธ์ยุคล (เสด็จองค์ชายใหญ่ คุณตาของพระองค์เจ้าโสมสวลี เจ้าของอัศวินภาพยนต์) เป็นนักธุรกิจที่ทรงอิทธิพลและเป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์เชิดชูเจ้าที่ได้รับความนิยม



ส่วนเครือข่ายเจ้าที่อยู่ภายนอกวังก็มีรัฐมนตรีต่างประเทศพระองค์เจ้าวรรณไวทยากร -กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ รัฐมนตรีต่างประเทศ นายกราชบัณฑิตยสถาน









ผู้กว้างขวางในแวดวงข้าราชการ
พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริแห่งกระทรวงเกษตร ผู้แต่งคำร้องเพลงพระราชนิพนธ์ 28เพลง








หม่อมเจ้าอาชวดิศ ดิศกุล
(โอรสกรมพระยาดำรงราชานุภาพ) ผู้ว่าการไฟฟ้าบางกอก ผู้ก่อตั้งสโมรไลอ้อน กรุงเทพ 2502 ในพระบรมราชูปถัมถ์ มรว.ศุขสม เกษมสันต์ กรรมการผู้จัดการการบินไทย และเจ้าอีกหลายคนที่เป็นข้าราชการระดับสูง




เครือข่ายเชื้อพระวงศ์จักรีมีความแข็งแกร่งในธุรกิจเช่นเดียวกัน หม่อมทวีวงศ์และพรรคพวกเป็นกรรมการและผู้ถือหุ้นที่ทรงอิทธิพลในธนาคารหลายแห่ง วรรณไวทยากร พระองค์เจ้าธานีนิวัติและพระยาศรีวิสารวาจาต่างเคยเป็นประธานสโมสรโรตารีกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นที่รวมนักธุรกิจชั้นนำทั้งไทยและต่างชาติ

ทั้งยังควบคุมสยามสมาคม (Siam Society) ซึ่งเชิดชูเจ้าผ่านการสนับสนุนการวิจัยทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์และกิจกรรมต่างๆ เจ้าหน้าที่วังมีตำแหน่งในสมาคมทางศาสนาหลายแห่ง หม่อมทวีวงศ์เป็นประธานสมาคมศิษย์เก่าอังกฤษ อันเป็นจุดเชื่อมโยงสำคัญสำหรับชนชั้นนำไทยและทุนต่างชาติ

เครือข่ายเหล่านี้ช่วยค้ำจุนพระเจ้าอยู่หัวภูมิพล แต่หลังจากพ่ายแพ้ในเรื่องรัฐธรรมนูญ ทีมเจ้าพยายามส่งในหลวงภูมิพลเสด็จเดินสายทั่วประเทศ เพื่อให้ประชาชนได้ชื่นชมเฝ้าชมพระบารมี แต่จอมพลป.ปฏิเสธความคิดนี้ด้วยเหตุผลว่าเกรงจะเป็นอันตราย และตัดงบประมาณของวัง ในขณะที่จอมพลป.กลับออกเดินสายชนบทเอง ราชสำนักต้องหันกลับมายังกิจกรรมสังคมและพิธีกรรมอย่างเดิม แค่หกเดือนแรกในกรุงเทพฯแสดงให้เห็นว่าได้ส่งผลมากมายมหาศาลแล้ว

บทบาทของพระมหากษัตริย์ในฐานะผู้ผดุงความยุติธรรม ได้รับการสถาปนาด้วยการปรากฏพระองค์ในศาล หนึ่งในสองคดีที่พระองค์ทรงพิพากษาเป็นคดีที่ชายคนหนึ่งขโมยเครื่องโม่แป้งเล็กๆ เขาสารภาพผิดและรับโทษจำคุกสามเดือน พระเจ้าอยู่หัวผู้ลึกซึ้ง และทรงพระมหากรุณาธิคุณทรงเสนอให้รอลงอาญา โดยตรัสว่าชายคนนั้นสำนึกผิดแล้ว

ในคดีที่สอง ทหารเรือหลายนาย ได้ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายในอุบัติเหตุรถยนต์จากเชื้อพระวงศ์รายหนึ่ง ด้วยการแนะนำของพระเจ้าอยู่หัวภูมิพล ทำให้เจ้ารายนั้นยอมรับผิด ในขณะที่ทหารเรือก็แสดงความใจบุญ ด้วยการบริจาคเงินค่าเสียหายให้แก่โรงพยาบาลกองทัพเรือ

พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลยังทรงเป็นประมุขแห่งรัฐผ่านทางพระราชพิธีต่างๆ เมื่อทรงโปรดให้คณะรัฐมนตรีชุดใหม่ของจอมพลป.เข้าเฝ้า รัฐมนตรีต้องถวายความเคารพอย่างสูงสุดต่อพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลด้วยการหมอบกราบ เช่นเดียวกับการเข้าเฝ้าของข้าราชการและหน่วยงานต่างๆ ปลายเดือนมีนาคม 2495 ทรงเป็นประธานในพิธีฉลองวันกองทัพอากาศไทย วันถัดมาทรงเสด็จเยือนกระทรวงมหาดไทย ระหว่างงานพระราชพิธีเกิดไฟฟ้าดับ มีข้าราชการระดับสูงยื่นหนังสือลาออก โทษฐานทำให้เป็นที่ระคายเคืองเบื้องยุคลบาทแต่ทรงปฏิเสธหนังสือลาออก โดยไม่ถือโทษ ซึ่งนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้น หาที่เปรียบมิได้



เดือนเมษายนและพฤษภาคม 2495 มีพระราชพิธีฉลองวันจักรี วันครบรอบวันอภิเษกสมรส และ
วันฉัตรมงคล (วันราชาภิเษก) ซึ่งทรงเป็นประธานในพระราชพิธีแต่งตั้งองคมนตรีและทรงมอบเครื่องราชอิสริยาภรณ์และประดับยศแก่เชื้อพระวงศ์ที่รับใช้ราชบัลลังก์




สองวันจากนั้น ทรงประกอบพิธีพืชมงคลในพระบรมมหาราชวัง เมล็ดข้าวที่ทรงปลุกเสกถูกนำไปใช้ในพิธีแรกนาขวัญ






งานโฆษณาสร้างภาพลักษณ์ของพระมหากษัตริย์มีมากขึ้นเมื่อเสด็จกลับจากหัวหินในกลางเดือนมิถุนายน 2495 ทรงแวะเยี่ยม
นมัสการพระปฐมเจดีย์ เปิดโอกาสให้พสกนิกรได้เข้าชมพระบารมี






ทรงโปรดให้เจ้าหน้าที่รัฐบาล นักการทูตและข้าราชการต่างจังหวัดที่มาร่วมงานสัมมนาในกรุงเทพฯ เข้าเฝ้า เสด็จพระราชทานปริญญาบัตร แก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง 24 มิถุนายน 2495 เป็นวันชาติ และครบรอบยี่สิบปีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ทรงเสด็จเปิดสมัยประชุมสภา เพื่อยืนยันความเป็นองค์พระประมุขของชาติ

ทรงรับฟังรายงานจากรัฐมนตรีและข้าราชการระดับสูง ทรงมีพระราชปฏิสันถานกับนักการทูตต่างชาติ ทหาร นักลงทุน ตลอดจนรองประธานาธิบดีสหรัฐ นายริชาร์ด นิกสัน นักอุตสาหกรรมชาวเยอรมันอัลเฟรด ครัปป์ Alfred Kruppเจ้าพ่ออุตสาหกรรมเหล็กเยอรมัน เชื้อพระวงศ์เบลเยียมและอังกฤษ

และสมเด็จพระนโรดมสีหนุ ใครๆก็นึกว่าสมเด็จพระสีหนุกับพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลน่าจะเป็นพระสหายที่ถูกคอ เนื่องจากทั้งสองพระองค์ตรัสภาษาฝรั่งเศส อยู่ในวัยเดียวกันและมีพระสถานะใกล้เคียงกัน แต่ในหลวงภูมิพลทรงเห็นว่าสมเด็จสีหนุท่านน่ารำคาญ เพราะในปี 2497 สมเด็จสีหนุทรงยืมแซ็กโซโฟนทองคำไปและไม่ยอมคืนให้ในหลวง

กษัตริย์ภูมิพลได้ทรงเห็นช่องทาง และผลประโยชน์ของการเมืองภายในประเทศและระดับโลก ได้มีโอกาสได้ฝึกฝนการแสดงความเห็นที่มีลีลาเฉพาะของพระองค์ ทรงเริ่มวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลต่อแขกเหรื่อบางกลุ่ม ทรงกล่าวถึงจอมพลป.และเหล่าขุนทหารด้วยถ้อยคำหมิ่นแคลน โดยทรงเรียกว่าคนพวกนั้น

ราชสำนักได้จัดตารางงานพระราชพิธีอย่างต่อเนื่อง โดยต้นปี 2495 ทรงเริ่มพบสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ และพระอาวุโสเป็นประจำ สร้างความเชื่อมโยงกับวัดบวรนิเวศ อันเป็นวัดประจำราชวงศ์จักรีที่มีสมเด็จพระสังฆราชวชิรญูาณวงศ์เป็นเจ้าอาวาส เพื่อหนุนเสริมความศักดิ์สิทธิ์สูงส่งของพระองค์ ทรงเป็นประธานพระราชพิธีเจิมเทียนพรรษาในเดือนมิถุนายน สำหรับจ่ายแจกไปยังวัดต่างๆ ทั่วประเทศ วันที่ 7 กรกฎาคม 2495 ทรงประกอบพระราชพิธีวันเข้าพรรษาที่วัดหลวงสามแห่ง ปลายเดือนตุลาคม ทรงมีพระราชพิธีทอดกฐินออกพรรษา

กิจกรรมสำคัญที่ทีมงานเจ้าให้พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลต้องทำให้ได้ คืองานการกุศล ตั้งแต่สัปดาห์แรกๆ ที่เสด็จกลับถึงประเทศไทย พระราชวงศ์ ต่างทรงบริจาคทุนการศึกษา บริจาคเงินให้วัด โรงพยาบาล และโรงเรียนอยู่เป็นประจำ ในปี 2496 จำนวน 36,000 บาทสำหรับโรงเรียนในภาคเหนือ และตู้เย็นขนาดใหญ่สองตู้สำหรับโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ เพื่อเป็นเกียรติแก่หม่อมเจ้านักขัตรที่สิ้นพระชนม์ไป เวลาเกิดภัยพิบัติ เช่น ไฟไหม้หรือน้ำท่วม พระราชวงศ์ก็จะทรงบริจาคเงินช่วยเหลือ

ปลายปี 2495 ได้พระราชทานเครื่องช่วยหายใจสามเครื่อง และเงิน 1.5 ล้านบาทแก่โรงพยาบาลศิริราช เพื่อก่อตั้งโรงเรียนพยาบาลภายใต้พระบรมราชูปถัมถ์ การดูแลสุขภาพของประชาชนนี้เป็นเรื่องที่ประทับใจประชาชนทุกคนเป็นอย่างมาก และไม่ว่ารัฐบาลจะทุ่มเทไปมากเพียงใด แต่พระราชวงศ์ก็จะถูกมองว่าได้ทรงปฏิบัติมากกว่ารัฐบาล

การบริจาคของพระราชวงศ์ส่วนใหญ่ กระทำไปในนามสมเด็จพระราชบิดาเจ้าฟ้ามหิดล ที่ได้รับการถวายพระเกียรติให้เป็นพระบิดาแห่งการแพทย์สมัยใหม่ของไทย พระราชกรณียกิจเหล่านี้เป็นแบบแผนปฏิบัติการตลอดพระชนมชีพที่เหลือของพระเจ้าอยู่หัวภูมิพล ตอนเริ่มแรกงานพระราชพิธีต่างๆ มีอยู่ประมาณ 150 ครั้งต่อปี แต่ละครั้งก็จะสร้างภาพประทับถึงพระบุญญาธิการบารมี ที่จอมพลป.และเหล่าขุนทหารหมดปัญญาแย่งบทบาทนี้ แต่พวกเขากลับต้องแสดงความจงรักภักดีเนื่องในวโรกาสทั้งหลายนี้

ที่จริงพระเจ้าอยู่หัวภูมิพล และสมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ทรงเป็นที่นิยมอยู่แล้ว โดยที่ไม่จำเป็นต้องใช้พยายามอะไรอีกเลย เพราะในหลวงภูมิพลทรงฉลาด หน้าตาดี มีสง่าราศี ส่วนสมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ก็ทรงเป็นคู่ที่เหมาะสม ทรงยิ้มแย้มเบิกบาน มีพระจริตทางสังคมโดยธรรมชาติ รอยยิ้ม ท่าทางและรสนิยมแฟชั่นทำให้พระราชินีทรงกลายเป็นแบบอย่างสำหรับผู้หญิงไทยโดยทันที ทั้งสองพระองค์ทรงนำเสน่ห์ของสถาบันกษัตริย์ให้คนไทยรุ่นใหม่ได้รู้จัก ซึ่งทั้งสองพระองค์ไม่เคยเป็นพระมหากษัตริย์ และพระราชินีมาก่อน

และประชาชนส่วนใหญ่ก็ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นเมื่อปี 2475 และต่างก็รังเกียจบรรดาขุนทหารและนักการเมืองที่ฉ้อฉล สำหรับประชาชนไทยแล้ว ในหลวงภูมิพลและพระราชินีสิริกิติ์ทรงมีความสดใสและน่าดึงดูด มีสำนึกของวัฒนธรรมไทย คล้ายๆ ชาวยุโรปกับครอบครัวกษัตริย์ที่ฟู่ฟ่าและนำแฟชั่น ชนชั้นกลางของไทยในเมืองก็แสวงหาโอกาส จะได้พบเห็นพระราชวงศ์ตัวจริงและเข้าร่วมงานพระราชพิธีต่างๆ พวกเขาจะยืนตรงถวายความเคารพเวลาเพลงสรรเสริญพระบารมีบรรเลงในโรงภาพยนตร์

เบื้องหลังการโฆษณาสร้างภาพ คือ การวางแผนสนับสนุนอย่างชาญฉลาดของราชสำนัก หนังสือพิมพ์และนิตยสารถูกป้อนด้วยพระบรมฉายาลักษณ์ของพระราชวงศ์ตามงานลีลาศ ที่เป็นทางการและงานเลี้ยงต่างๆ ทรงใช้เวลาวันหยุดกับพระโอรส ทรงจัดงานเลี้ยงฉลองงานวันพระราชสมภพ พวกเขาตีพิมพ์ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ในหลวงภูมิพล ที่เป็นภาพของราชวงศ์ระหว่างทรงออกงาน และทรงพักผ่อนพระอริยาบท ภาพยนตร์ส่วนพระองค์ก็ปรากฏอยู่ในภาพยนต์ข่าวตามโรงหนัง ปลายปี 2495 หนังความยาว 90 นาทีที่ตัดต่อจากภาพยนต์ส่วนพระองค์ ถูกนำออกฉายทั่วประเทศ เป็นการเบี่ยงเบนความสนใจจากการเมืองที่น่าเบื่อ




ปี 2497
มรว.คึกฤทธิ์ ปราโมชเปิดตัวหนังสือพิมพ์สยามรัฐ มุ่งตลาดคนมีการศึกษา รายงานข่าวและบทความล้วนสอดแทรกด้วยความคิดของปัญญาชนนิยมกษัตริย์ และโจมตีคู่แข่งของพระมหากษัตริย์ โดยเฉพาะจอมพล ป.



ต้นทศวรรษที่ 2493 ในหลวงทรงใช้เวลาว่างส่วนใหญ่ไปกับเรื่องดนตรี โดยได้รับการเผยแพร่สนับสนุนเป็นพิเศษ ทรงพระราชนิพนธ์เพลงสำหรับบรรเลงในคอนเสิร์ตและงานการกุศล โดยได้รับการออกอากาศถี่ยิบ ถือเป็นส่วนหนึ่งของการโฆษณาชวนเชื่อยุคสงครามเย็น

ในปี 2495 รัฐบาลรู้ว่าในหลวงภูมิพลทรงโปรดรายการวิทยุ จึงได้ถวายเครื่องส่งวิทยุแรงสูงเครื่องหนึ่ง โดยทรงเริ่มสถานีวิทยุส่วนพระองค์ คือวิทยุ อ.ส.(พระที่นั่งอัมพรสถาน) ออกอากาศเรื่องราววัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ราชสำนัก และดนตรีที่ได้รับความนิยม ในหลวงภูมิพลทรงดำเนินรายการและเป็นดีเจเปิดเพลงพระราชนิพนธ์สัปดาห์ละหนึ่งครั้ง วงดนตรีนี้ได้กลายเป็นงานอดิเรกที่ยืนยาวที่สุดของในหลวงภูมิพล

วันที่ 28 กรกฎาคม 2495 พระราชินีสิริกิติ์ทรงพระประสูติพระราชโอรส ทรงพระนามวชิราลงกรณ์ เป็นการถือกำเนิดเจ้าฟ้าพระองค์แรก นับแต่รัชสมัยของรัชกาลที่ 5 วงดุริยางค์ของกองทัพภายนอกพระราชวังบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี ปืนใหญ่ยิงสลุต และประชาชนนับพันที่เฝ้ารอมาทั้งวันต่างพากันส่งเสียงไชโยโห่ร้อง สัปดาห์ต่อๆ มา หนังสือพิมพ์และนิตยสาร ต่างตีพิมพ์พระบรมฉายาลักษณ์รัชทายาทราชวงศ์จักรี ที่พระเจ้าอยู่หัวทรงถ่ายเอง

รัฐบาลของคณะทหารประกาศ ให้วันเฉลิมพระชนมพรรษาของทั้งในหลวง และพระราชินีเป็นวันหยุด กองทัพได้กราบบังคมทูลเชิญเสด็จเป็นประธานในงานพิธีต่างๆ รวมทั้งการจบการศึกษาของนักเรียนนายร้อยและการเลื่อนยศของทหารตำรวจระดับสูง ปลายปี 2495 รัฐบาลยินยอมให้ราชสำนักควบคุมองครักษ์ของวังโดยตรง ทรงเสด็จประดับยศ ให้แก่หน่วยทหารและตำรวจหลายครั้ง เป็นพระราชภารกิจที่ผูกโยงกองทัพกับราชบัลลังก์

ที่จริง ขุนทหารไม่ได้ต้องการเป็นปฏิปักษ์ต่อพระมหากษัตริย์ขวัญใจประชาชน ที่เป็นส่วนสำคัญในสงครามต่อต้านคอมมิวนิสต์ และได้รับการเชิดชูจากสหรัฐฯ ซีไอเอ และหน่วยข่าวของสหรัฐจ่ายแจกใบปลิว แผ่นพับภาษาไทย



ประกาศว่า คอมมิวนิสต์เป็นภัยทุกทางต่อชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ โดยปั้นเรื่องเกินจริงด้วยการทำเอกสารปลอมภาษาไทย ที่มีเนื้อหาโจมตีกษัตริย์โดยอ้างว่าเป็นของคอมมิวนิสต์ สหรัฐฯผลิตทั้งภาพ หนังสือและภาพยนตร์โดยในปี 2499 สำนักข่าวสารอเมริกัน (USIS) มีหน่วยเคลื่อนที่ 8 ชุดตระเวนฉายหนังและแสดงดนตรี เปรียบเทียบกษัตริย์และราชินีกับปีศาจคอมมิวนิสต์ ขณะที่คอมมิวนิสต์ยังดูเลื่อนลอยแต่สถาบันพระมหากษัตริย์กลับดูเป็นจริงมากขึ้น

ทางวังได้ตอบแทนด้วยการเสนอมิตรภาพแต่พอควรแก่พล.ต.อ.เผ่า จอมพลผิน และพลเอกสฤษดิ์ โดยที่พระราชวงศ์ต้องการใช้ประโยชน์จากการขับเคี่ยวกันเองในหมู่ขุนศึก และปกป้องตนเองถ้าขุนศึกคนใดช่วงชิงอำนาจได้สำเร็จ พวกขุนศึกได้รับเชิญเข้าร่วมงานพระราชพิธีในราชสำนัก และบางครั้งได้มีโอกาสร่วมเสวยพระกระยาหารกับราชวงศ์

ในปี 2496 พวกขุนศึกได้รับพระราชทานเครื่องราชย์ ทำให้ดูประหนึ่งว่าเป็นที่โปรดปราน มีสายสัมพันธ์ทางธุรกิจที่หม่อมทวีวงศ์นำเงินของวังมาร่วมลงทุนกับเหล่าขุนทหาร ที่ผูกขาดธุรกิจหลายอย่าง ทั้งที่ถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย ทางวังพยายามผูกมิตรกับพล.ต.อ.เผ่ามากเป็นพิเศษ โดยในหลวงทรงเป็นประธานในพิธีสำคัญๆ ของตำรวจ พระราชทานยศพิเศษและเครื่องราชย์แก่พล.ต.อ.เผ่า กับนายพลตำรวจอื่นๆ รวมทั้งเลื่อนยศนายตำรวจระดับสูง และยังทรงเสด็จไปเป็นประธานในพิธีที่พล.ต.อ.เผ่า มอบแหวนอัศวินแก่ลูกน้องตำรวจของตนเอง ซึ่งเป็นพวกมาเฟียที่ดูแลการค้ายาเสพติด และเรียกค่าคุ้มครองให้พล.ต.อ.เผ่านั่นเอง

ความสัมพันธ์หลัก คือตำรวจตระเวนชายแดน ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากซีไอเอ เพื่อปฏิบัติการต่อต้านคอมมิวนิสต์ โดยได้รับการฝึกฝนและติดอาวุธเหนือกว่ากองทัพด้วยซ้ำ ศูนย์ฝึก (ค่ายนเรศวร) อยู่ใกล้วังไกลกังวลที่หัวหิน ในหลวงภูมิพลทรงใช้สนามบินของ ตชด. และตชด. ก็ทำหน้าที่อารักขาระหว่างที่ประทับอยู่หัวหิน ความสัมพันธ์จึงงอกงามเป็นพิเศษ

ในหลวงภูมิพลมักจะเสด็จเยือนค่ายตชด.เป็นประจำ ทรงเล่นกีฬาและยิงปืนร่วมกับพวกตชด. และในปี 2497 เมื่อ ตชด. เริ่มจัดตั้งอาสาสมัครป้องกัน จำนวน 120,000 คนทั่วประเทศ ก็ได้ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์ และพระราชทานธงประจำหน่วย ความสัมพันธ์พิเศษระหว่างวังกับตชด.นี้ ได้รับการสนับสนุนจากทั้งพล.ต.อ.เผ่าและซีไอเอ ตชด.ถือว่าพวกตนมีภารกิจพิเศษ ในการปกป้องชาติและพระมหากษัตริย์

โดยความสัมพันธ์ยึดมั่นแบบนี้ไม่เกี่ยวโยงกับพล.ต.อ.เผ่า และสามารถสืบต่อไปได้โดยไม่ต้องมีพล.ต.อ.เผ่า หรือหากพล.ต.อ.เผ่าจะกระด้างกระเดื่องขึ้นมา ก็คงไม่มีความหมายอะไร พล.ต.อ.เผ่าเองก็ดูจะพึงพอใจกับท่าทีที่ให้ความสนพระทัยของในหลวงภูมิพล โดยบอกกับนักการทูตว่าทางวังโปรดปรานตนขณะที่เกลียดชังจอมพลป.

พล.ต.อ.เผ่า ได้สร้างความดีความชอบแก่วัง และอาจจะเป็นครั้งสำคัญที่สุด นั่นคือเขาปิดฉากคดีสวรรคตรัชกาลที่ 8 แม้จะไม่แนบเนียนนักแต่ก็ต้องหาทางให้จบสิ้นให้ได้

ที่จริงคดีสวรรคตนี้ ได้เน่าคาศาลไปตั้งนานแล้ว เป็นหนามยอกอกสำหรับวงการเมืองและพระราชวงศ์เรื่อยมา การสืบสวนและไต่สวนครั้งแล้วครั้งเล่ายังคงหาเรื่องเล่นงานนายปรีดี และเรือเอกวัชรชัยที่ลี้ภัยอยู่ต่างประเทศ กับชายสามคนที่ถูกจับตั้งแต่ 2490 ทั้งๆ ที่แทบไม่มีหลักฐานอะไรเลย ศาลชั้นต้นไม่ยอมพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสาม จึงตกเป็นภาระของพล.ต.อ.เผ่าที่ต้องคอยผลักดัน

จนกระทั่งในเดือนตุลาคม 2497 ศาลฎีกาจึงตัดสินว่านายชิต สิงหเสนี นายบุศย์ ปัทมศรินทร์และนายเฉลียว ปทุมรสมีความผิดให้ลงโทษประหารชีวิต มีแต่พระเจ้าอยู่หัวเท่านั้นที่มีพระราชอำนาจระงับการประหาร แต่สี่เดือนผ่านไปพร้อมกับความเงียบจากราชสำนัก ขณะที่จอมพล ป.อยู่ต่างประเทศ พอวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2498 พล.ต.อ.เผ่าก็จัดการประหารชีวิตทั้งสามคนอย่างเงียบๆ ด้วยการยิงเป้า

สี่สิบปีต่อมา พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลจะทรงตรัสในทำนองว่า การประหารเป็นไปอย่างปุบปับ โดยที่พระองค์ทรงกำลังพิจารณาลดหย่อนผ่อนโทษอยู่ แต่สี่เดือนแห่งความเงียบเฉยนี้ไม่ได้สนับสนุนคำอ้างของในหลวงภูมิพลแม้แต่น้อย

สิ่งที่แสดงให้เห็นว่ามีการเตรียมประหารชีวิตมานานแล้ว คือ การที่พระราชชนนีศรีสังวาลย์เริ่มเรียนวิปัสสนาสองวันก่อนการประหาร พระชนนีทรงกักพระองค์เองอยู่แต่ในวังสระปทุมเป็นเวลาหนึ่งเดือน


จะทรงออกมาก็แต่เพื่อพบอาจารย์สอนวิปัสสนากรรมฐานคือ พระเทพสิทธิมุนีที่วัดมหาธาตุเท่านั้น การที่จู่ๆ พระชนนีศรีสังวาลย์ต้องการฝึกสมาธินี้ ได้รับคำอธิบายในภายหลังว่า เกิดจากปัญหาการนอนไม่หลับ แต่ดูจากจังหวะเวลาแล้วคงเป็นได้ว่า พระชนนีต้องการชำระจิตใจในช่วงที่มีการประหารชีวิตผู้บริสุทธิ์ ในคดีสวรรคต

พล.ต.อ.เผ่าช่วยจัดการปิดคดี หากในหลวงภูมิพลเข้ามาแทรกแซงเพื่อทรงช่วยผู้บริสุทธิ์ ประชาชนก็คงจะเกิดคำถามว่า ถ้าไม่ใช่สามคนนั้น แล้วใครล่ะที่ปลงพระชนม์ ถึงตอนนี้คงมีแต่พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลเท่านั้นที่คงต้องตอบคำถามนี้ เฉพาะให้กับตัวของพระองค์เองเท่านั้น


...ขุนศึกขุนทหารได้ช่วยกำจัดพยานปากสำคัญ ที่มีผลให้พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลพ้นจากข้อกล่าวหา และเป็นการปิดคดีสวรรคต แต่พระองค์ยังทรงอ้างว่ามีพระประสงค์จะอภัยโทษแก่ผู้บริสุทธิ์ ทั้งๆที่น่าจะทรงทราบมาโดยตลอด ว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร และใครคือผู้ต้องสงสัยตัวจริง........

ไม่มีความคิดเห็น: